แมลงแหล่งโปรตีนของโลก ความหวังเศรษฐกิจเกษตรกรไทย BEDO หนุนพัฒนากระบวนการผลิต

BEDO เดินหน้าลดขยะอาหารให้เป็นศูนย์ ต่อยอดโครงการเพาะเลี้ยงแมลงโปรตีน (BSF) ทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืนและให้โปรตีนสูงสําหรับเป็นอาหารสัตว์ 

ไม่เพียงได้รับความนิยมในมนุษย์ ที่หลายคนเริ่มหันมาหาแหล่งโปรตีนใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางอาหารเพื่อสุขภาพ แต่แมลง ยังได้รับการตอบรับในฐานะ “แหล่งโปรตีน”แหล่งใหม่ของโลก ที่สามารถนำไปแปรรูปได้อีกหลากหลาย และมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญและเป็นโอกาสสำหรับการผลิตแมลงป้อนตลาดโลก

สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือเบโด้ (BEDO) สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ขยายผลโครงการเพาะเลี้ยงแมลงโปรตีน ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิต และใช้ประโยชน์แมลงโปรตีน BSF ให้แก่เกษตรกร โครงการเพาะเลี้ยงแมลงโปรตีน ต่อยอดโครงการเพาะเลี้ยงแมลงโปรตีน (Black Soldier Fly – BSF) สำหรับเป็นอาหารสัตว์ ทางการเกษตรเพื่อลดต้นทุนอาหารเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกรเพื่อใช้เป็นอาหารในการเพาะเลี้ยงแมลงโปรตีน เดินหน้าสู่เป้าหมายลดขยะอาหารให้เป็นศูนย์ (Zero Food Waste)

ปัจจุบัน BEDO ได้ขยายผลการถ่ายทอดองค์ความรู้โครงการเพาะเลี้ยงแมลงโปรตีน เพื่อถ่ายทอดความรู้ ขยายเครือข่ายเกษตรกรเพิ่มมากกว่า 10 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ศรีสะเกษ อยุธยา ปทุมธานี กาญจนบุรี จันทบุรี สุราษฎร์ธานี และเพชรบูรณ์ ฯ แมลงวันลายนอกจากจะเป็นแหล่งโปรตีน มีศักยภาพนำมาทดแทนปลาป่นและโปรตีนในอาหารสัตว์ได้แล้ว ยังเลี้ยงง่าย ไม่ค่อยมีศัตรูตามธรรมชาติ ขยายพันธุ์ได้ง่ายและเร็ว ใช้อาหารเหลือทิ้ง ทั้งอาหารที่เหลือจากการขายในร้านอาหาร ซุปเปอร์มาร์เกต เช่น ผัก ผลไม้ อาหารสด อาหารปรุงสำเร็จรูป มาเป็นอาหารให้แก่แมลงวันลาย เพื่อให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงเพื่อลดต้นทุนอาหารสัตว์ได้เกือบทุกชนิด ทั้งปลา ไก่ หมู จิ้งหรีด รวมถึงสัตว์แปลก ที่กำลังเป็นที่นิยมเลี้ยงในหมู่วัยรุ่น โดยอาหาร 3 กก. สามารถเลี้ยงหนอนแมลงวันลายได้ 1 กก.ต่อ 1 รอบการเลี้ยง หรือ 14 วัน

แมลงโปรตีน BSF มีการเจริญเติบโตรวดเร็ว วงจรชีวิตสั้น วางไข่ได้มาก ระยะที่เป็นตัวหนอนกินอาหารที่เป็นอินทรีย์วัตถุได้หลากหลายทั้งวัตถุดิบเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรอุตสาหกรรม เช่น เปลือกผลไม้ กากปาล์ม กากมันสำปะหลัง เศษผลิตภัณฑ์จากโรงเชือดสัตว์ ขยะอินทรีย์และจากครัวเรือนและชุมชน ตัวหนอนในระยะก่อนเข้าดักแด้จะมีโปรตีนสูง 39 – 56 % ไขมันคุณภาพสูง 25 – 35 % กรดอะมิโนที่จำเป็น และมีสารต้านเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคในสัตว์ นอกจากนี้เปลือกของดักแด้ยังมีไคโตซานที่เป็นสารสร้างภูมิคุ้มกันและสามารถนำไปผลิตพลาสติกชีวภาพได้ และมูลของตัวหนอนแมลงโปรตีน BSF สามารถนำมาผลิตเป็นวัสดุบำรุงดินหรือปุ๋ยอินทรีย์

โครงการแมลงโปรตีน เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแมลงสำหรับผลิตโปรตีนทางเลือกให้กับชุมชนเป็นอาชีพและพึ่งพาตนเอง สร้างผู้ประกอบการให้เกิดธุรกิจใหม่ภายใต้ ‘BCG Economy Model’ และพัฒนาให้เป็นแหล่งวัตถุดิบในการผลิตอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เพื่อสร้างรายได้ตามแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ ขับเคลื่อนนวัตกรรมจากผลงานวิจัยไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ด้วยการนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนโดยการใช้ชุดความรู้ที่พัฒนาจาก BEDO ร่วมกับภาควิชาการไปพร้อมกัน ซึ่งโครงการเพาะเลี้ยงแมลงโปรตีน สามารถเพิ่มมูลค่าจากขยะให้กลายเป็นอาหารสัตว์ทางการเกษตร ลดปัญหาการเกิดขยะอาหาร ลดค่าใช้จ่ายและสร้างรายได้ในระดับชุมชุนได้ โดย BEDO ร่วมขยายผลการถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตแมลงโปรตีนสำหรับเป็นอาหารสัตว์ให้แก่เกษตรกร เพื่อลดต้นทุนการผลิต สร้างรายได้ในระดับชุมชน ขยายเครือข่ายเกษตรกร และให้คำแนะนำในการเลี้ยงแมลงโปรตีนในพื้นที่ต่าง ๆ พร้อมขยายผลโครงการเพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมต่อไป ขณะที่ปัจจุบันมีสตาร์ตอัพต่อยอดผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ หนอนโปรตีนอบแห้ง ผงหนอนโปรตีน น้ำมันสกัดจากหนอนโปรตีน รวมถึงปุ๋ยชีวภาพอีกด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *