รู้จัก “บิดาแห่งระเบิดปรมาณู” ก่อนดูหนัง “ออปเพนไฮเมอร์” งานขึ้นหิ้งของ คริสโตเฟอร์ โนแลน

หากนึกถึงระเบิดปรมาณู คนส่วนใหญ่มักนึกถึง ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ ผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพันธภาพ E = mc2 ที่นำมาใช้สร้างระเบิดปรมาณู ทว่าระเบิดปรมาณูไม่อาจเกิดขึ้นจริงได้หากปราศจากบุรุษที่ชื่อ “ออปเพนไฮเมอร์” นักฟิสิกส์ทฤษฎี แห่ง “โครงการแมนฮัตตัน” (Manhattan Project) ที่รวมเอานักฟิสิกส์ นักเคมี และวิศวกรระดับหัวกะทิ มาช่วยกันสร้างอาวุธร้ายแรงที่ใช้ยุติสงครามโลกครั้งที่ 2

ในภาพยนตร์ระดับขึ้นหิ้งเรื่องล่าสุดของ “คริสโตเฟอร์ โนแลน” ที่เคยฝากผลงานหนังแอ๊คชั่นระดับโลกไว้มากมาย อาทิ Tenet (2020), Dunkirk (2017), Interstellar (2014) สำหรับผลงานล่าสุด Oppenheimer เป็นหนังแอคชั่นแนวชีวประวัติ เรื่องราวของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งระเบิดปรมาณู” ชายผู้มีความซับซ้อนในจิตใจ พอๆ กับความเป็นอัจฉริยะในตัวเขา เมื่อเขาถูกขอให้ไปช่วยงานสำคัญของรัฐบาลเพื่อหาหนทางยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 อันนำไปสู่การสร้างอาวุธร้ายแรงที่สุดที่โลกจารึกไว้!

ผลงานล่าสุดของผู้กำกับยอดฝีมือคนนี้ ดัดแปลงมาจากหนังสือรางวัลพูลิตเซอร์ ชื่อ American Prometheus: The Triumph and Tragedy of J. Robert Oppenheimer เขียนโดย ไค เบิร์ด (Kai Bird) และ มาร์ติน เจ. เชอร์วิน (Martin J. Sherwin จากเรื่องราวในภาพยนตร์ ชวนให้มาทำความรู้จักบุรุษคนสำคัญของโลกอย่าง “ออปเพนไฮเมอร์” ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งระเบิดปรมาณู” ที่แต่ละฉากชีวิตของเขาสุดจะพลิกผันและน่าทึ่ง จากวีรบุรุษของชาติในฐานะผู้คิดค้นอาวุธสุดล้ำที่ช่วยให้สงครามอันยาวนานจบลง มาสู่การถูกกล่าวหาว่าฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ จนกลายเป็นศัตรูของชาติ ชื่อเสียงต้องยับเยิน ถูก FBI ตามล่าล้างผลาญจนชีวิตพัง!

ออบเพนไฮเมอร์ในภาพยนตร์(แสดงโดย คิลเลียน เมอร์ฟี่ย์) กับตัวจริง (คนขวามือ)

ย้อนไปเมื่อ เจ.โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ ในวัย 19 ปี ได้เข้าเรียนสาขาเคมี ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาสามารถข้ามไปลงเรียนวิชาชั้นสูงได้โดยไม่ต้องลงเรียนวิชาพื้นฐานเลย เขาเรียนเคมีและฟิสิกส์ ควบคู่ไปกับการเรียนภาษาละติน กรีก บาลี สันสกฤต และปรัชญาตะวันออก พร้อมกับการตีพิมพ์บทกวี เขาจบการศึกษาภายในเวลา 3 ปี ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1

หลังสำเร็จการศึกษา ออปเพนไฮเมอร์ค้นพบว่า ตนเองหลงใหลในฟิสิกส์ จึงเริ่มต้นทำงานด้านฟิสิกส์ในระดับปริญญาโท โดยเป็นนักวิจัยในห้องทดลองคาเวนดิช มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ในปี 1925 ซึ่ง เจ.เจ. ธอมสัน (J. J. Thomson) เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 1906 ตกลงรับเขาเป็นนักเรียนที่คาเวนดิช

การวิจัยในห้องทดลองทำให้ออปเพนไฮเมอร์ตระหนักว่า พรสวรรค์ของเขามีไว้สำหรับฟิสิกส์เชิงทฤษฎี ไม่ใช่เชิงทดลอง และการได้พบกับนักฟิสิกส์ชื่อดังต่างๆ ในยุโรปที่กำลังพัฒนาทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัม ทำให้เขาหลงใหลในทฤษฎีควอนตัมอย่างดิ่งลึก

เจ.โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (ตัวจริง)

ออปเพนไฮเมอร์ จบปริญญาเอกในปี 1927 ด้วยวัยเพียง 23 ปี และรับตำแหน่งศาสตราจารย์ฟิสิกส์ ในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย การทำงานที่นี่ทำให้เขารู้จักเพื่อนๆ ในแวดวงนักวิทยาศาสตร์มากมาย ซึ่งต่อมามีส่วนร่วมกับออปเพนไฮเมอร์ในโครงการสำคัญของเขา

หลังสหรัฐฯ เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 กับฝ่ายสัมพันธมิตรในปี 1941 รัฐบาลสหรัฐฯ รู้ข่าวว่าฝ่ายนาซีเยอรมนีกำลังคิดค้นอาวุธเคมีที่มีอานุภาพร้ายแรง คือ ระเบิดปรมาณู ซึ่งถ้าทำสำเร็จ ฝ่ายสัมพันธมิตรอาจพ่ายแพ้ย่อยยับ สหรัฐฯ จำเป็นต้องเร่งสร้างระเบิดปรมาณูให้เสร็จก่อนนาซี จึงได้ระดมนักฟิสิกส์ นักเคมี และวิศวกรระดับหัวกะทิ มาทำงานในโครงการที่ชื่อว่า ‘โครงการแมนฮัตตัน’ เพื่อพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยมี นายพล เลสลี โกรฟส์ (General Richard Groves) เป็นผู้นำโครงการ และได้แต่งตั้งให้ ออปเพนไฮเมอร์เป็นผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์

ออปเพนไฮเมอร์ จึงลาออกจากการเป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยเพื่อมาทำงานในโครงการแมนฮัตตัน เขาสามารถทำให้นายพลโกรฟส์ประทับใจจากการอธิบายการออกแบบและการสร้างระเบิดปรมาณู พร้อมกับความรอบรู้ในด้านต่าง ๆ ทั้งฟิสิกส์ เคมี โลหะวิทยา อาวุธยุทโธปกรณ์ และวิศวกรรม จนนายพลโกรฟส์ชื่นชม

ออปเพนไฮเมอร์เป็นคนเลือกสถานที่ตั้งโครงการด้วยตนเอง สำหรับ “ภารกิจลับสุดยอด” นี้ ที่ตั้งจึงต้องห่างไกลจากบ้านเรือนและผู้คน รวมทั้งต้องมีระบบคุ้มกันที่แน่นหนา จนในที่สุดก็เลือกเอาทำเลบริเวณภูเขายอดราบแห่งหนึ่งทางตอนเหนือรัฐนิวเม็กซิโก ตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 2,200 เมตร และห่างจากเมืองกว่า 64 กิโลเมตร

‘โครงการแมนฮัตตัน’ สถานที่ลับซึ่งใช้สร้างและทดลองระเบิดปรมาณู

‘โครงการแมนฮัตตัน’ ขยายพื้นที่จนเป็นเมืองขนาดเล็ก มีการสร้างตึกรองรับนักฟิสิกส์ นักเคมี และวิศวกรระดับสุดยอดราว 6,000 คน ตึกทุกหลังทาด้วยสีเขียวเพื่อให้กลมกลืนไปกับผืนป่า เวลากลางคืนบนท้องถนนจะไม่มีแสงไฟ มีรั้วลวดหนามล้อมเพื่อกันคนในไม่ให้ออก คนนอกไม่ให้เข้า ประชาชนหรือศัตรูจึงไม่อาจรับรู้ถึงการมีอยู่ของโครงการแมนฮัตตัน

หลังจากซุ่มพัฒนาอาวุธทำลายล้างสูง ในที่สุดการทดสอบระเบิดปรมาณูครั้งแรกก็เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ปี 1945 เวลา 05.30 น. กลางทะเลทรายในรัฐนิวเม็กซิโก ห่างจากลอสอาลาโมสไปทางใต้เกือบ 320 กิโลเมตร ขณะที่ออฟเพนไฮเมอร์เห็นผลการทดสอบ เขารำลึกถึงถ้อยคำในคัมภีร์ภควัทคีตา คัมภีร์ของศาสนาฮินดูว่า

“ข้าได้กลายเป็นยมทูต ผู้ทำลายล้างโลก” (“I AM BECOME DEATH, THE DESTROYER OF WORLDS”)

หลังการทดลองระเบิดปรมาณูครั้งแรกไม่นาน ออปเพนไฮเมอร์ได้เสนอให้ แฮร์รี่ ทรูแมน (Harry Truman) ประธานาธิบดีสหรัฐฯขณะนั้น ใช้ระเบิดปรมาณูเพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเร็วที่สุด นำไปสู่การทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิม่า ในวันที่ 6 สิงหาคม ปี 1945

ในวันทิ้งระเบิด ออปเพนไฮเมอร์และทีมงานต่างโห่ร้องยินดีกับความสำเร็จ ขณะเดียวกัน เขาก็รู้สึกเสียดายที่พัฒนาอาวุธนี้ไม่ทันใช้กับนาซีเยอรมัน แต่เพียงไม่กี่วันต่อมา เมื่อสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูอีกลูกที่เมืองนางาซากิ ในวันที่ 9 สิงหาคม ปี 1945 ออปเพนไฮเมอร์และทีมงานหลายคนไม่พอใจอย่างมาก เพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยที่รัฐบาลต้องใช้ระเบิดลูกที่สองกับญี่ปุ่น ซึ่งกำลังบอบช้ำอย่างหนักจากผลของระเบิดปรมาณูลูกแรกไปแล้ว ความเสียหายหลังทิ้งระเบิดปรมาณูที่ญี่ปุ่นรุนแรงกว่าที่ออปเพนไฮเมอร์คาดคิด และมันได้กลายเป็นตราบาปในใจของเขาตลอดมาจวบจนลมหายใจสุดท้าย

หลังเหตุการณ์ทิ้งระเบิด เขาเดินทางไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อยื่นจดหมายต่อรัฐมนตรีกระทรวงการสงคราม โดยแสดงการต่อต้านชิงชังต่อปฏิบัติการดังกล่าว และต้องการจะเห็นการยุติการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ต่อมาเขามีโอกาสได้เข้าพบประธานาธิบดีทรูแมน และบอกความรู้สึกผิดทั้งหมดที่มี เพื่อโน้มน้าวให้รัฐบาลสหรัฐหยุดยั้งโครงการอาวุธดังกล่าวเสีย ทว่านั่นกลับทำให้ทรูแมนโกรธเกรี้ยวไล่ตะเพิดเขากลับไป นับจากนั้นมา ออปเพนไฮเมอร์ก็กลายเป็น “สัญลักษณ์ของความขัดแย้งระหว่างวิทยาศาสตร์กับจริยธรรม” เพราะแม้เขาจะสามารถสร้างความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ให้มวลมนุษยชาติ แต่ผลงานของเขากลับกลายเป็นสิ่งเข่นฆ่าทำลายล้างชีวิตผู้บริสุทธิ์มากมายเช่นกัน

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องราวของโครงการแมนฮัตตันได้เผยแพร่สู่สาธารณชน สื่อต่างพร้อมใจกันขนานนามออปเพนไฮเมอร์ว่า “บิดาแห่งระเบิดปรมาณู” ในฐานะวีรบุรุษของชาติ ได้ขึ้นหน้าปกนิตยสาร Time ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1948 และนิตยสาร Life ในเดือนตุลาคม ปี 1949

ขณะนั้นโลกเข้าสู่ช่วงสงครามเย็น สองขั้วมหาอำนาจระหว่างสหรัฐฯ ผู้นำโลกเสรี กับสหภาพโซเวียต ผู้นำโลกคอมมิวนิสต์ ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง สหรัฐฯ ประเมินโซเวียตต่ำเกินไป เพราะคิดว่าตนเองมีอาวุธปรมาณูในมือ แต่กลายเป็นว่าโซเวียตก็สามารถสร้างระเบิดปรมาณูได้สำเร็จในปี 1949

บรรดานักการเมืองและนักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ หลายคนเห็นพ้องกันว่า สหรัฐฯ ต้องสร้างระเบิดไฮโดรเจนที่มีพลังในการทำลายมากกว่าระเบิดปรมาณูหลายพันเท่า เรื่องนี้เองที่ทำให้ออปเพนไฮเมอร์ค้านหัวชนฝา จนเป็นที่มาของ “งานกำจัดคนคิดต่าง” จากรัฐ โดย FBI พยายามหาช่องเล่นงานออปเพนไฮเมอร์ โดยแปะป้ายกล่าวหาว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์ และเป็นสายลับให้โซเวียต เนื่องจาก “คิตตี้” ภรรยา และ “แฟรงก์” น้องชายของเขา รวมถึงจิตแพทย์สาวชู้รัก ล้วนเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหรัฐอเมริกา เขาจึงถูกเหมารวมว่าเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วย!

ตัวละครในภาพยนตร์ (ออพเพนไฮเมอร์ แสดงโดย คิลเลียน เมอร์ฟีย์ ,ภรรยา แสดงโดย เอมิลี บลันต์ และชู้รัก แสดงโดย ฟลอเรนซ์ พิวจ์)

และด้วยข้อหาที่รุนแรงนี้ FBI จึงดำเนินการสอบสวนออปเพนไฮเมอร์ มีการดักฟังและติดตามตัวเขาทั้งที่บ้านและที่ทำงาน แม้ว่าจะหาหลักฐานไม่ได้เลย แต่การถูกยัดข้อหาฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ก็ทำให้ชีวิตของเขาต้องด่างพร้อยและแทบพังทลาย ถ้าเป็นยุคนี้ก็เรียกว่า “โดนทัวร์ลง” จากสังคม เขาต้องอดทนต่อสู้กับข้อกล่าวหาเพื่อกู้ชื่อเสียงตัวเองกลับมา จนถึงปี 1954 เมื่อ FBI ดำเนินการสอบสวนแล้วเสร็จ และยืนยันว่า เขาคือผู้บริสุทธิ์! ข้อกล่าวหาที่ว่าออปเพนไฮเมอร์ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์จึงเป็นอันตกไป แต่นั่นก็ทำให้ชีวิตเขาพังไปแล้ว

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงมีจุดยืนต่อต้านโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ อย่างออกหน้าแข็งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลและกองทัพสหรัฐฯ มีแผนเร่งผลิตและสะสมอาวุธนิวเคลียร์มากขึ้นเพื่อต่อสู้กับโลกคอมมิวนิสต์ จนก้าวไปสู่ความเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์

จากผู้สร้างอาวุธทำลายล้าง “ออปเพนไฮเมอร์” กลายเป็นผู้นำการต่อต้านการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ตราบจนลมหายใจสุดท้ายในชีวิต ก่อนจะลาโลกไปด้วยวัย 62 ปี ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ปี 1967 ด้วยโรคมะเร็งลำคอ(จากการสูบบุหรี่อย่างหนัก) พิธีศพของออปเพนไฮเมอร์ จัดขึ้นในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 1967 ที่อเล็กซานเดอร์ ฮอลล์ ในมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน มีนักวิทยาศาสตร์ นักการเมือง และทหาร มาร่วมแสดงความอาลัยเกือบพันคน

จนกระทั่งปี 1973 ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี แห่งสหรัฐฯ ได้มอบ ‘รางวัลเอ็นริโก’ รางวัลที่ยกย่องนักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ แก่ออปเพนไฮเมอร์ (ผู้ซึ่งลาโลกไปแล้ว) ในฐานะนักฟิสิกส์ทฤษฎี และผู้อำนวยการโครงการแมนฮัตตัน

คิลเลียน เมอร์ฟีย์ รับบทสำคัญเป็น “ออปเพนไฮเมอร์”

กลับมาที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ของโนแลน ได้เล่าเรื่องราวช่วงสำคัญในชีวิตของออปเพนไฮเมอร์ แน่นอนว่าด้วยสไตล์เฉพาะตัวของโนแลน ย่อมเป็นที่คาดหวังของแฟนๆ และหนังเรื่องนี้ก็ถูกจับตามองมาตั้งแต่ตอนประกาศสร้าง อย่างไรก็ตาม โนแลนยังคงสร้างสรรค์ผลงานระดับมาสเตอร์พีชที่เป็นตัวของตัวเอง ลุ่มลึกด้วยบทที่มีชั้นเชิง แม้เรื่องนี้จะออกมาในโทนขึงขัง จริงจัง เต็มไปด้วยบทสนทนา แต่ที่จะทำให้คนดูอิ่มเอมไปกับหนังก็คือ เสน่ห์ของงานภาพ มุมกล้อง เทคนิคการถ่ายทำและงานวิช่วลที่ยอดเยี่ยม

คริสโตเฟอร์ โนแลน และเหล่านักแสดงหลัก

โดยเฉพาะนักแสดงตัวหลักอย่าง คิลเลียน เมอร์ฟีย์ ที่มารับบทสำคัญเป็น “ออปเพนไฮเมอร์” ร่วมด้วย เอมิลี่ บลันต์, โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์, แมท เดม่อน, ฟลอเรนซ์ พิวจ์, จอร์จ ฮาร์ตเนต และ รามี มาเล็ค เรียกว่ารวมเอาตัวพ่อตัวแม่ระดับยอดฝีมือไว้แน่น หนังเพิ่งเข้าโรงไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ใครเป็นแฟนหนังโนแลน ต้องไม่พลาด!

(ชมตัวอย่างภาพยนตร์)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *