6 คดี 9 หมายจับกับศาล 2 คดีกับ ปปช. “ทักษิณ”กลับไทย 10 ส.ค.จับตาสัญญาณทางการเมือง และการเตรียมความพร้อมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ-ราชทัณฑ์ เตรียมรับทุกสถานการณ์
หลัง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ออกมาเปิดเผยเกี่ยวกำหนดการเดินทางกลับประเทศไทย ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีกำหนดเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ที่จะถึงนี้ ด้วยเครื่องบินส่วนตัวมาลงที่สนามบินดอนเมือง
ได้มีความเคลื่อนไหวจากหลายฝ่ายเกี่ยวกับการเตรียมการเดินทางกลับของอดีตนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เริ่มต้นที่ การเตรียมความพร้อมรับมือด้านการดำเนินคีด ด้านความปลอดภัย และด้านความสะดวก ซึ่งเป็นส่วนรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. กล่าวถึงกรณีการเดินทางกลับประเทศไทย ของอดีตนายกฯทักษิณ ว่า “สำหรับกรณีผู้ที่มีหมายจับและคดียังอยู่ในอายุความ ข้อมูลต่างๆ จะแสดงในระบบฐานข้อมูลของด่านตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบิน เมื่อเดินทางเข้ามาผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในสนามบิน ระบบจะปรากฏข้อมูลหมายจับของศาล ให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองหน้าด่านตรวจนั้นๆ ทราบทันที หน้าที่ของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองคือ จะต้องแจ้งให้บุคคลนั้นทราบ และควบคุมตัวผู้ต้องหาส่งให้กับศาลตามหมายจับ
ซึ่งขั้นตอนหลังจากนั้น ก็ขึ้นอยู่กับคำสั่งศาล ว่า มีคำสั่งดำเนินการอย่างไรต่อผู้ต้องหา ในกรณีเดินทางเข้าเมืองโดยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว แล้วลงจอดในสนามบินอื่น เช่น บน.6 ของกองทัพอากาศ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับสนามบินดอนเมือง ก็จะต้องผ่านขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง เช่นเดียวกับการเข้าเมืองผ่านสนามบินทั่วไป
ส่วนด้านการข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ ขณะนี้ยังไม่พบความเคลื่อนไหวของกลุ่มใดและยังไม่พบการข่าวที่น่ากังวล แต่เจ้าหน้าที่จะเฝ้าระวังไปจนถึงช่วงเวลาที่นายทักษิณจะเดินทางกลับ ตลอดจนช่วงเวลาหลังเดินทางกลับไทยแล้ว
พล.ต.ต.โชคชัย งามวงศ์ รอง ผบช.น. เปิดเผยถึงมาตรการในการดูแลรักษาความปลอดภัย ในห้วงเวลาสถานการณ์นี้ว่า ได้เตรียมการมาแล้วตั้งแต่ช่วงแรกที่มีกระแสข่าวว่า นายทักษิณจะกลับประเทศไทย ซึ่งยังคงเป็นไปตามมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัย อีกทั้งมีการเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวว่าอดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางกลับมาจริงหรือไม่มาโดยตลอด
สำหรับมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยดังกล่าว มีความเป็นไปได้ ว่า จะเป็นไปตามขั้นตอนที่ระบุตามเอกสารลับของทาง บช.น. ที่ถูกเผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้ เนื้อหาเอกสารระบุ การเตรียมความพร้อมในการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ โดยมีขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมาย
กรณีมีผู้ต้องหาตามหมายจำคุกเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยเครื่องบินโดยสาร ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง หรือสุวรรณภูมิ การรักษาความปลอดภัยตลอดเส้นทางทั้งหลักและรองจากท่าอากาศยาน ศาลฎีกา กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
ด้าน นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงแนวทางการเตรียมความพร้อมของกรมราชทัณฑ์ ในกรณีการรับตัวนายทักษิณ ภายหลังเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ว่าเบื้องต้นคาดว่าเมื่อนายทักษิณเดินทางกลับเข้าประเทศไทยโดยลงที่สนามบินดอนเมือง ขั้นตอนแรกจะเป็นในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ที่จะรับตัวและทำบันทึกการจับกุมต่างๆตามขั้นตอน
ในส่วนของกรมราชทัณฑ์จะต้องว่าไปตามหมายศาล โดยรอดูว่าจะมีคำสั่งหรือหมายศาลคดีใดแจ้งมายังกรมราชทัณฑ์เพื่อเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะได้เดินทางไปยังเขตพื้นที่ของศาลนั้นๆ จากนั้นเมื่อนายทักษิณเข้าสู่ขั้นตอนของศาลเสร็จสิ้น หากเป็นคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะควบคุมตัวมายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ทางราชทัณฑ์ยังไม่ได้รับหมายศาลใดๆ
สำหรับกระบวนการจำแนกคัดกรองผู้ต้องขัง ถึงแม้นายทักษิณ จะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ราชทัณฑ์ก็ดำเนินการตามขั้นตอนทั่วไป เป็นไปตามระเบียบการจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง โดยจะมีการตรวจสอบประวัติ ทำทะเบียนประวัติ
อย่างไรก็ตาม นายทักษิณ ถือเป็นผู้ต้องขังสูงอายุ หากเจ้าตัวมีโรคประจำตัวที่จะต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง ทางราชทัณฑ์จะมีแพทย์ประจำเรือนจำฯ ที่จะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจในการจำแนกผู้ต้องขัง โดยจะนำตัวไปยังห้องกักโรคของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ทำการกักโรคเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ประมาณ 10 วัน
ถัดไปจึงเข้าสู่กระบวนการรักษาโรค ย้ายไปยังหอผู้ป่วย คล้ายกรณีของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ ส่วนกรอบระยะเวลาของการรักษาโรคไม่ได้มีกำหนดไว้ จะเป็นในส่วนของแพทย์ประจำเรือนจำที่จะเป็นผู้ประเมินอาการของผู้ต้องขัง และให้ความเห็นเรื่องการรักษาว่าในระหว่างกระบวนการดังกล่าว เจ้าตัวควรแก่การเสร็จสิ้นกระบวนการรักษาแล้วหรือไม่ อย่างไร
ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ในฐานะรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเกี่ยวกับการขออภัยโทษในคดีของนายทักษิณว่า “ก็เป็นสิทธิของผู้ต้องขังทุกคน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องอยู่ระหว่างการลงโทษ เมื่อรับโทษแล้ว ก็สามารถยื่นเรื่องได้ตั้งแต่วันที่รับโทษ ส่วนขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษ วิษณุ ระบุว่า เมื่อกลับมาและเข้าสู่ระบบ แล้วพร้อมที่จะเขียนฎีกา ก็สามารถดำเนินการได้ทันที แต่หากยื่นไปแล้วไม่มีการโปรดเกล้าฯ จะไม่สามารถยืนอีกได้ภายใน 2 ปี
ส่วนความเคลื่อนไหวในทางการเมือง นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองชื่อดัง เปิดเวทีแถลงการตั้งสมมติฐานสมการ “ทำไมนายทักษิณ ชินวัตร กลับไทย” ด้วยการเปิดภาพถ่ายของนายทักษิณ ที่ถ่ายภาพร่วมกับน้องชาย น้องสาว และเลขาธิการพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ไปจนถึงตัวแทนฝ่ายทหาร
โดยนายชูวิทย์ อ้างว่า ภาพถ่ายดังกล่าวถูกถ่ายภายในโรงแรมแห่งหนึ่งบนเกาะเกาลูน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง โดยเป็นการพบปะ “ซุปเปอร์ดีล” พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการไปพบปะกันเพื่อหารือในการจัดตั้งรัฐบาล ตามสูตร 3 คือ ให้พรรคภูมิใจไทยเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคชาติพัฒนาและเพื่อไทยเป็นพรรคร่วม นั่นหมายถึงว่าเป็นการผลักให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน
และอีกเรื่องสำคัญ คือ สูตรนี้เอื้อต่อการกลับบ้านของนายทักษิณนอกจากเป็นผู้คุมเกมแล้วยังมีอีกสถานะ คือ เป็นตัวประกันของเกมการเมืองในครั้งนี้ด้วย ซึ่งภายหลังกลับถึงประเทศไทย แม้จะมีการรับตัวในฐานะผู้ต้องหา คุมตัวไปส่งศาล ไปจนถึงศาลฯ สั่งให้ส่งตัวเข้าเรือนจำตามขั้นตอนทางกฎหมายแล้วแต่เกมการเมืองสูตร 3 จะยังดำเนินต่อไป โดยกำหนดโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 4 ส.ค.นี้ นายชูวิทย์ มองว่า การโหวตจะไม่สำเร็จ แต่จะสำเร็จในนัดที่ 4 ซึ่งจะมีกำหนดการหลังจากที่นายทักษิณกลับถึงประเทศไทยแล้ว คือหลังวันที่ 10 ส.ค.2566 พร้อมโชว์สแตนดี้ เป็นชายรูปร่างตัวสูง พร้อมระบุ คือ รูปพรรณสัณฐานของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งประเทศไทยจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ พร้อมคณะรัฐมนตรี ภายในวันที่ 15 ส.ค.นี้ อย่างแน่นอน”
อย่างไรก็ตามสำหรับการเดินทางกลับมาของนายทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ในครั้งนี้ ซึ่งปรากฏเกี่ยวกับประวัติในทางคดี รวมแล้ว 6 คดี มีการออกหมายจับรวม 9 หมาย โดย 6 คดีประกอบด้วย 1.คดีปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ ที่ถูกฟ้องว่าอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของเอ็กซิมแบงก์ให้กับรัฐบาลเมียนมา เมื่อปี 2546 วงเงิน 4,000 ล้านบาท ในโครงการปรับปรุงระบบโทรคมนาคมของเมียนมา เพื่อเอื้อประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียม ที่มีการสั่งซื้ออุปกรณ์จากบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ และบริษัทในเครือตระกูลชินวัตร โดยเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2551 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งให้ออกหมายจับเพื่อให้ติดตามตัวมาในนัดพิจารณาคดีครั้งแรกเนื่องจากนายทักษิณ ไม่มาศาลและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว ก่อนจะอ่านคำพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 และให้ออกหมายจับนำตัวมาบังคับคำพิพากษา รวม 2 หมายจับ
2.คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว หรือ “หวยบนดิน” เมื่อปี 2546-2549 คดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 26 กันยายน 2551 นายทักษิณ ไม่มาศาล ศาลจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับ และให้จำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของนายทักษิณ เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะได้นำตัวมาพิจารณาคดี ก่อนจะพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2562 และให้ออกหมายจับนำตัวมาบังคับคำพิพากษา รวม 2 หมายจับ
3.คดีแปลงสัมปทานมือถือ-ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต เมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2544 – 19 กันยายน 2549 คดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 15 ตุลาคม 2551 และศาลได้ออกหมายจับนายทักษิณ เนื่องจากไม่มาศาล และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความไว้เป็นการชั่วคราว และมีการรื้อคดีนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่ทำให้นายทักษิณ และพิพากษาจำคุก 5 ปี เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 และออกหมายจับให้มารับโทษตามคำพิพากษา รวม 2 หมายจับ
4.คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้กว่า 9,000 ล้านบาท ให้กับกฤษดามหานคร คดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ออกหมายจับนายทักษิณ เนื่องจากไม่มาตามนัดพิจารณาคดีครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2555 และเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ศาลฏีกาฯ ได้พิพากษายกฟ้องนายทักษิณ พร้อมทั้งเพิกถอนหมายจับในคดีนี้
5.คดีเอื้อประโยชน์ซื้อขายที่ดินรัชดา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2550 คดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุกนายทักษิณ 2 ปี และออกหมายจับเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 เพื่อให้นำตัวมาบังคับตามคำพิพากษา แต่คดีนี้หมดอายุความแล้ว
6.คดีกองทัพบก ยื่นฟ้องนายทักษิณ หมิ่นประมาท กรณีเมื่อวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2558 ได้มีการเผยแพร่คำสัมภาษณ์ของนาย ทักษิณ จากประเทศเกาหลีใต้ เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและการยึดอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ซึ่งกระทบถึงกองทัพบก คดีนี้ศาลอาญาออกหมายจับนายทักษิณ เนื่องจากไม่มาศาลเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2558 และจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว หากได้ตัวมาดำเนินคดีแล้วจะขอรื้อคดีขึ้นมาใหม่
ส่วนอีกสองคดีเป็นคดีที่ขึ้นกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.คือ 1.คดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ลอตสอง จำนวน 8 สัญญา ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการแจ้งผู้ถูกกล่าวหาเพิ่มเติม รวมถึงชื่อของนายทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี น้องสาวนายทักษิณ และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่ม “วังน้ำยม” และ คดีกล่าวหาการอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 และ A340-600 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2545-2547 ทำให้การบินไทยมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น