แรงร้ายร้อนกว่าเดิม! การเมืองไม่นิ่งเอลนีโญมาแล้ว!คาดพ่นพิษหนักสุดในรอบทศวรรษ!

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ประกาศเตือนว่า “ปรากฏการณ์เอลนีโญในปีนี้ ได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งจะทำให้โลกร้อนขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาก่อนมาก

ซึ่งปกติแล้วปรากฏการณ์เอลนีโญมักจะเกิดขึ้นทุก ๆ 2-7 ปี ในปีนี้คาดว่าจะเกิดขึ้นช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม อ้างอิงจากการศึกษาในวารสาร Science เผยว่า ผลกระทบที่อาจเกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญครั้งนี้ คือ มันอาจทำให้เศรษฐกิจโลกเสียหายถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปจนถึงปี 2029

โดยนักวิจัยจากวิทยาลัยดาร์ตมัธ มีการสำรวจวิจัยและพบว่า  ปรากฏการณ์เอลนีโญส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว แม้ว่าปรากฏการณ์จะผ่านพ้นไปแล้ว  โดยวิเคราะห์จากสถานการณ์หลังเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยมีการยกกรณีศึกษา ภาวะเศรษฐกิจหลังเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในปี  1982-1983: ในช่วง 5 ปีหลังจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทั่วโลกสูญเสียรายได้ 4.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือในช่วงภาวะเศรษฐกิจหลังเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในปี  1997-1998: ทั่วโลกสูญเสียรายได้ 5.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าผลกระทบด้านลบจากปรากฏการณ์เอลนีโญจะคงอยู่เป็นเวลาหลายปี ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

แต่ความรุนแรงของผลกระทบก็แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ อย่างในสหรัฐอเมริกา GDP ลดลง 3% แม้ว่าจะผ่านไป 5 ปีหลังปรากฏการณ์เอลนีโญ เมื่อเทียบกับประเทศในเขตร้อน เช่น เปรูและอินโดนีเซีย ซึ่งได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญมากกว่า ทำให้ GDP ของพวกเขาลดลงมากกว่า 10%

คริสโตเฟอร์ คาลลาฮาน  นักศึกษาจากวิทยาลัยดาร์ตมัธ ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัยกล่าวว่า ระบุว่า “มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรง และอาจสร้างความเสียหายอย่างมากต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในประเทศเขตร้อน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลงถึง 10 ปี

ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ถึงผลกระทบในปรากฏการณ์ เอลนีโญ ว่า เอลนีโญที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 อาจสร้างความเสียหายต่อพืชเกษตรสำคัญของไทย ที่จะมีผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงนี้ ประกอบด้วย ข้าวนาปี มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และผลไม้

รวมคิดเป็นมูลค่าความเสียหายในปี 2566 ราว 48,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นความเสียหายในข้าวเป็นหลักที่ 37,631 ล้านบาท หรือเกือบร้อยละ 80 ของความเสียหายภาคเกษตรทั้งหมด

ทั้งนี้ หากพิจารณาเทียบความเสียหายจากภัยแล้งที่มีต่อข้าวในอดีต พบว่า ภาพรวมความเสียหายของข้าวในปี 2566 น้อยกว่าในปี 2558 ที่เกิดภัยแล้งรุนแรง ทั้งในเชิงมูลค่าและปริมาณผลผลิตข้าวที่เสียหาย แต่มากกว่าปี 2563 ที่เกิดภัยแล้งล่าสุด

นอกจากนี้ ตัวเลขความเสียหายดังกล่าวนี้ เป็นการประเมินความเสียหายในด้านพืชเท่านั้น ขณะที่ด้านปศุสัตว์และประมง แม้จะเป็นช่วงที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดมากเช่นกันในช่วงครึ่งปีหลังที่อาจได้รับผลกระทบจากความร้อนแล้ง แต่ภาพรวมผลผลิตปศุสัตว์และประมงทั้งปีนี้คงไม่ลดลงจากปีก่อนที่เผชิญโรคระบาดในสุกรอย่างโรค ASF

มองไปในปี 2567 ตามที่ NOAA คาดว่า เอลนีโญจะทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าปี 2566 และอาจลากยาวไปถึงเดือนมี.ค.2567 เป็นอย่างน้อย ทำให้ไทยคงต้องเผชิญสถานการณ์น้ำที่ยากลำบากมากขึ้น ทั้งในแง่ของปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนที่สะสมมาจากปี 2566 ที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงปริมาณน้ำฝนที่น่าจะลดลง

