ข้อมูลจากการศึกษา
Non-sugar sweetener มีทั้งสารสังเคราะห์และสารสกัดจากธรรมชาติ ได้แก่ อะซีซัลเฟมเค แอสปาร์แตม แอดแวนแทม ไซคลาเมต นีโอแตม แซคคาริน ซูคราโลส และสตีเวีย ซึ่งสกัดจากหญ้าหวาน
การศึกษาระยะสั้นพบว่า การใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลเพื่อช่วยควบคุมน้ำหนักตัว ไม่มีผลช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด หรือลดภาวะดื้ออินซูลิน จากการศึกษาใช้เวลาติดตามผลเป็น 10 ปี พบว่าผู้ที่บริโภคสารให้ความหวานต่อเนื่องกลับมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและอุบัติการณ์โรคอ้วนมากกว่า เพิ่มโอกาสเกิดโรคเบาหวานชนิดที่สอง โรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ หลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมอง ความดันโลหิต และเสียชีวิตมากขึ้น
ในสตรีมีครรภ์การรับประทานสารให้ความหวานปริมาณมากเพิ่มโอกาสทารกคลอดก่อนกำหนด ไม่มีผลต่อการเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และมีงานวิจัยหนึ่งพบว่าบุตรเป็นโรคหอบหืด และภูมิแพ้มากขึ้น
ส่วนการเกิดมะเร็ง พบความสัมพันธ์ชัดเจนเฉพาะระหว่างสารแซคคารินกับการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
ข้อยกเว้นของคำแนะนำนี้
เนื่องจากการวิจัยต่าง ๆ ของสารให้ความหวานไม่ได้วิจัยในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมาก่อน จึงไม่อาจใช้เป็นคำแนะนำมาตรฐานในการรักษาโรคได้
ทั้งนี้ สารให้ความหวานสามารถใช้ได้ในผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่อาหาร โดยผสมในปริมาณน้อย เช่น ยาที่รู้จักกันดีคือ ยาละลายเสมหะเม็ดฟู่ หรือยาบำรุงเข่ากลูโคซามีนแบบชงที่มีสารแอสปาร์แตมผสม หรือยาสีฟัน เป็นต้น
ทางเลือกอื่นคือ สารให้ความหวานกลุ่มน้ำตาลแอลกอออล์ เช่น ไซลิทอล ซอร์บิทอล แมนนิทอล อิริทริทอล ไอโซมอลต์ แล็กทิทอล และมอลทิทอล ไม่ได้รวมในการวิจัยเหล่านี้ อย่างไรก็ดี มีบทความวารสาร Nature Medicine วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 พบอุบัติการณ์โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นในผู้เข้าร่วมงานวิจัยที่มีระดับสารอิริทริทอลในเลือดสูงเทียบกับกลุ่มที่ระดับสารในเลือดต่ำกว่า โดยพบคำอธิบายในหลอดทดลองและหนูทดลองว่าทำให้เกล็ดเลือดเกาะกลุ่มไวขึ้นและเกิดลิ่มเลือดได้ แม้ว่าการศึกษานี้จะไม่สามารถสรุปได้ว่าการบริโภคอิริทริทอลเป็นสาเหตุของหลอดเลือดอุดตัน ก็ควรติดตามข้อมูลต่อไป
สรุปคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก
สารให้ความหวานแทนน้ำตาลไม่ใช่ทางเลือกสุขภาพในการควบคุมน้ำหนักตัว และลดความเสี่ยงของโรค NCD อันหมายรวมถึง โรคเบาหวานชนิดที่สอง โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง และอื่นๆ
แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลตามธรรมชาติ เช่น ผลไม้ อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่เติมน้ำตาลแทน
สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนทั่วไป ควรควบคุมการบริโภคน้ำตาลเช่นเดิม หมอแนะนำให้รับประทานอาหารธรรมชาติที่ผ่านการแปรรูปน้อย เช่น ผลไม้สด นมจืด โยเกิร์ตรสธรรมชาติ ถั่วเปลือกแข็งต่าง ๆ เป็นต้น สารให้ความหวานไม่มีคุณค่าอาหาร ไม่ควรบริโภคต่อเนื่อง