เด็กทุกคนล้วนเป็น “เยาวชนของโลก” และไม่ควรมีเด็กคนไหนถูกละเมิดสิทธิทั้งร่างกาย จิตใจ ความคิด และความฝัน แต่ในความเป็นจริงของโลกนี้ยังมีเยาวชนอีกไม่น้อยที่ถูกมองว่าเป็น “แกะดำ” หรือ “เด็กดื้อ” ในสังคมที่พวกเขาเกิดและเติบโตมา เพียงเพราะเขาคิด เขาทำ และเขาต่อสู้เพื่อบางสิ่งบางอย่าง อันเป็นเรื่องที่คนบางกลุ่มหรือส่วนใหญ่ในสังคมมองว่า “แปลกแยกแตกต่าง” ไปจากเด็กทั่วไปตามขนบมาตรฐานที่สังคมนั้นนิยามไว้ เช่นที่ “หยก” เด็กหญิงวัย 15 ปี กำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้
เด็กดื้อที่เป็นแกะดำในสังคมเหล่านี้มักถูกตีตราว่าเป็นตัวสร้างปัญหา หิวแสง เอาแต่ใจ บ้างก็ว่าไม่ปกติ ไปจนถึงขั้นเลวร้ายที่สุดคือ ถูกทำร้าย ถูกล่วงละเมิด ถูกจับขังจำกัดเสรีภาพ และบางรายถึงขั้นถูกฆ่า!
ทว่าเมื่อวันเวลาผ่านไป และโลกได้ค้นพบเด็กดื้อเหล่านี้ ความจริงมักปรากฏว่า ยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านได้ทำให้ผู้คนเรียนรู้ เข้าใจ และตระหนักในภายหลังว่าการต่อสู้และเสียงของเด็กเหล่านี้กลับทรงพลังมากพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงบางสิ่งในโลกนี้อย่างมีความหมายและทรงคุณค่า
นี่คือ 6 เยาวชนของโลก จากเด็กดื้อที่ถูกคนบางกลุ่มในประเทศหมั่นไส้และโดนผู้ใหญ่ชิงชัง สู่การเป็นเยาวชนที่โลกต้องการ…
- มาลาลา ยูซัฟไซ (Malālah Yūsafzay)
บทบาท: นักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิสตรีและการศึกษา
ที่เกิดเหตุ: ปากีสถาน
แอคชั่น: มาลาลาเป็นเด็กนักเรียนวัย 12 ปีจากเมืองมินโกราในเขตสวัต (Swat District) เมืองในหุบเขาที่ถูกยึดครองโดยกลุ่มตอลิบาน เธอเกิดมาในสังคมที่ผู้หญิงถูกปิดปากให้เงียบ ไม่มีสิทธิไม่มีเสียงใดๆ แม้แต่ความต้องการพื้นฐานอย่างการศึกษา กลุ่มตอลิบานห้ามเด็กหญิงเข้าศึกษาในโรงเรียน และบังคับให้อยู่แต่ในบ้าน ผู้หญิงส่วนใหญ่หวาดกลัวจึงยอมจำนน แต่มาลาลากับพ่อของเธอไม่ยอม เธอดื้อแพ่งออกไปโรงเรียนโดยได้รับการสนับสนุนจากพ่อที่เป็นกวีและเจ้าของโรงเรียน ขณะที่ไม่มีเด็กคนไหนกล้าส่งเสียงเรียกร้อง แต่มาลาลาอาสาเขียนตีแผ่วิจารณ์ตอลิบานที่ห้ามเด็กหญิงเรียนหนังสือในบล็อกของ bbc รวมถึงปราศรัยรณรงค์ให้เด็กต้องได้เรียนอย่างต่อเนื่อง จนถูกหมายหัวสั่งฆ่า
เหตุการณ์สำคัญ: ปี 2555 มาลาลาในวัย 15 ปี ถูกลอบยิงที่ศีรษะโดยมือปืนตอลิบานขณะอยู่บนรถโรงเรียนที่กำลังจะส่งเธอและเพื่อนๆ กลับบ้าน(เพื่อนอีก 2 คนโดนลูกหลงจากกระสุนบาดเจ็บเล็กน้อยด้วย) มาลาลาหมดสติและอยู่ในภาวะวิกฤต เธอถูกส่งตัวไปอังกฤษเพื่อรับการรักษาจนกลับมาปกติ
ผลพวงจากเด็กดื้อ: ปี 2557 เธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ร่วมกับไกลาศ สัตยาธี จากการต่อสู้เพื่อการศึกษาของเด็ก มาลาลาเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลที่อายุน้อยที่สุด ด้วยวัย 17 ปี ต่อมาเธอออกหนังสืออัตชีวประวัติเล่มแรกชื่อ I Am Malala และเรียนจบจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดในปี 2563 เธอได้รับการศึกษาสูงสุดสมดังความตั้งใจ จากการเคลื่อนไหวอันยาวนานของเธอทำให้ความช่วยเหลือจากองค์กรสากลต่างๆ เข้าไปดูแลและมอบทุนการศึกษาแก่เด็กๆ ในสวัต มีอาสาสมัครเข้าไปช่วยเหลือ สหรัฐส่งกองกำลังไปคุ้มครอง ฯลฯ ทั้งหมดนี้คือการต่อสู้ของเด็กหญิงคนหนึ่งจนโลกมองเห็นและเกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายที่เธอเกือบต้องแลกด้วยชีวิต
- เกรต้า ธันเบิร์ก (Greta Thunberg)
บทบาท: นักกิจกรรมภูมิอากาศ
ที่เกิดเหตุ: สวีเดน
แอคชั่น: เด็กหญิงตัวเล็กๆ วัย 16 ปี ผู้ถูกวินิจฉัยว่ามีอาการของแอสเพอร์เกอร์ (Asperger Syndrome) อาการในกลุ่มออทิสติก โดยเด็กแอสเพอร์เกอร์ จะมีพฤติกรรมจดจ่อกับเรื่องเดิมซ้ำๆ ซึ่งเป็นประเด็นที่เกรต้าถูกโจมตีจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยในสิ่งที่เกรต้าทำเมื่อปี 2018 คือ การออกไปเรียกร้องเพื่ออนาคตของโลกใบนี้ เกรต้า ได้ทำการ “โดดเรียนเพื่อโลก” เธอชวนเพื่อนนักเรียนโดดเรียนไปประท้วง แต่ไม่มีใครเอาด้วยกับเธอ เพราะการโดดเรียนในมุมของเด็กทั่วไปเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ ดังนั้นเกรต้าเลยไปคนเดียว โดยใช้เวลาโดดเรียนไปนั่งอยู่หน้ารัฐสภาสวีเดน พร้อมชูป้ายที่เขียนด้วยลายมือตัวเอง “ไม่ไปเรียนหนังสือเพื่อประท้วงโลกร้อน” เธอทำใบปลิวอธิบายความน่ากลัวของภาวะโลกร้อน แจกผู้คนที่ผ่านไปมาด้วย เป้าหมายคือ เรียกร้องให้รัฐบาลสวีเดนดำเนินการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต่อมาจากนั่งประท้วงทุกวัน เธอลดเวลาเพื่อไปเรียนและมาประท้วงทุกวันศุกร์ติดต่อกันนาน 3 สัปดาห์ มีการสร้างแฮชแท็ก #Fridaysforfuture (วันศุกร์เพื่ออนาคต) จนแพร่หลาย มีเด็กนักเรียนมาเข้าร่วมประท้วงกับเธอด้วย จนค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้น ด้านผู้ใหญ่ที่รู้สึกขัดตาขัดใจเข้าไปถามเกรต้าว่าทำไมไม่ไปตั้งใจเรียนเพื่อไปเป็นนักวิทยาศาสตร์มาแก้ปัญหาโลกร้อนซะล่ะ เกรต้าตอบไปว่า “ทำไมหนูต้องไปเรียนในเมื่อไม่มีใครสนใจข้อเท็จจริงเรื่องนี้เลย ทั้งที่นักวิทยาศาสตร์ก็เคยเสนอวิธีลดโลกร้อนให้แล้วแต่ไม่เห็นใครสนใจฟัง นักการเมืองก็ไม่ฟัง แล้วหนูจะไปเรียนเพื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ไปทำไม!” เกรต้ายังถูกคนวิจารณ์โจมตีเธอและครอบครัวทางโซเชี่ยลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเธอมักจะทวิตตอกกลับไปแบบแรงๆ ตรงๆ โดยเฉพาะเหล่าผู้นำหลายประเทศที่ออกมาพาดพิงถึงเธอหรือไม่เห็นด้วยกับการประท้วง เกรต้าจะโต้กลับทันควัน ไม่ว่าจะเป็น โดนัลด์ ทรัมป์ สหรัฐฯ, อังเกลา แมร์เคิล เยอรมนี , สก็อตต์ มอร์ริสัน ออสเตรเลีย
เหตุการณ์สำคัญ: จากแฮชแท็กวันศุกร์เพื่ออนาคต เกรต้าเปิดเว็บไซต์ Fridays for Future เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารเรื่องโลกร้อน ต่อมาในวันศุกร์ที่ 20 ก.ย.ปี 2019 เด็กวัยรุ่นนัดรวมตัวกันใน 170 ประเทศทั่วโลก จำนวนมากกว่า 4 ล้านคน ทำการโดดเรียนประท้วงพร้อมกันเพื่อแสดงจุดยืนเรื่องโลกร้อน จนก่อผลสะเทือนไปทั้งโลก วันที่ 23 ก.ย.ไม่กี่วันถัดมาจากการนัดประท้วง เกรต้าได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์อย่างเผ็ดร้อนบนเวทีสหประชาชาติ ต่อมาในวัย 20 ปี เกรต้ายังคงเข้าร่วมประท้วงจนกลายมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อเธอถูกตำรวจเยอรมันควบคุมตัวเพราะเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านเหมืองถ่านหินที่หมู่บ้านในเยอรมนี เกรต้าถูกควบคุมตัวไม่นานนัก ก่อนจะถูกปล่อยตัวออกมา หลังจากนั้นเธอก็กลับเข้าร่วมการประท้วงอีกครั้ง สาเหตุของการประท้วงครั้งนี้คือ การเผาถ่านหินลิกไนต์นี้้งนี้อกมา หลังจากนั้นลล่อยัว ที่รู้กันอยู่แล้วว่า ถ่านหินชนิดนี้ก่อมลพิษมากที่สุดในบรรดาถ่านหินที่มีในโลก การประท้วงครั้งนี้มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยฝั่งที่ไม่เห็นด้วยต่างแสดงความเห็นว่า นักเคลื่อนไหวเหล่านี้ควรไปประท้วงในเรื่องที่ใหญ่กว่านี้ ขณะที่ฝ่ายเห็นด้วยต่างออกมาให้กำลังใจผู้ประท้วง และหวังว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะผ่านไปด้วยดี เพราะเล็งเห็นถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา
ผลพวงจากเด็กดื้อ: หลังโดดเรียนมาทำกิจกรรมเรียกร้องจนสร้างความเอือมระอาให้ผู้ใหญ่ในรัฐบาลและผู้นำบางคน วันนี้เกรต้ากลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับปัญหาสภาวะโลกร้อน และเป็นแรงบันดาลใจให้คนทั่วโลกหันมาใส่ใจเรื่องมลภาวะ เธอได้รับฉายาจากสื่อว่า “Climate Icon” และได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์ ประจำปี 2019 โดยนิตยสารไทม์ตีพิมพ์รูปเกรต้าขึ้นปกพร้อมข้อความยกย่องว่า “พลังแห่งเยาวชน” (Greta Thunberg – The Power Of Youth) และในที่สุดความเอือมระอาของผู้มีอำนาจก็นำไปสู่การตระหนักรู้ของผู้คนทั่วโลก จนกระทั่ง 2 ปีต่อมามีการจัดประชุมเพื่อทำข้อตกลงโดยมี 120 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมในการให้คำมั่นสัญญาต่อสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2021 นี่คือบทพิสูจน์ว่าเสียงของเด็กดื้อดังพอที่โลกจะได้ยินเสมอ!
- โจชัว หว่อง (Joshua Wong Chi-fung)
บทบาท: นักเคลื่อนไหวทางการเมือง
ที่เกิดเหตุ: เกาะฮ่องกง
แอคชั่น: หว่องและเพื่อนได้ก่อตั้งกลุ่ม “Scholarism” ซึ่งรวมนักเรียนนักศึกษาเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ ในสังคม กลุ่ม Scholarism จากที่มีสมาชิกแค่หลักสิบคน ก็เริ่มมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีจำนวนกว่า 120,000 คนในปี 2555 จนกระทั่งในปี 2557 หว่องในวัย 15 ปี เป็นผู้นำการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ทำให้เขาเริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก ขณะที่สื่อจีนนำเสนอภาพหว่องในฐานะกลุ่มวัยรุ่นหัวรุนแรงก่อกวนเมือง การเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างต่อเนื่องและชื่อเสียงของหว่องที่ถูกสื่อทั่วโลกจับตา ทำให้เขาตกเป็นเป้าของทางการจีน ก่อนที่จะถูกควบคุมตัวและดำเนินคดีหลายข้อหา เขาต้องรับโทษเข้าๆ ออกๆ เรือนจำหลายครั้ง
เหตุการณ์สำคัญ: หว่องมีบทบาทสำคัญในขบวนการร่ม (Umbrella Movement) ที่ชาวฮ่องกงจำนวนมากร่วมกันแสดงพลังต่อต้านการแผ่ขยายอิทธิพลของรัฐบาลจีน ครั้งนั้นผู้ชุมนุมปักหลักประท้วงในย่านเซ็นทรัลของฮ่องกงเป็นเวลาร่วม 3 เดือน ต่อมาเจ้าหน้าที่จึงบุกเข้ารื้อถอนทำลาย ในปี 2563 โจชัว หว่อง กับเพื่อนๆ ให้การสนับสนุนการประท้วงของเยาวชนในไทยที่ประท้วงต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หว่องได้โพสต์ภาพในทวิตเตอร์ @joshuawongcf ขณะไปร่วมชุมนุมด้านหน้าสถานกงสุลไทยประจำฮ่องกง โดยถือกระดาษพิมพ์ข้อความภาษาไทยว่า “พวกเราชาวฮ่องกงเป็นกำลังใจให้ผู้ประท้วง พวกเราจะร่วมกันต่อสู้กับเผด็จการและผ่านมันไปด้วยกัน พวกเราจะยืนเคียงข้างคนไทย” และถือป้ายข้อความอีกป้ายว่า “ผมขอเป็นกำลังใจให้ชาวไทยทุกคนนะครับ” โดยติดแฮชแท็ก #StandWithThailand และ #MilkTeaAliance ก่อนหน้านั้นในปี 2559 หว่องมีกำหนดการเดินทางมาประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมปาฐกถาหัวข้อ “การเมืองของคนรุ่นใหม่” ในวาระครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เขาถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกักตัวไว้ 12 ชั่วโมงในฐานะบุคคลที่ถูกขึ้นบัญชีดำ(Black List) จากนั้นหว่องก็ถูกส่งตัวกลับฮ่องกง เหตุการณ์นี้สร้างความพอใจแก่รัฐบาลจีนอย่างมาก ในฐานะที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เป็นสหายเผด็จการผู้ภักดีต่อจีน
ผลพวงจากเด็กดื้อ: นิตยสารไทม์ (Time) ยกย่องเขาเป็นหนึ่งใน ‘วัยรุ่นที่ทรงอิทธิพลที่สุด’ (Most Influential Teens) แห่งปี 2557 และเสนอชื่อเขาเป็นบุคคลแห่งปีของไทม์ (Time Person of the Year) ประจำปี 2557 ด้วย นอกจากนี้ ใน ปี 2558 นิตยสาร ฟอร์จูน (Fortune) เรียกขานเขาว่า เป็นหนึ่งใน “ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก” (world’s greatest leaders) ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 66 หว่องถูกศาลพิพากษาจำคุก 3 เดือน ในความผิดฐานละเมิดข้อมูลของตำรวจนายหนึ่งที่มีส่วนในการปราบปรามผู้ชุมนุมฮ่องกงเมื่อ 4 ปีที่แล้ว….การต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาวฮ่องกงยังไม่สิ้นสุด ซึ่งอาจเป็นเส้นทางอันยาวไกล แต่โลกยังคงมองเห็นความพยายามของเยาวชนที่นั่นจนถึงวันนี้
- เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล
บทบาท: นักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน, นักแปล
ที่เกิดเหตุ: ประเทศไทย
แอคชั่น: เนติวิทย์หรือ “แฟรงก์” เป็นผู้ก่อตั้งสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย และกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีจุดมุ่งหมายเพื่อปฏิรูปการศึกษาไทย โดยการเคลื่อนไหวช่วงแรกๆ มุ่งเน้นไปที่เรื่องทรงผมนักเรียน การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา รวมถึงวิจารณ์พิธีกรรมหน้าเสาธงในโรงเรียน และการยกเลิกเกณฑ์ทหาร แม้การเคลื่อนไหวของเขาจะถูกฝ่ายอนุรักษ์ขวาจัดโจมตีอย่างหนักหน่วงก็ตาม ในปี 2563 เนติวิทย์ ในนามนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ออกมาเคลื่อนไหวทางสังคม กรณีที่สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ได้ออกจดหมายให้ผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ย้ายออกจากพื้นที่จุฬาฯ ภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2563 จนเกิดกระแสติดแฮชแท็ก #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม พูดง่ายๆ คือการไล่ที่ชาวบ้านออกไปเพื่อสร้างตึกสูงทำกำไรจากธุรกิจ จึงมีการล่ารายชื่อคัดค้านการรื้อถอนดังกล่าว ซึ่งศาลเจ้าแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และจุดศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยเชื้อสายจีนในสามย่านมาอย่างยาวนาน
เหตุการณ์สำคัญ: เขาเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลเผด็จการทหาร ช่วงปี 2563–2565 ก่อนหน้านั้นในปี 2560 เนติวิทย์กับเพื่อนสมาชิกสภานิสิตฯ อีก 7 คน ได้เดินออกจากพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ 2 รัชกาล ทำให้จุฬาฯสั่งตัดคะแนนความประพฤติของเขาและเพื่อน เป็นเหตุให้เนติวิทย์ขาดโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมหรือลงสมัครในตำแหน่งต่างๆ ของมหาวิทยาลัย และส่งผลให้เขาพ้นจากตำแหน่งประธานสภานิสิตฯ แต่เขาได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการไทยและนักเคลื่อนไหวทั่วโลก
ผลพวงจากเด็กดื้อ: คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเคยเสนอ “รางวัลสิทธิมนุษยชน” ประเภทเด็กและเยาวชน จากบทบาทการรณรงค์เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนในโรงเรียนให้เขา แต่เขาปฏิเสธรางวัลนี้ ต่อมาในปี 2561 สำนักข่าวสเตรทไทม์ส (Straits Times) ของสิงคโปร์ ยกย่องเนติวิทย์ เป็น 1 ใน 50 บุคคลชาวเอเชียที่น่าจับตามองแห่งปี (50 Asians to Watch) สาขาบุคคลสาธารณะผู้เคลื่อนไหวสังคม ประจำปี 2018 เขาได้รับเชิญให้เป็น 1 ในผู้ปาฐกถา ในงาน Oslo Freedom Forum ประจำปี 2018 จากมูลนิธิ Human Rights Foundation เวทีระดับโลกที่พูดถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน การเคลื่อนไหวของเนติวิทย์ในการต่อต้านอำนาจนิยมและพิธีกรรมในสถาบันการศึกษาเป็นเสมือนอิฐก้อนแรกที่ทำให้เยาวชนรุ่นน้องๆ ได้ผลักดันประเด็นนี้ต่อไปในการเคลื่อนไหวด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การยื่นจดหมายต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของกลุ่มนักเรียนเลว จนล่าสุดคือ การประท้วงอารยะขัดขืนโดยการแต่งชุดไปรเวทของ “หยก” นักเรียนหญิงวัย 15 ปีผู้ต้องหาคดี 112 ที่อายุน้อยที่สุด ที่ยังคงผลักดันประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง
- โอลิเวีย จูเลียนน่า (Olivia Julianna)
บทบาท: นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิการทำแท้ง, นักกิจกรรม LGBTQ+
ที่เกิดเหตุ: รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา
แอคชั่น: โอลิเวียนิยามตัวเองว่าเป็น เควียร์ (Queer) เป็นสาวพลัสไซส์ และเป็นนักเคลื่อนไหวชาวลาตินอายุ 20 ปี เธอเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการเมืองและการปกครองที่ Gen Z for Change ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มีเยาวชน 100% เป็นผู้บริหารและขับเคลื่อนองค์กร โอลิเวียใช้พื้นที่ทางการเมืองในฐานะลาติน่า(สาวเชื้อสายละติน) และเป็นตัวแทนทางวัฒนธรรมของเธออย่างสง่างามมาตั้งแต่อายุ 18 ปี เธอได้สร้างพลังและแรงบันดาลใจให้กับวัยรุ่นมากมายที่ประสบปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และยังเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในโครงการ The It Gets Better Project ซึ่งมีพันธกิจในการยกระดับ เพิ่มศักยภาพ และเชื่อมโยงเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล คนข้ามเพศ และเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลกด้วย
เหตุการณ์สำคัญ: แม้ว่าอเมริกาจะได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ แต่การเป็นเกย์และเป็นคนละตินอาจเป็นเรื่องท้าทายในการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอเมริกันชน โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิในการทำแท้งของวัยรุ่นทำให้เธอถูกโจมตีจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างหนัก โดยเฉพาะนักการเมืองชายจากพรรครีพับลิกัน Matt Gaetz ส.ส.จากรัฐฟลอริดา ที่ดูเหมือนจะชิงชังรังเกียจโอลิเวียอย่างมาก จนถึงขั้นเหยียดหยันล้อเลียนรูปลักษณ์ของเธอในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในงานหนึ่งที่รัฐฟลอริดา เมื่อปี 2022 ว่า “ผู้หญิงที่อ้วนและน่าเกลียดไม่จำเป็นต้องกังวลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์หรือต้องทำแท้ง” และบอกว่า “เหตุใดผู้หญิงที่มีโอกาสตั้งครรภ์น้อยที่สุดจึงเป็นคนที่กังวลมากที่สุดเกี่ยวกับการทำแท้ง”
หลังจากนั้นโอลิเวียก็ได้ทวีตตอบโต้อย่างไม่ยอมลดละ “ฉันทราบมาว่า แมทต์ แกทซ์ ถูกกล่าวหาว่าเป็นเฒ่าหัวงูไม่ใช่หรอ…” จนกลายเป็นสงครามทวีตอันดุเดือดระหว่างโอลิเวียและนักการเมืองพรรครีพับลิกัน ซึ่งความเห็นชาวทวิตเตอร์ส่วนใหญ่เทไปในทางตำหนิติเตียนนักการเมืองชายคนนี้ ซึ่งในอดีตเขาเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการล่วงละเมิดทางเพศเด็กหญิงที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ตั้งแต่ปี 2020 และการกระทำครั้งนี้ของเขาได้ดึงความสนใจไปสู่การสืบสวนข้อกล่าวหานี้อีกครั้ง
ผลพวงจากเด็กดื้อ: อย่างไรก็ตามจากการถูกบูลลี่ครั้งนี้ทำให้โอลิเวียสามารถระดมทุนได้มากกว่า 725,000 ดอลลาร์ สำหรับการดูแลการทำแท้ง ที่ถูกกระจายไปยังกองทุนทำแท้ง 50 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา โอลิเวียถึงกับทวิตขอบคุณแมทต์ สำหรับการกล่าวโจมตีของเขา ซึ่งช่วยให้เธอได้รับการบริจาคจำนวนมาก และในช่วง Pride Month เดือนแห่งการเฉลิมฉลองอันน่าภาคภูมิใจของชาว LGBTQ+ ในปีนี้ โอลิเวียได้ก้าวสู่ตำแหน่งโฆษกขององค์กร It Gets Better ที่เธอใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีในการรณรงค์เรื่องการทำแท้งของเพศทางเลือกได้ประสบผลสำเร็จ แม้จะต้องต่อสู้กับโรคการกินผิดปกติก็ตาม เธอได้มีโอกาสเข้าพบกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ทำเนียบขาว และได้ร่วมหารือเกี่ยวกับสิทธิของชาว LGBTQ+
- อิกบาล มาซิห์ (Iqbal Masih)
บทบาท: นักสิทธิมนุษยชนแรงงานเด็ก
ที่เกิดเหตุ: ปากีสถาน
แอคชั่น: อิกบาลถูกขายไปเป็นทาสเพราะงานแต่งของพี่ชาย เขาเกิดมาในครอบครัวที่ยากจนในหมู่บ้านเล็กๆ นอกเมืองละฮอร์ ตอนอิกบาลอายุได้เพียง 5 ขวบ แม่ของอิกบาลยืมเงิน 600 รูปี (ประมาณ 12 ดอลลาร์) จากเจ้าของโรงงานพรม เพื่อเอาไปจัดงานแต่งงานให้พี่ชายคนโตของครอบครัว ปากีสถานเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อในเรื่องการใช้แรงงานทาสเด็กเพราะราคาถูก อิกบาลจึงถูกขายไปเป็นทาสตั้งแต่เล็กๆ เขาเริ่มทำงานในโรงงานทอพรม โดยทำงานตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงเย็นและมักถูกปฏิบัติอย่างเลวร้าย ทั้งการทำโทษ การบังคับขู่เข็ญ ความอดอยาก และการเป็นหนี้เพิ่มพูนทั้งต้นทั้งดอกเบี้ยจนต้องเป็นทาสชดใช้หนี้ครอบครัวไปตลอดชีวิต เขาจึงตัดสินใจหนีออกจากโรงงานในเช้าตรู่วันหนึ่งในปี 2535 ตอนนั้นอิกบาลอายุ 10 ขวบ และได้เข้าร่วมกับกลุ่ม ‘แนวร่วมปลดปล่อยแรงงานที่ถูกผูกมัด’ ที่มี “เอชาน อุลลาห์ ข่าน” นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานเด็ก เป็นผู้ให้การช่วยเหลือและผลักดันเขาให้ได้เข้าเรียนในโรงเรียนสำหรับอดีตทาสเด็กที่เป็นหนี้ และร่วมเดินขบวนประท้วงการใช้แรงงานเด็ก อิกบาลได้ขึ้นปราศรัยเล่าถึงประสบการณ์เลวร้ายที่เขาต้องพบเจอในโรงงานทอพรมอย่างกล้าหาญ จนทำให้เด็กคนอื่นๆ เกิดพลังใจและกล้าพอที่จะหลบหนีออกจากโรงงานกว่า 3,000 คน โดยมีอิกบาลให้ความช่วยเหลือจนได้รับอิสรภาพ
เหตุการณ์สำคัญ: อิกบาลในวัย 12 ปี สามารถเรียนจบจากรร.BLLF ได้ภายในสองปีเท่านั้น เขาอยากเป็นทนายความเพื่อจะได้ช่วยเหลือแรงงานทาสเด็กที่ถูกผูกมัด ความกล้าหาญและฉลาดของอิกบาลได้รับการสนับสนุนจากองค์กรนานาชาติ ทำให้เขาได้ไปเยือนประเทศอื่นๆ และได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ทั้งที่สวีเดนและสหรัฐอเมริกา เพื่อแบ่งปันเรื่องราวของเขา กระตุ้นให้คนอื่นๆ เข้าร่วมการต่อสู้เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กเป็นทาส ในปี 2537 เขาได้รับรางวัล Reebok Human Rights Award ที่บอสตัน สหรัฐฯ และกล่าวสุนทรพจน์ในครั้งนั้นว่า “ฉันเป็นหนึ่งในเด็กหลายล้านคนที่ต้องทนทุกข์ทรมานในปากีสถานจากการใช้แรงงานผูกมัดและใช้แรงงานเด็ก แต่ฉันโชคดีที่ความพยายามของแนวร่วมปลดปล่อยแรงงานที่ถูกผูกมัด ได้นำพาฉันออกไปสู่อิสระ ฉันยืนอยู่ต่อหน้าคุณที่นี่วันนี้ หลังจากได้รับอิสรภาพ ฉันได้เข้าเรียนที่โรงเรียน BLLF อันเป็นโรงเรียนสำหรับเรา เหล่าแรงงานทาสเด็ก ขอบคุณ เอซาน อุลลาห์ ข่าน และ BLLF ที่ได้ทำงานเดียวกับที่ อับราฮัม ลินคอล์น ทำเพื่อทาสในอเมริกา วันนี้คุณเป็นอิสระ และฉันก็เป็นอิสระเช่นกัน”
ผลพวงจากเด็กน้อย: วันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2538 อิกบาลถูกลอบยิงเสียชีวิตโดย “มาเฟียพรม” ซึ่งเป็นแก๊งฆ่าทาสเด็กที่หนีออกจากโรงงานพรม อิกบาลในวัยเพียง 12 ปี ถูกยิงขณะไปเยี่ยมญาติที่เมืองมูริดเก พิธีศพของเขามีผู้มาร่วมไว้อาลัยกว่า 800 คน และนำไปสู่การประท้วงที่เมืองละฮอร์ โดยผู้ใช้แรงงาน 3,000 คน ซึ่งครึ่งหนึ่งอายุน้อยกว่า 12 ปี เพื่อเรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก หลังการเสียชีวิตของอิกบาลได้ก่อผลสะเทือนต่อธุรกิจการค้าพรมที่ใช้แรงงานเด็กในโรงงาน เรื่องราวของอิกบาลเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการก่อตั้งองค์กรต่างๆ เพื่อเด็กทั่วโลก เช่น We Charity ,องค์กรการกุศลและเยาวชนในแคนาดา, มูลนิธิเด็ก อิกบาล มาซิห์ ชาฮีด ซึ่งก่อตั้งโรงเรียนกว่า 20 แห่งในปากีสถาน และในปี 2552 รัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกาได้จัดตั้งรางวัล Iqbal Masih ตามชื่อของอิกบาล โดยมีการมอบรางวัลประจำทุกปีเพื่อยกย่องความพยายามอันยิ่งยวดของบุคคล บริษัท องค์กร หรือรัฐบาลแห่งชาติในการต่อสู้,การตระหนักรู้ และเพื่อยุติการแสวงประโยชน์จากแรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด.
เรื่อง: ฮัลวา ตาญี
เรียบเรียงข้อมูลจาก: www.goodgoodgood.co , www-amnesty-org-au , www-npr-org , itgetsbetter.org