จากกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์กันอย่างแพร่หลายในฝ่ายอนุรักษ์นิยม กลุ่มขวาสุดโต่ง ถึงการที่สหรัฐอเมริกาจะมาตั้งฐานทัพในไทย โดยมีทั้งนักวิชาการ ผู้มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ ก็เข้ามาร่วมปั่นเฟคนิวส์ที่ไร้หลักฐานที่มาที่ไป ติดแฮชแทค #ทาสอเมริกา กันอย่างครื้นเครง
หากจะกล่าวถึง “ฐานทัพอเมริกา” อย่างตรงประเด็น การกล่าวอ้างว่า ไทยมีความสำคัญกับสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมากมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็นและยังคงสำคัญมาจนกระทั่งปัจจุบัน โดยระบุว่า สถานทูตสหรัฐฯ ในไทยมีความสำคัญและมีขนาดใหญ่โต มีเจ้าหน้าที่มากมายถึงขั้น “มีอำนาจควบคุมเอเชียตะวันออกทั้งหมดรวมถึงจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกงด้วย จะเป็นรองก็แค่สถานทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์เท่านั้น” ล้วนเป็นเฟคนิวส์ที่เลื่อนลอยอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะเหตุใด? มาดูข้อเท็จจริงกัน
ข้อเท็จจริง 1.สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก เป็นสถานทูตที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีขนาดใหญ่เกือบเท่านครวาติกัน (เนื้อที่ 104 เอเคอร์) แน่นอนว่าย่อมมีเจ้าหน้าที่ประจำการมากมายหลายพันคน ไม่ใช่ที่ไคโร ประเทศอียิปต์ ที่มีเนื้อที่น้อยกว่ากันมาก ส่วนอันดับสองคือ สถานทูตสหรัฐฯ ในเยเรวาน และอันดับสามคือ สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงปักกิ่ง ส่วนสถานทูตสหรัฐฯ ในไทย มีขนาดใหญ่มาเป็นอันดับสี่ 2.ขนาดของสถานทูตไม่ได้สัมพันธ์กับเรื่องของอำนาจการควบคุม สถานทูตสหรัฐฯ ในไทยจึงไม่ได้มีความสำคัญถึงขั้นมีอำนาจควบคุมเอเชียตะวันออกทั้งหมด ไม่ว่าจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ตามที่มีการกล่าวอ้าง
เหตุผลที่เห็นได้ชัดไม่ซับซ้อนก็เนื่องมาจากประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่นล้วนเป็นมหาอำนาจที่มีทั้งขนาดประเทศ กำลังคน และความเจริญทางด้านต่างๆ เหนือกว่าไทยมากนัก สถานทูตในแต่ละประเทศจึงมีอำนาจในขอบเขตและขอบข่ายเฉพาะในประเทศที่สถานทูตตั้งอยู่ แต่ที่สำคัญกว่าก็คือ ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีฐานทัพอเมริกาตั้งอยู่มากที่สุดในเอเชีย นี่จึงเป็นที่มาของข้อเท็จจริงแบบไม่ต้องเสริมจินตนาการ หากจะกล่าวถึงความสำคัญของฐานทัพที่มีอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านใกล้ๆ ไทย ก็ยิ่งพูดได้ว่า ลืมข่าวขายขำนี้ไปได้เลย!
- เหตุใดสหรัฐอเมริกาจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องมาตั้งฐานทัพในไทย
จากฐานข้อมูล militarybases-com ระบุว่า มีฐานทัพอเมริกากระจายอยู่ทั่วโลกทั้งหมด 750 แห่ง ทั้งในสหรัฐฯ และในต่างประเทศ ฐานทัพเหล่านี้แบ่งออกเป็นหลายประเภท ทั้งฐานทัพอากาศ ฐานทัพเรือ ฐานทัพบก และฐานทัพสังกัดหน่วยต่างๆ เช่น หน่วยนาวิกโยธิน และหน่วยที่ใช้เพื่อฝึกอบรมทหารและฝึกปฏิบัติการอื่นๆ ด้วย สำหรับ ฐานทัพอเมริกาในเอเชีย มีดังนี้
- ญี่ปุ่น: สหรัฐฯ ได้เข้าไปตั้งฐานทัพในญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมีฐานทัพตั้งอยู่ทั้งหมด 21 แห่ง ซึ่งถือว่ามากที่สุดในเอเชีย ฐานทัพสหรัฐฯส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองโอกินาวา โดยรวมแล้วฐานทัพมีขนาดใหญ่ถึง 28,000 เฮคเตอร์ แต่ปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นได้ดำเนินการส่งคืนที่ดินเพื่อให้ประชากรในท้องถิ่นได้มีที่ทำกิน ทำให้มีขนาดเหลือ 18,000 เฮคเตอร์ ความสำคัญของฐานทัพที่โอกินาวา คือ กองบินที่ 18 “ฐานทัพอากาศคาเดนะ” เป็นฐานปฏิบัติการทางทหารที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นกองบินต่อสู้ทางอากาศที่ใหญ่ที่สุดในกองทัพอากาศ มีสมญานามว่า “หลักศิลาแห่งมหาสมุทรแปซิฟิก” เนื่องจากมีภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพราะอยู่ในยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมถึงคาบสมุทรเกาหลีและอ่าวไต้หวัน
- เกาหลีใต้: ปัจจุบันนี้มีทหารอเมริกันประจำการในเกาหลีใต้ราว 28,500 นาย วัตถุประสงค์หลักคือ การป้องปรามภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ การมีฐานทัพอเมริกาในเกาหลีใต้จึงเป็นข้อตกลงร่วมของพันธมิตรทั้งสองที่ทำสัญญากันขึ้นมา โดยกำหนดว่าเกาหลีใต้ต้องจ่ายเงินประมาณ 924 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท) สำหรับการมีบทบาทของสหรัฐฯ ในการเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้เกาหลีใต้ โดยมีฐานทัพสำคัญ 2 แห่ง คือ ฐานทัพบกยองซอน (Camp Humphreys) และฐานทัพอากาศอูซาน (USAF Osan) ทั้งสองฐานนี้เป็นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งคือ ฐานทัพยองซอนหรือที่เรียกกันว่าค่าย Humphreys ปัจจุบันถือเป็นฐานทัพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีพื้นที่กว่า 1,398 เฮคเตอร์ ตั้งอยู่ทางใต้ของกรุงโซล มีอาคารที่อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตกว่า 500 หลัง มีความพร้อมสนับสนุนทางอากาศด้วยรันเวย์ที่ยาวถึง 2,476 เมตรxv ทำให้รันเวย์ในฐานทัพนี้เป็นหนึ่งในรันเวย์ที่ถูกใช้งานมากที่สุด และยังพร้อมสำหรับการสนับสนุนการรบในหลายรูปแบบด้วย
- ไต้หวัน: เป็นที่รู้กันดีว่าจีนกับไต้หวันไม่กินเส้นกันอย่างแรง โดยเฉพาะข้อพิพาทจากนโยบาย “จีนเดียว” ของจีน ทำให้ไต้หวันยุคปัจจุบันยิ่งแข็งขืนยอมรับไม่ได้ แต่หากย้อนไปไต้หวันในอดีตเคยมีฐานทัพสหรัฐฯ อยู่สองแห่งเป็นฐานทัพเรือและฐานทัพอากาศ ในปีพ.ศ.2497 สหรัฐได้ลงนามในสนธิสัญญาป้องกันร่วมกับไต้หวัน หลังการปะทะที่บานปลายบริเวณเกาะเล็กๆ ในช่องแคบระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน หลังจากนั้นในปีต่อมาสหรัฐฯจึงผ่านมติฟอร์โมซ่า(ชื่อเรียกเดิมของไต้หวัน) ให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีไฮเซนฮาวร์ในการปกป้องไต้หวันและหมู่เกาะนอกชายฝั่ง โดยมีฐานบัญชาการป้องกันไต้หวันของสหรัฐฯ ตั้งขึ้นในเมืองหลวงไทเป ในปี 2498 จากนั้นสามปีต่อมาหลังการรุกรานของจีนคอมมิวนิสต์ นายพลไฮเซนฮาวร์จึงส่งกองทัพเรือ และเครื่องบินขับไล่ไอพ่น F-86 ที่ถูกดัดแปลงยิงขีปนาวุธใส่เครื่องบินจีนที่สร้างโดยโซเวียตได้เป็นจำนวนมาก
หลังจากนั้นจำนวนทหารในกองบัญชาการป้องกันไต้หวันของสหรัฐฯที่ประจำการบนเกาะไต้หวันจึงค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็น 30,000 นาย ตั้งแต่ปี 2511 ถึง 2512 โดยประจำการอยู่ที่สถานีอากาศไทเป สถานีอากาศชู ลิงกู ฐานทัพเรือทอยซิง ฐานทัพอากาศไถ้หนาน และกองทัพเรือที่ท่าเรือเกาสง ในปีพ.ศ.2513 สหรัฐฯจึงค่อยๆ ลดกำลังพลลงหลังจากการรุกรานจากจีนสงบลง เหลือทหารอเมริกันในไต้หวันเพียง 10,000 นาย และในปีพ.ศ.2522 จึงถอนกองกำลังทหารสหรัฐฯทั้งหมดออกจากไต้หวันในสมัยประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์ โดยสหรัฐฯยกเลิกสนธิสัญญาป้องกันไต้หวัน เป็นการขายอาวุธให้ไต้หวันแทน และในปัจจุบัน ประธานาธิบดีไช่ อิง-เหวิน ของไต้หวัน ได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐอเมริกา เพราะตระหนักดีว่านี่คือพันธมิตรที่ทรงอิทธิพลที่สุด ที่จะทัดทานความอหังการ์จากจีนได้
- ฟิลิปปินส์: เคยมีฐานทัพอเมริกาอยู่สองแห่งคือ ฐานทัพเรืออ่าวซูบิค และฐานทัพอากาศคลาร์ค แอร์ ซึ่งปัจจุบันสหรัฐฯได้ถอนทัพออกไปแล้ว หลังสิ้นสุดสงครามเย็น ราว 30 ปีก่อน เช่นเดียวกับที่สหรัฐฯได้ถอนฐานทัพที่ประจำการในภูมิภาคนี้ออกไปหลายฐาน เช่นที่ฐานทัพเรืออู่ตะเภาของไทย แต่ยังคงมีการซ้อมรบร่วมกันเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอทุกปี เพื่อแสดงถึงการเป็นพันธมิตรระหว่างกัน อย่างไรก็ตามในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา อิทธิพลของจีนได้แผ่เข้ามายังภูมิภาคนี้มากขึ้น ทำให้มีการรื้อฟื้นข้อตกลงในการตั้งฐานทัพสหรัฐฯขึ้น โดยเมื่อเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์ ได้อนุญาตให้กองทัพสหรัฐฯ เข้าถึงพื้นที่เพื่อใช้เป็นฐานทัพ 4 แห่ง ภายใต้การขยายข้อตกลงด้านกลาโหมระหว่างสหรัฐฯ กับ ฟิลิปปินส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก โดยฐานทัพแห่งใหม่ของสหรัฐฯในฟิลิปปินส์ ได้แก่ ฐานทัพคามิโล โอเซียส ตั้งอยู่ที่เมืองซันตา อนา และ สนามบิน “ไล-โล” ตั้งอยู่ในจังหวัดคากายัน ทางเหนือสุดของเกาะลูซอน ซึ่งอยู่ใกล้กับเกาะไต้หวันมากที่สุด ฐานทัพเมลชอร์ เดอลา ครูซ ที่เมืองกามู ในจังหวัดอีซาเบลา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะลูซอน และฐานทัพบาลาบัก บนเกาะปาลาวัน ซึ่งอยู่ใกล้กับทะเลจีนใต้ น่านน้ำการขยายอิทธิพลของจีน ที่มีกรณีพิพาทกันมายาวนานในสิทธิการครอบครองหมู่เกาะสแปรตลีย์ส อันเป็นหนึ่งในพื้นที่พิพาททางยุทธศาสตร์ของทะเลจีนใต้ ซึ่งสหรัฐได้ทำข้อตกลงอีดีซีเอกับฟิลิปปินส์ในการให้ความช่วยเหลือด้านกลาโหม
- สิงคโปร์: เมื่อปีพ.ศ.2562 สิงคโปร์ได้ลงนามขยายเวลาให้กองทัพสหรัฐเช่าฐานทัพในประเทศได้อีก 15 ปี โดยนายกรัฐมนตรีลีเซียนลุง ของสิงคโปร์ ได้ลงนามร่วมกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ในบันทึกข้อตกลงร่วมกันที่สิงคโปร์อนุญาตให้สหรัฐต่อสัญญาการใช้ทรัพยากรต่างๆ ของกองทัพสหรัฐในสิงคโปร์ ข้อตกลงดังกล่าวนี้มีขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2533 แล้ว โดยครั้งนั้นเป็นการลงนามร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีลีกวนยู กับรองประธานาธิบดีแดน เควล ซึ่งอนุญาตให้กองทัพสหรัฐสามารถเข้าถึงและใช้ทรัพยากรต่างของฐานทัพอากาศ และฐานทัพเรือของสิงคโปร์ได้ รวมถึงการสนับสนุนภารกิจด้านโลจิสติก ที่ผ่านมากองทัพสหรัฐได้เช่าฐานทัพในสิงคโปร์มาเป็นเวลาเกือบ 30 ปีแล้ว ซึ่งหมายถึงความมั่นคงในภูมิภาคนี้ หลายปีที่ผ่านมาสหรัฐได้ใช้ฐานทัพในสิงคโปร์เป็นจุดแวะพักเติมเชื้อเพลิง รวมถึงบำรุงรักษาอากาศยาน และยุทโธปกรณ์ต่างๆ ต่อมาในระหว่างปี 2013-2015 สหรัฐฯได้เพิ่มเรือประจัญบานและเครื่องบินรบเข้าประจำการในภูมิภาคนี้มากขึ้น โดยมีกองบัญชาการใหญ่อยู่ที่ท่าเรือ Sembawang Terminal ที่ท่าเรือสิงคโปร์ ภายใต้การบังคับบัญชาของพลเรือตรีดอน กาเบรียลสัน ภารกิจหลักๆ คือการจัดหาโลจิสติกส์พร้อมรบ บำรุงรักษา และปฏิบัติการเรือของรัฐบาล เพื่อสนับสนุนหน่วยรบและเรือทั่วสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ผู้บัญชาการกลุ่มโลจิสติกส์ ภาคตะวันตกของแปซิฟิกยังทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการกองทัพเรือสำหรับกิจกรรมทางเรือในสิงคโปร์ ทั้งยังเป็นผู้ประสานงานการฝึกเบื้องต้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้านการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางทหาร ช่วยในการฝึกซ้อมร่วมกับประเทศต่างๆ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย บรูไน ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์
จะเห็นได้ว่าฐานทัพสหรัฐฯ ทั้ง 5 แห่ง คือขุมกำลังป้องกันภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่สำคัญ และมีศักยภาพมากเกินพอโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มฐานทัพที่ประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่จุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของคู่ขัดแย้งหลักในปัจจุบัน โดยเฉพาะในจุดภูมิรัฐศาสตร์สำคัญของโลก เช่น บริเวณทะเลจีนใต้ คาบสมุทรเกาหลี ภูมิภาคตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก เนื่องจากบริเวณดังกล่าวใกล้ชิดกับพรมแดนของมหาอำนาจ เช่น รัสเซียและจีน สำหรับประเทศไทยนั้นไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับชาติใด การมาตั้งฐานทัพนอกจากปัจจัยสำคัญด้านภูมิรัฐศาสตร์แล้ว ยังต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก ดังนั้นการมาตั้งฐานทัพในพื้นที่ซึ่งไม่คุ้มค่ากับการลงทุนจึงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด
- จากยุคสงครามเย็นถึงจุดสิ้นสุดฐานทัพอเมริกาในไทยฐานสุดท้าย ปี 2519
กองทัพอากาศสหรัฐ (USAF) ส่งเครื่องบินรบมายังประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 ถึง พ.ศ. 2518 ในช่วงสงครามเวียดนาม การปรากฏตัวของกองทัพอเมริกันอย่างเป็นทางการในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ. 2504 ตามคำร้องขอของรัฐบาลไทยในการจัดตั้งระบบเตือนอากาศยาน
ต่อมาสหรัฐอเมริกายุติการมีส่วนร่วมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยสนธิสัญญา หลังการล่มสลายของกรุงไซง่อน เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2518 ความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันและกรุงเทพฯ ก็ถึงจุดเปลี่ยน ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2518 รัฐบาลไทยขอให้สหรัฐอเมริกาถอนกำลังรบทั้งหมด (ทหาร 27,000 นาย เครื่องบิน 300 ลำ) ออกจากไทยภายในปี พ.ศ. 2519
หลังจากสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทยเน้นไปที่การรักษาความมั่นคงทางทหารในภูมิภาค เป็นการสนับสนุนกองทัพไทยในด้านการฝึกอบรม การปฏิบัติภารกิจร่วมกัน และการดำเนินกิจกรรมร่วมกัน เช่น การฝึกอบรมเทคนิคทางทหาร และการแลกเปลี่ยนทางทหาร
ฐานทัพ USAF ถูกปิด และบุคลากร USAF คนสุดท้ายเดินทางออกจากประเทศไทยในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2519
ฐานหลักที่ USAF เคยดำเนินการในประเทศไทย ดังนี้
- ฐานทัพอากาศดอนเมือง พ.ศ. 2504-2513
- ฐานทัพอากาศโคราช พ.ศ. 2505–2518
- ฐานทัพเรือนครพนม พ.ศ. 2505-2519
- ฐานทัพอากาศตาคลี พ.ศ. 2504–2517
- ฐานทัพเรืออู่ตะเภา พ.ศ. 2508–2519
- ฐานทัพอากาศอุบลฯ พ.ศ. 2508–2517
- ฐานทัพอากาศอุดร พ.ศ. 2507–2519
- ฐานทัพอากาศน้ำพอง พ.ศ. 2515-2516
หลังจากถอนฐานทัพออกไปจนหมด ความเกี่ยวข้องกับกองทัพอเมริกาต่อไทย กลับมาเริ่มต้นกันอีกครั้งหลังสงครามเย็น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 นั่นคือ การฝึกคอบร้าโกลด์ ซึ่งเป็นการฝึกประจำปีข้ามชาติที่ดำเนินการในกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ครั้งล่าสุด 17 มีนาคม 2023 ที่ผ่านมานับเป็นปีที่ 42 แล้ว สำหรับการฝึกคอบร้าโกลด์ที่ได้นำกองกำลังทหารนานาชาติหลายพันนายจากสหรัฐอเมริกา ไทย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และญี่ปุ่น มาร่วมกันฝึกหลายวัน สหรัฐฯได้พยายามเสริมสร้างพันธมิตรทางทหารในภูมิภาคเพื่อเผชิญหน้ากับจีนที่แสดงออกอย่างแข็งกร้าว
เช่นเมื่อไม่นานมานี้ สหรัฐฯและฟิลิปปินส์ ได้ตกลงที่จะกลับมาลาดตระเวนร่วมกันในทะเลจีนใต้ที่เป็นข้อพิพาท และบรรลุข้อตกลงให้ทหารสหรัฐฯ ตั้งฐานทัพ 4 แห่งในฟิลิปปินส์ เช่นเดียวกับ เกาหลีใต้ ที่ร่วมสนับสนุนการฝึกซ้อมทางทหารกับสหรัฐฯ หลังการทดสอบอาวุธแสดงแสนยานุภาพของเกาหลีเหนือ ทั้งหมดนี้คือความร่วมมือระดับภูมิภาค…ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในไทยที่ได้แต่จินตนาการถึงฐานทัพในยุคสงครามเย็น วนเวียนอยู่กับมายาคติของความเป็นทาส กลับไม่เคยเปิดตามองโลกที่กว้างไปกว่ากรอบอคติของตัวเองเลย
- ดุลการค้าที่เสียไปกับความเสียหายที่ไทยถูกรุกคืบจากอิทธิพลจีน
หากย้อนดูดุลการค้าระหว่างไทย-จีน และ ไทย-สหรัฐ ในช่วงเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา จะพบว่าไทยขาดดุลการค้ากับจีนมาโดยตลอด ยิ่งถ้าดูในระยะเวลาใกล้ๆ จากสถิติภายใน 5 ปีที่ผ่านมา มี 3 ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยคือ สหรัฐอเมริกา จีน และ ญี่ปุ่น ก็จะพบว่าไทยได้ดุลการค้าสหรัฐฯปีละ 3-4 แสนล้าน ขณะที่ขาดดุลจีนปีละ 5-6 แสนล้าน
ย้อนไปสำรวจในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” เคยรายงานเอาไว้ว่า การส่งออกของไทยไปจีนในปี 2556 ไทยขาดดุลการค้ากับจีนสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 12,100 ล้านดอลลาร์ฯ (โดยเคยขาดดุลที่ 10,251 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2555) ส่วนข้อมูลจากกรมศุลกากร ในปี 58 แม้จีนจะเป็นประเทศอันดับ 1 ที่มูลค่าการค้ากับไทยถึง 839,817.4 ล้านบาทหรือ 14.8 % แต่ก็เป็นตัวเลขที่ไทยเสียดุลการค้ากับจีนมาตลอด โดยกรมศุลกากร พบว่า ไทยเสียดุลการค้าจีนและฮ่องกงไปถึง 2.13 หมื่นล้านบาท และเมื่อย้อนกลับไปปี 57 ไทยก็ขาดดุลการค้ากับจีนและฮ่องกงต่อเนื่อง โดยในเดือนธ.ค.57 ขาดดุล 1.6 หมื่นล้านบาท พอเข้าม.ค.58 ก็ขาดดุลไปถึง 3.27 หมื่นล้านบาท เป็นต้น
ขณะที่กลุ่มประเทศอย่างในทวีอเมริกาเหนือ ที่มีสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศหลักนั้น ไทยได้ดุลการค้ามาโดยตลอด ตั้งแต่ 3.8 หมื่นล้านบาท ไปจนถึง 4.19 หมื่นล้านบาท ตลอดปี 58 เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปหรือ EU
ล่าสุดในปีที่ผ่านมา คู่ค้าอันดับ 1 ของไทยยังคงเป็นจีน โดยการค้าไทย-จีนใน 10 เดือนแรกของปี 2565 มีมูลค่าการค้ารวม 3.06 ล้านล้านบาท โดยไทยส่งออกไปจีน 9.96 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.82% ขณะที่ไทยนำเข้า 2.07 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.40% ไทยขาดดุลการค้าจีน 1.07 ล้านล้านบาท
ส่วนคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยที่คนบางกลุ่มกลัวนักหนาว่าจะทำให้ “ไทยตกเป็นทาส” อย่าง สหรัฐอเมริกา แต่ปรากฏว่าช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 มีมูลค่าการค้ารวม 1.90 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 32.18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไทยส่งออก 1.36 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.19% นำเข้า 5.31 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.71% ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐฯ 8.38 แสนล้านบาท
นี่ยังไม่รวมการขาดดุลอันเนื่องมาจากกลุ่ม “จีนเทา” ที่แฝงตัวเข้ามาทำธุรกิจมืด โดยมีคนของภาครัฐในยุคนายกรัฐมนตรีชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้กุมอำนาจ แต่กลับเป็นยุคที่อิทธิพลของมาเฟียจีนเติบโตเบ่งบานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
มีข้อมูลว่า จุดเริ่มต้นมาจากกลุ่มนักธุรกิจจีนค้าผลไม้ที่เรียนรู้ช่องโหว่ของกฎหมายไทย แล้วสร้างความสัมพันธ์รวมตัวกันเป็นเครือข่ายผลักดันตัวเองเป็นผู้มีอิทธิพลคล้าย “อั้งยี่” คอยดูแลเคลียร์ปัญหาให้คนจีนด้วยกัน โดยมี “คนมีสี” ในบ้านเราคอยหนุนหลัง ก่อนแยกตัวมาทำกิจการสีเทาเต็มตัวไม่ว่าจะเป็นสถานบริการ บ่อนการพนัน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และยาเสพติด
ไม่เท่านั้น “ทุนจีนสีเทา” เหล่านี้ยังใช้ธุรกิจสีขาวมาบังหน้าโดยมีฉากหลังคือ ธุรกิจจีนสีเทา หรือ กลุ่มมาเฟียจีนในไทย ที่เริ่มแผ่อิทธิพลมาตั้งแต่ปี 2558 แต่หน่วยงานรัฐกลับ ‘ปิดตาข้างเดียว’ จนทำให้ธุรกิจนี้เติบโตขยายไปครอบคลุมธุรกิจหลายประเภท ทั้งบริษัททัวร์จีน ร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะ สถานบันเทิง โรงแรม โดยมีการนำผู้หญิงจีนมาขายบริการให้คนจีนในไทย และลักลอบเปิดบ่อนการพนัน
เรื่องทุนจีนบุกไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานหลายปีแล้ว คลื่นกลุ่มทุนจีนรุ่นใหม่ที่หลั่งไหลทะลักเข้ามาลงหลักปักฐานในบ้านเราย้อนไปราวๆ ปี 2550 มีกลุ่มคนจีนเข้ามาทำมาหากินโดยการกว้านซื้อหรือเช่าตึก ที่เห็นได้ชัดคือ ย่านห้วยขวาง โดยเฉพาะเส้นประชาราษฎร์บำเพ็ญ จะพบเห็นชาวจีนจำนวนมาก ตั้งร้านค้าขายกันเป็นชุมชน มีทั้งเปิดร้านหม้อไฟ ร้านอาหารจีน ร้านขายยา และร้านขายของกินของใช้ราคาถูกที่นำเข้ามาจากเมืองจีน คนเหล่านี้เข้ามาสร้างไชน่าทาวน์แห่งใหม่กลางกรุงเทพฯ ซึ่งมีทั้งถูกกฏหมายและผิดกฏหมาย
การเข้ามาแบบรุกคืบของคนจีนอย่างสะดวกง่ายดาย ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจในย่านเยาวราช-สำเพ็งด้วย เนื่องจากคนจีนแผ่นดินใหญ่แห่มายึดธุรกิจของคนไทยในย่านไชน่าทาวน์เดิมที่เป็นย่านธุรกิจของ “คนจีนในเมืองไทย” ที่อยู่กันมากว่าร้อยปี ตั้งแต่รุ่นเสื่อผืนหมอนใบ แต่บัดนี้กลับถูกคนจีนแผ่นดินใหญ่รุ่นใหม่เข้ามายึดทำเล โดยเฉพาะย่านเสือป่า สำเพ็ง จนเจ้าถิ่นต้องถอยร่น หลายรายถึงกับยอมแพ้เลิกกิจการไป
ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าการมโนว่าจะมีฐานทัพอเมริกามาตั้งหรือไม่ ก็คือวิกฤตการณ์แหล่งทำมาหากินของคนไทยในพื้นที่เหล่านี้กำลังจะถูกยึดไปหมดไม่เหลือไว้ให้ทำมาหากิน เนื่องจากคนจีนทุนสีขาวที่เข้ามายึดทำเล ต่างก็รู้แหล่งผลิตสินค้าราคาถูกในประเทศจีน สามารถหาสินค้าราคาโรงงานได้ แถมภาษีก็ไม่ต้องเสีย ขณะที่คนไทยต้องซื้อผ่านคนกลางอีกที ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปหาซื้อที่จีนอีก ต้นทุนย่อมสูงกว่า ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุนจีนขาวหรือจีนเทาก็ก่อผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมทั้งสิ้น เช่นกรณี “ตู้ห่าว” นักธุรกิจจีนสีเทาที่ขยายอิทธิพลมานาน เริ่มจากแฝงตัวมาในรูปแบบกลุ่ม “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ที่หากินและสร้างอิทธิพลในเมืองท่องเที่ยวจนร่ำรวย ต่อมาขยายธุรกิจการลงทุนมากมายจนกลายเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่
นอกจากนี้กลุ่มจีนเทาที่ทำธุรกิจมืดโดยใช้นอมินีคนไทยบังหน้าทำมาหากินกันอย่างเปิดเผย อย่างการพนันออนไลน์ การกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน กลุ่มคอลเซ็นเตอร์ ฯลฯ ยังใช้วิธีการฟอกเงินผ่านการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ทั้งบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม สนามกอล์ฟ บริษัททัวร์ มหาวิทยาลัย โรงแรม ไปจนถึงร้านอาหารชื่อดัง ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ
มีการประเมินความเสียหายที่ส่งผลต่อประเทศกว่า 300,000 ล้านบาท อันเป็นความเสียหายทางอาชญากรรมเทคโนโลยีที่มีทั้งคนจีนและชาติอื่นๆ ร่วมด้วย แต่เฉพาะคดีตู้ห่าวคดีเดียวก็สร้างหายนะให้กับระบบเศรษฐกิจไทยไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท!!
ปัญหาของธุรกิจสีเทา รวมถึงการแย่งชิงกิจการของทุนจีนขาวจากผู้ประกอบการรายย่อยในไทย จะไม่ลุกลามบานปลายมาถึงขั้นนี้ หากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา และคนไทยไม่ให้ความร่วมมือ โดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายทำการทุจริตเสียเอง
แปลกมั้ย? ที่มีบางคนกำลังกลัวไทยจะตกเป็น “ทาสอเมริกา” จนเพ้อจินตนาการไปไกล แต่กลับเพิกเฉยแกล้งมองไม่เห็นปัญหากับความผิดปกติรอบๆ ตัวที่เห็นตำตา ทั้ง ‘จีนขาว’ และ ‘จีนเทา’ ที่กระจายตัวอยู่เกลื่อนประเทศตอนนี้ ทั้งเครือข่ายนอกกฏหมายและรุกคืบธุรกิจของคนไทยจนกลายเป็นปัญหาที่กระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจทั้งระบบ ความสูญเสียมหาศาลนี้ทำให้ไทยแทบจะกลายเป็นอีกอาณานิคมของจีนไปแล้ว!?
เรื่อง : ฮัลวา ตาญี
ข้อมูลอ้างอิง : militarybases-com , Al Jazeerah , www.scmp.com/week-asia/politics/article/3201826