โดยอาจมีตัวเลขความเสียหายมากขึ้นกว่าปี 2566 คือมากกว่า 48,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นความเสียหายที่มีต่อข้าวนาปรังเป็นหลัก เพราะเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวนาปรังจะทยอยออกสู่ตลาดจำนวนมากในไตรมาสที่ 1 ซึ่งต้องพึ่งพาน้ำในเขื่อนเป็นหลักและปลูกมากในภาคกลางที่เผชิญระดับน้ำในเขื่อนอยู่ในเกณฑ์น้อยวิกฤต ผนวกกับผลผลิตต่อไร่ที่สูง ทำให้ความเสียหายคงมีมาก รวมไปถึงพืชฤดูแล้งอื่นอย่างมันสำปะหลัง และอ้อย ที่อาจได้รับความเสียหายชัดเจน

นอกจากนี้ ด้วยสภาพอากาศ โดยรวมที่ร้อนแล้งในปี 2567 อาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงการปลูกข้าวนาปีในไตรมาสที่ 2 ด้วย ที่อาจปลูกไม่ได้หรือมีผลผลิตต่อไร่ที่ลดลง กดดันผลผลิตข้าวนาปี ทำให้ภาพรวมในปี 2567 ความเสียหายของข้าวคงมีสูง

เพราะมาจากทั้งข้าวนาปรังและนาปี ซึ่งอาจมีตัวเลขความเสียหายใกล้เคียงหรือมากกว่าปี 2558 อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามระดับความรุนแรงของเอลนีโญในระยะข้างหน้า รวมถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบที่จะส่งผลต่อประเภทพืชที่ได้รับความเสียหายด้วย

ภาพประกอบข่าวจากแฟ้ม

ปรากฏการณ์เอลนีโญไม่ได้ส่งผลกระทบต่อไทยเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านในแถบภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกด้วย เช่น เวียดนาม เมียนมา สปป.ลาว อินเดีย เป็นต้น ซึ่งเป็นแหล่งผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญในโลกเช่นกัน เช่น ข้าว มันสำปะหลัง น้ำตาล เป็นต้น

ดังนั้น ผู้ประกอบการกลางน้ำ-ปลายน้ำที่ใช้วัตถุดิบต้นน้ำจากแหล่งผลิตในแถบเอเชียคงต้องเผชิญราคาสินค้าเกษตรในระดับสูง ขณะที่ในอีกซีกโลกหนึ่งอย่างประเทศในแถบอเมริกาใต้จะแตกต่างกัน

โดยจะมีปริมาณฝนที่มากกว่าปกติในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งแม้จะช่วยหนุนผลผลิตธัญพืชสำคัญให้เพิ่มขึ้น เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ข้าวโพด เป็นต้น แต่เนื่องจากล่าสุด รัสเซียได้ประกาศยุติข้อตกลงส่งออกธัญพืชของยูเครนผ่านทะเลดำตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.2566

จึงอาจส่งผลต่อภาพรวมราคาธัญพืชโลกที่น่าจะยืนในระดับสูง กระทบต่อผู้ประกอบการกลางน้ำ-ปลายน้ำที่ต้องเผชิญราคานำเข้าธัญพืชต้นน้ำจากแหล่งผลิตในประเทศแถบอเมริกาใต้ที่มีราคาสูงเช่นกัน

ท้ายสุด ในระยะข้างหน้า ภาพรวมราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรโลกน่าจะยังคงยืนสูง จากปัจจัยเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศแปรปรวน และประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์เป็นสำคัญ จะกระทบต่อธุรกิจกลางน้ำ-ปลายน้ำที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบให้ต้องเผชิญราคาวัตถุดิบต้นน้ำที่อยู่ในระดับสูง

และยังอาจเสี่ยงขาดแคลนวัตถุดิบได้ในบางจังหวะ ซึ่งไทยเองก็คงได้รับผลกระทบไปในทิศทางที่สอดคล้องกับตลาดโลกเช่นกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการกลางน้ำ-ปลายน้ำของไทย คงได้รับผลกระทบดังกล่าวในระดับที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางธุรกิจและความยืดหยุ่นในการปรับตัวของผู้ประกอบการแต่ละราย

ดังนั้น การเร่งเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการกลางน้ำ-ปลายน้ำ เพื่อให้สามารถรับมือกับความไม่แน่นอนด้านราคาและอุปทานสินค้าเกษตรต้นน้ำ นับว่ามีความจำเป็น”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *