ชี้ช่องรวย!! มอเตอร์ไซค์ยอดขายพุ่ง ธุรกิจเกี่ยวเนื่องรับอานิสงส์มาแรงน่าลงทุน!!

3 เดือนแรกปี ‘66 ยอดขาย มอ’ไซต์ ในไทย..พุ่งแตะ 5.6 แสนคัน สูงกว่ายอดขายรถยนต์ถึง 4.5 เท่าส่งผลธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง..ขายอะไหล่ บริการซ่อมบำรุง และธุรกิจสินเชื่อเติบโตตามขณะที่ยอดจัดตั้งธุรกิจจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฯ 4 เดือนแรกปี ‘66 เพิ่มขึ้น 40% จากปีที่ผ่านมา

กรมพัฒน์ฯ เปิดยอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจจำหน่ายรถจักรยานยนต์ อะไหล่ และบริการที่เกี่ยวเนื่อง 4 เดือนแรกปี‘66 เพิ่มขึ้น 40% จากปีที่ผ่านมา ทุนจดทะเบียนเกือบ 200 ล้านบาท เทียบเคียงยอดขายรถจักรยานยนต์ 3 เดือนแรกปี‘66 พุ่งแตะ 5.6 แสนคัน สูงกว่ายอดขายรถยนต์ถึง 4.5 เท่า ส่งผลธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งขายอะไหล่ บริการซ่อมบำรุง และธุรกิจสินเชื่อเติบโตตาม ปัจจัยหลักมาจากรถจักรยานยนต์มีความคล่องตัว หาที่จอดง่าย ประหยัดน้ำมัน ค่าบำรุงรักษาไม่สูง แปลงเป็นเครื่องมือทำมาหากินได้ง่าย ที่สำคัญได้รับความนิยมทุกพื้นที่

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ทีมวิเคราะห์ธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้จัดทำบทวิเคราะห์ธุรกิจที่น่าสนใจประจำเดือนเมษายน 2566 พบว่า ธุรกิจจำหน่ายรถจักรยานยนต์ อะไหล่ และบริการที่เกี่ยวเนื่อง มีอัตราการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดย ปี 2563 จดทะเบียนจัดตั้ง 194 ราย ทุนจดทะเบียน 330.56 ล้านบาท ปี 2564 จัดตั้ง 183 ราย (ลดลงร้อยละ 5.67) ทุน 237.35 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 28.20) ปี 2565 จัดตั้ง 283 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.64) ทุน 525.67 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 121.48) ปี 2566 เดือนมกราคม – เมษายน จัดตั้ง 134 ราย (เพิ่มขึ้น 39 ราย หรือ ร้อยละ 41.06 เดือนมกราคม – เมษายน 2565 จัดตั้ง 95 ราย) ทุน 193.06 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 64.94 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 50.69 เดือนมกราคม – เมษายน 2565 ทุน 128.12 ล้านบาท)

ผลประกอบการธุรกิจ (รายได้รวมธุรกิจ) ปี 2562 รายได้รวม 4.35 แสนล้านบาท กำไร 3.70 หมื่นล้านบาท ปี 2563 รายได้รวม 3.98 แสนล้านบาท (ลดลง 3.69 หมื่นล้านบาท หรือ ร้อยละ 8.46) กำไร 3.51 หมื่นล้านบาท (ลดลง 1.80 พันล้านบาท หรือ ร้อยละ 4.87) และ ปี 2564 รายได้รวม 3.73 แสนล้านบาท (ลดลง 2.49 หมื่นล้านบาท หรือ ร้อยละ 6.25) กำไร 2.61 หมื่นล้านบาท (ลดลง 9.02 พันล้านบาท หรือ ร้อยละ 25.69) แม้ว่าช่วง ปี 2562 – 2564 ธุรกิจมีแนวโน้มของรายได้รวมและผลกำไรที่ลดลง แต่หากพิจารณาถึงขนาดธุรกิจ (S M และ L) จะพบว่า ผลประกอบการส่วนใหญ่มีน้ำหนักอยู่ที่ธุรกิจขนาดใหญ่ (L) โดยสินทรัพย์ของธุรกิจขนาดใหญ่ (L) มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 70 ของสินทรัพย์ธุรกิจทุกขนาด ดังนั้น เมื่อธุรกิจขนาดใหญ่มีกำไรลดลง จึงส่งผลให้กำไรของธุรกิจในภาพรวมลดลงตามไปด้วย เช่น ปี 2564 เมื่อเทียบกับปี 2563 ธุรกิจในภาพรวมมีกำไรลดลงกว่าร้อยละ 25.69 ซึ่งเป็นผลมาจากธุรกิจขนาดใหญ่ (L) มีผลกำไรลดลงกว่า 9,600 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็ก (S) ขาดทุนลดลง 55 ล้านบาท และธุรกิจขนาดกลาง (M) มีผลกำไรเพิ่มขึ้น 542 ล้านบาท

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

การลงทุนในธุรกิจส่วนใหญ่เป็นคนไทย มูลค่าการลงทุน 2.16 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 61.91 ของการลงทุนในธุรกิจทั้งหมด และมีการลงทุนจากชาวต่างชาติ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น มูลค่า 1.18 หมื่นล้านบาท (ร้อยละ 33.96) จีน มูลค่า 419 ล้านบาท (ร้อยละ 1.20) มาเลเซีย มูลค่า 221 ล้านบาท (ร้อยละ 0.63) และ อื่นๆ 805 ล้านบาท (ร้อยละ 2.30)

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2566) มีธุรกิจจำหน่ายรถจักรยานยนต์ อะไหล่ และบริการที่เกี่ยวข้องที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวน 3,690 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.42 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ (871,041 ราย) และมีมูลค่าทุน 34,963.03 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.16 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ (21.23 ล้านล้านบาท).

ส่วนใหญ่ดำเนินกิจการรูปแบบบริษัทจำกัด จำนวน 2,506 ราย คิดเป็นร้อยละ 67.91 มูลค่าทุน 31,302.96 ล้านบาท โดยเป็นธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 2,125 ราย ทุน 1.01 – 5.00 ล้านบาท จำนวน 1,187 ราย และทุนมากกว่า 5 ล้านบาท จำนวน 378  ราย โดยแบ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) จำนวน 3,044 ราย (ร้อยละ 82.49) ขนาดกลาง (M) จำนวน 513 ราย (ร้อยละ 13.90) และ ขนาดใหญ่ (L) จำนวน 133 ราย (ร้อยละ 3.61)

ตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งของธุรกิจจำหน่ายรถจักรยานยนต์ อะไหล่ และบริการที่เกี่ยวข้องที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับยอดการจำหน่ายรถจักรยานยนต์และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย) โดย 3 เดือนแรก (มกราคม – มีนาคม) ปี 2566 ประเทศไทยมียอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จำนวน 557,843 คัน (ม.ค. 174,980 คัน ก.พ. 179,091 คัน และ มี.ค. 203,772 คัน) ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล จำนวน 122,812 คัน (ม.ค. 35,387 คัน ก.พ. 41,051 คัน และ มี.ค. 46,410 คัน) เมื่อเทียบสัดส่วนจะพบว่ายอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์มีมากกว่ายอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลถึง 435,031 คัน หรือ มากกว่าประมาณ 4.5 เท่า

ปัจจัยหลักมาจากการที่รถจักรยานยนต์มีความคล่องตัว หาที่จอดง่าย ประหยัดน้ำมัน ค่าบำรุงรักษาไม่สูง แปลงเป็นเครื่องมือทำมาหากินได้ง่าย ที่สำคัญได้รับความนิยมทุกพื้นที่ นอกจากนี้ รถจักรยานยนต์มีการออกแบบหลากหลายประเภทให้เหมาะกับการใช้งาน เช่น ระยะทาง สภาพจราจร การท่องเที่ยว กีฬา การแข่งขัน และอีกด้านหนึ่ง รถจักรยานยนต์ยังเป็นของเล่นสำหรับกิจกรรมอดิเรก เป็นของสะสม และมีผู้บริโภคบางกลุ่มที่ชื่นชอบตกแต่งรถให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ส่งผลให้ธุรกิจอื่นที่มีความเกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจอะไหล่ตกแต่งรถจักรยานยนต์ ธุรกิจบริการซ่อมบำรุง ได้รับประโยชน์ไปด้วย ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคอาจซื้อรถจักรยานยนต์ผ่านระบบสินเชื่อเช่าซื้อ จึงส่งผลให้ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์เติบโตตามยอดขายที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารถจักรยานยนต์จะเป็นพาหนะที่มีความสะดวกในสภาพการจราจรที่มีการติดขัด และการใช้งานในเมืองมีความสะดวกสบาย แต่รถจักรยานยนต์ก็เป็นยานพาหนะที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงที่สุด โดยข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก พบว่า ปี 2565 มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน จำนวน 17,347 คน เป็นรถจักรยานยนต์จำนวน 8,751 คน คิดเป็นร้อยละ 50.45 ดังนั้น ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ต้องใช้ความระมัดระวังและไม่ทำพฤติกรมเสี่ยง ทั้งการขี่รถเร็ว การขี่รถย้อนศร และการไม่สวมหมวกกันน็อค เพื่อช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น” อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *