ข่าวการสูญเสียผู้โดยสารจาก “เรือดำน้ำไททัน” ของบริษัท Ocean Gate ระหว่างที่พาทัวร์ดิ่งลึกลงใต้มหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อสำรวจซากเรือไททานิค เมื่อวันอาทิตย์ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้ชื่อของ “มหาสมุทรแอตแลนติก” กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังจากที่เคยสร้างตำนานและสถิติมากมายทั้งเรื่องราวของ สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา, หมู่เกาะที่สวยที่สุด, วาฬพันธุ์หายากที่สุดในโลก, แหล่งสมบัติใต้ทะเล เป็นต้น
นี่จึงเป็นที่มาของ “16 ข้อเท็จจริง เรื่องน่ารู้ และความลับของมหาสมุทรแอตแลนติก” ลองมาสำรวจกัน!
- มหาสมุทรแอตแลนติกก่อตัวขึ้นเมื่อประมาณ 180 ล้านปีที่แล้ว
- มหาสมุทรแอตแลนติกมีอาณาบริเวณพื้นที่จากเส้นอาร์กติกเซอร์เคิลไปจนถึงแอนตาร์กติกา ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1 ใน 5 ของพื้นผิวโลก มีพรมแดนติดกับทวีปอเมริกาเหนือและใต้ทางทิศตะวันตก ติดกับทวีปยุโรปและทวีปแอฟริกาทางทิศตะวันออก มีพื้นที่มากกว่า 41 ล้านตารางไมล์ ถือเป็นมหาสมุทรที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากมหาสมุทรแปซิฟิก
3. ชื่อของมหาสมุทรแอตแลนติก มีที่มาจากนิยายปรัมปรากรีก หมายถึง “ทะเลของแอตลาส” นักวิทยาศาสตร์และนักภูมิศาสตร์แบ่งมหาสมุทรแอตแลนติกจากสองทิศคือ เหนือกับใต้ เป็นมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือและแอตแลนติกใต้ ซึ่งแต่ละโซนจะมีกระแสน้ำในมหาสมุทรที่แตกต่างกัน ซึ่งมีอิทธิพลต่อสภาพอากาศทั่วโลก
4. เนื่องจากมหาสมุทรแอตแลนติกเชื่อมต่อสี่ทวีปของโลก จึงมักใช้เรือเพื่อการขนส่งทางทะเล เมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดบนชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ได้แก่ รอตเตอร์ดัม (เนเธอร์แลนด์) ฮัมบูร์ก (เยอรมนี) นิวยอร์ก (สหรัฐอเมริกา) บัวโนสไอเรส (อาร์เจนตินา) และโกลอน (ปานามา) เมืองใหญ่อื่น ๆ ในมหาสมุทรแอตแลนติก ได้แก่ ไมอามี (สหรัฐอเมริกา) เซาท์เปาโล (บราซิล) ลากอส (ไนจีเรีย) เคปทาวน์ (แอฟริกาใต้) คาซาบลังกา (โมร็อกโก) ลิสบอน (โปรตุเกส) ลอนดอน (สหราชอาณาจักร) และ เรคยาวิก ( ไอซ์แลนด์)
5. มีเกาะมากมายในมหาสมุทรแอตแลนติก แต่เกาะที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ บาฮามาส หมู่เกาะคานารี (สเปน) หมู่เกาะอะซอเรส (โปรตุเกส) หมู่เกาะเคปเวิร์ด และ กรีนแลนด์ (ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก) ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในมหาสมุทรแอตแลนติกเท่านั้น แต่กรีนแลนด์ยังเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย
6. สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา (Bermuda Triangle) อยู่ทางตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ มีเนื้อที่ประมาณ 2 ล้าน ตร.กม. อยู่ระหว่างจุด 3 จุดที่เป็นรูปสามเหลี่ยมในบริเวณ 3 ดินแดน ได้แก่ เปอร์โตริโก, มลรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา และเกาะเบอร์มิวดา สามเหลี่ยมเบอร์มิวดาเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ในปี ค.ศ. 1951 หลังจากมีเรือขนาดใหญ่รวมถึงเครื่องบินและเรือขนาดเล็กอื่นๆ หายสาบสูญภายในบริเวณนี้ จนได้รับการสมญานามว่า “สามเหลี่ยมปีศาจ” (The Devil’s Triangle) มีการนำเสนอเรื่องราวนี้ในหลากหลายข้อมูลซึ่งเป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่นำไปสู่ข้อถกเถียงต่างๆ เนื่องจากยอดสูญหายของเรือและเครื่องบินกว่า 1,000 ลำ โดยเคสการหายสาบสูญไปในบริเวณสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาที่โด่งดังที่สุดคือ กรณี Flight 19 หรือหมู่เครื่องบินทิ้งระเบิด TBM Avenger จำนวน 5 ลำที่หายสาบสูญไปเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 1945 และเมื่อใช้เครื่องบิน PBM Mariner BuNo 59225 ออกตามหา ก็ปรากฏว่าหายสาบสูญไม่เจอแม้แต่ซากเช่นเดียวกัน ขณะที่อีกทรรศนะจากนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียอย่าง ‘คาร์ล ครูสเซลนิกกิ’ และองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) มีความเห็นหนักแน่นมาหลายปีว่า สามเหลี่ยมเบอร์มิวดาไม่ได้มีเรื่องราวลึกลับใดๆ เลย การสูญหายของเรือและเครื่องบินทั้งหลายเป็นเพียงเรื่องของ “ความน่าจะเป็น” เท่านั้น โดย NOAA บอกว่า “ไม่มีหลักฐานว่าการสูญหายไปอย่างลึกลับเกิดขึ้นที่สามเหลี่ยมเบอร์มิวดาถี่กว่าพื้นที่ขนาดใหญ่อื่นๆ ที่มีการเดินทางจำนวนมาก” และให้เหตุผลว่า สามารถพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อมมาอธิบายการสูญหายส่วนใหญ่ในบริเวณนี้ได้ เช่น แนวโน้มของกระแสน้ำกัลฟ์สตรีมที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่รุนแรง จำนวนเกาะใหญ่น้อยในทะเลแคริบเบียนที่ทำให้การเดินเรือมีความยากและซับซ้อน รวมถึงหลักฐานที่บ่งชี้ว่าสามเหลี่ยมเบอร์มิวดามีผลกระทบต่อเข็มทิศ ทำให้เกิดความสับสนในการหาเส้นทาง ส่วน ครูสเซลนิกกิ ก็ชี้ให้เห็นว่า ทุกกรณีของการสูญหาย มีสภาพอากาศเลวร้ายหรือความผิดพลาดของมนุษย์ หรือทั้งสองอย่างเป็นสาเหตุที่แท้จริง แต่ถึงอย่างนั้นเรื่องราวเกี่ยวกับสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาก็ยังคงมีการถกเถียงกันทางความคิดอยู่อย่างต่อเนื่อง และยังคงหาบทสรุปของความจริงหนึ่งเดียวไม่ได้จนทุกวันนี้
7. มหาสมุทรแอตแลนติกเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหลากหลายชนิด ทั้งชนิดที่สามารถสังเกตเห็นได้ที่ผิวน้ำ และชนิดที่ซ่อนจากสายตาของมนุษย์ เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งปะการัง ปลา และหอยหลากหลายชนิดลึกลงไปกว่า 3,000 ฟุตใต้ทะเล ยังมีสายพันธุ์อื่นอีกมากมายอาศัยอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก ตั้งแต่โลมาไปจนถึงเต่าทะเล โดยเฉพาะสัตว์ทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ อย่าง สิงโตทะเล วาฬหลังค่อม พะยูน แมวน้ำ เต่าทะเลสีเขียว โลมา นกนางแอ่น นกออคส์ และ อัลบาทรอส มีรายงานว่าสัตว์หลายชนิดเหล่านี้ค่อยๆ หายไปอันเป็นผลมาจากมลพิษทางอุตสาหกรรม การทำประมงที่มากเกินไป และการทำเหมืองในทะเลที่รุนแรง (เช่น การทำเหมืองเพชรที่แอฟริกาใต้) ล้วนส่งผลกระทบโดยเฉพาะต่อสัตว์หายากอย่าง “วาฬไรท์แอตแลนติกเหนือ” (North Atlantic right whales) ซึ่งเป็นวาฬสายพันธุ์หนึ่งที่มีผู้ติดตามมากที่สุด แต่ขณะนี้จำนวนประชากรของพวกมันกำลังเข้าสู่การสูญพันธุ์อย่างรวดเร็วในอัตรากว่า 8% ต่อปี ปัจจุบันพบเหลือเพียง 336 ตัวเท่านั้นในแอตแลนติก นักวิจัยกังวลว่าวาฬเพศเมียสายพันธุ์นี้อาจต้องเผชิญกับความเครียดจากสิ่งแวดล้อม จนไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้เร็วพอที่จะฟื้นฟูประชากรวาฬที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
8. โศกนาฏกรรมจากไททานิก สู่ “ไททัน” เรือไททานิคจมลงในมหาสมุทรแอตแลนติก เมื่อปี 1912 หลังจากชนกับภูเขาน้ำแข็งระหว่างการเดินทางไปอเมริกา 111 ปีต่อมา “เรือดำน้ำไททัน” ที่นำเที่ยวชมซากเรือไททานิกก็ประสบโศกนาฏกรรมไม่ต่างกัน ทั้งยังมีความเกี่ยวพันกัน(แบบไม่บังเอิญ)ทางสายเลือด “ตระกูลสเตราส์” โดยตรงระหว่างผู้โดยสารเรือไททานิกสองสามีภรรยามหาเศรษฐี กับเวนดี รัช ภรรยาเจ้าของเรือไททันที่เกิดการระเบิดบีบอัดใต้น้ำเหลือเพียงซาก!
9. มีคนเพียงสองคนบนโลกใบนี้ที่ใช้เวลาสำรวจและบันทึกภาพซากเรือไททานิคเอาไว้มากที่สุดในโลก ที่ใต้มหาสมุทรแอตแลนติกสุดลึกล้ำ นั่นคือ เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ผู้กำกับคนดังแห่งฮอลลีวู้ด และ บ๊อบ บัลลาร์ด (Bob Ballard) ศาสตราจารย์ด้านสมุทรศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยโรดไอส์แลนด์, อดีตเจ้าหน้าที่กองทัพเรืออเมริกันวัยเกษียณ ทั้งสองคือ นักสำรวจใต้ทะเลลึกในตำนาน ที่ผ่านการดำดิ่งลงสำรวจซากเรือไททานิคมากกว่า 30 ครั้ง! นักสำรวจทั้งสองกล่าวถึง เหตุการณ์สูญหายเหลือเพียงซากของเรือดำน้ำไททันว่า “มันเป็นเหตุการณ์ที่ผิดปกติ บทเรียนของไททานิค คือ คุณควรฟังคำเตือน อย่าให้ความโลภและความเย่อหยิ่งมาแทนที่วิจารณญาณที่ดีที่สุดของคุณ ผมหมายถึงกัปตันเรือไททานิกนั้นมีความเชี่ยวชาญการเดินเรือมากและเป็นที่นับถืออย่างสูงก็จริง แต่การที่เขาไม่ฟังคำเตือนและนำพาเรือพุ่งเข้าสู่ทุ่งน้ำแข็งในคืนเดือนมืดแบบเต็มอัตรา มันได้คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 1,500 ชีวิต นั่นคือบทเรียน” บัลลาร์ดเห็นด้วยและกล่าวเสริมว่า “ถ้าคุณไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ คุณก็อาจเจอประวัติศาสตร์ซ้ำรอยได้”
10. จำนวนประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป แอฟริกา และอเมริกา รวม 52 ประเทศมีแนวชายฝั่งติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก โดยความยาวชายฝั่งของมหาสมุทรวัดได้ประมาณ 111,900 กิโลเมตร
11. จุดที่ลึกที่สุดของมหาสมุทรแอตแลนติก คือบริเวณที่มีชื่อเรียกว่า “ร่องลึกมิลวอกี” (Milwaukee Trench) โดยมีความลึกสูงสุดคือ 8,385 เมตร สถานที่นี้ตั้งชื่อตามเรือลาดตระเวนของอเมริกันที่มาค้นพบในปี 1939 ร่องลึกก้นสมุทรมิลวอกี ตั้งอยู่ในบริเวณร่องลึกเปอร์โตริโก
12. มหาสมุทรแอตแลนติกเป็น มหาสมุทรที่เค็มที่สุดในบรรดามหาสมุทรหลักทั้ง 5 แห่งของโลก โดยความเค็มสูงมีสาเหตุหลักมาจากแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกและเทือกเขาทั่วโลก
13. ชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกที่อยู่ทางตอนใต้ของแอฟริกามีแร่มูลค่ามหาศาล นั่นคือ เพชรและหินมีค่าอื่นๆ ที่เป็นสินค้าส่งออกมูลค่าสูงของประเทศแถบนี้ ในปี 2560 บริษัทเหมืองเพชรทางทะเล Debmarine Namibia ผลิตเพชรได้ 1.378 ล้านกะรัต โดยร่วมทุนกับบริษัทเพชรยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง De Beers และรัฐบาลนามิเบีย ดำเนินกิจการขุดเหมืองเพชร โดยใช้เรือตีนตะขาบเลาะไปตามแนวชายฝั่งนามิเบีย และออกสำรวจมหาสมุทรตลอดทั้งวัน เพื่อดูดเอาตะกอนจากใต้พื้นมหาสมุทรขึ้นมา เพื่อให้ได้เพชรล้ำค่าที่ขึ้นชื่อว่ามีความงดงามบริสุทธิ์ที่สุดในโลก
14. นักบินหญิงคนแรกที่ทำการบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกแบบไม่หยุดพักคือ “อมิเลีย เอียร์ฮาร์ท” (Amelia Earhart) โดยทำการบินสำเร็จในปี 1932 พร้อมกับเพื่อนนักบิน วิลเมอร์ สตุลต์ซ และอีกสี่ปีต่อมา อมีเลียขึ้นบินเพียงลำพังและสามารถทำสถิติการเป็นนักบินหญิงคนแรกของโลกที่บินเดี่ยวข้ามมหาสมุทรแห่งนี้ได้สำเร็จ
15. มหาสมุทรแอตแลนติกมีโบราณวัตถุทางประวัติศาสตร์มากกว่าที่พบในพิพิธภัณฑ์ทุกแห่งในโลกรวมกัน และโบราณวัตถุเหล่านี้ส่วนใหญ่พบอยู่ใต้ก้นมหาสมุทรแห่งนี้ เนื่องจากเป็นน่านน้ำมีเส้นทางการค้าและการเดินทางที่สำคัญที่สุดระหว่างซีกโลกตะวันตกและตะวันออกตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา โดยจุดที่มีการพบโบราณวัตถุมากที่สุดอยู่นอกชายฝั่ง Florida Keys ซึ่งเป็นจุดที่มีซากเรือจมอยู่ใต้น้ำมากกว่า 1,000 ลำ
16. Cancun Reef จัดเป็น “แนวปะการังที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก” (รองจาก Great Barrier Reef นอกชายฝั่งออสเตรเลีย) ทุ่งปะการังอันสวยงามอลังการแห่งนี้ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกนอกชายฝั่งเม็กซิโก.