จากกรณีพบ “หมูกล่องแช่แข็ง” ถูกนำเข้ามาโดยบริษัทเอกชน 11 บริษัท และตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยไม่มีผู้สั่งมารับสินค้าออกไป ส่งผลให้สินค้าตกค้างกว่า 161 ตู้ ปริมาณมากกว่า 4 ตัน จนกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ที่ได้ตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนตรวจสอบถึงกรณีนี้ที่ระบุว่าเป็น “หมูเถื่อน” ซึ่งอาจมีผลต่อราคาจำหน่ายในประเทศ
และกลายเป็นความวิตกกังวลของหลายฝ่าย หลังเกิดกรณีนี้ ราคาหมูช่วงก่อนหน้านี้ราว 4 เดือน (ในช่วงพบหมู่กล่องเถื่อน) มาคาลดลงมาเกือบ 30 % ต่อกิโลกรัม (จาก 90 บาท เหลือเพียง 60) บาท จนกลายเป็นความวิตกกังวลเกี่ยงกับสถานการณ์ราคาเนื้อหมูในประเทศ
นสพ.เกียรติภูมิ พฤกษะวัน เลขาธิการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้เลี้ยงสุกรได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหา “หมูกล่องหรือหมูเถื่อน” ที่คาดว่าได้มีการนำเข้ามาในตลาดกว่า 20% คิดเป็นความเสียหายมูลค่า 20,000-30,000 ล้านบาท เป็นการซ้ำเติมจากที่ก่อนหน้านี้ที่ผู้เลี้ยงสุกรได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในช่วงปี 2564-2565
สร้างความเสียหายกับฟาร์มหมูคิดตามรอบการสูญเสียไปแล้วประมาณ 50,000 ล้านบาท กระทั่งได้มีการลงทุนกลับมาเลี้ยงใหม่ ซึ่งต้องใช้เงินไปอีกไม่ต่ำกว่า 40,000-50,000 ล้านบาท และถ้าหากราคาขายหมูยังเป็นแบบนี้ เท่ากับคนที่เลี้ยงจะขาดทุนกันตัวละ 3,000 บาท หรือขาดทุนประมาณ 100,000 ล้านบาทในเวลา 1 ปี
ทั้งนี้ จุดเปลี่ยนธุรกิจหมูได้เริ่มเกิดมาตั้งแต่ปี 2564-2565 หลังจากการระบาด ASF อย่างหนัก แต่ประเทศไทยผ่านพ้นมาได้ จนกระทั่งปี 2565-2566 เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูกลับมาลงทุนเลี้ยงใหม่ บางรายขยายฟาร์ม บางแห่งก็ปรับปรุงระบบฟาร์มป้องกันโรค จนทำให้เห็นตัวเลขมีการขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ 150,000 ราย หรือคิดเป็นปริมาณการเลี้ยงหมูประมาณ 18 ล้านตัว ซึ่งคิดเป็นอัตราการฟื้นกลับมาแล้วประมาณ 80-90% จากช่วงก่อน ASF ที่มีการเลี้ยงประมาณ 20-21 ล้านตัว
โดยเมื่อช่วงที่เกิดโรคระบาด ASF ปรากฏว่าเกษตรกรหายไปครึ่งหนึ่ง แต่ตอนนี้กลับมาขึ้นทะเบียนเลี้ยง 150,000 ราย ยังไม่นับรวมเกษตรกรที่เลี้ยงแบบหลังบ้าน หากคำนวณเป็นจำนวนหมูจะได้ 18 ล้านตัว/ปี ในจำนวนนี้เป็นการเลี้ยงโดยฟาร์มรายใหญ่ 70% ซึ่งทุกฝ่ายได้มีการเฝ้าระวังและควบคุมดูแลปัญหาเรื่องโรคระบาดเข้มงวด โดยเฉพาะทางกรมปศุสัตว์ได้เพิ่มความระมัดระวังสำหรับการเลี้ยงใหม่ กำหนดให้ฟาร์มที่มีการเลี้ยงหมูขุนมากกว่า 5,000 ตัว และมีแม่พันธุ์มากกว่า 90 ตัวจะต้องมาทำเป็นฟาร์มมาตรฐาน
ส่วนกรณีการนำเข้าหมูเถื่อนที่พบนั้น นสพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า “อุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูกำลังฟื้นตัวในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่กลับมาเจอ ปัญหาหมูกล่องและต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคาขาย ทำให้เกษตรกรขาดทุนตัวละ 3,000 บาท ซึ่งหากเชือดวันละ 55,000 ตัวคูณเข้าไปจะเป็นมูลค่ากว่า 150 ล้านบาท/วัน”
ส่วนความคืบหน้าการแก้ปัญหาหมูกล่องนั้น ขณะนี้ทาง DSI ได้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมกับทุกหน่วยงาน เร่งดำเนินการตรวจสอบตู้ 161 ตู้ที่ตรวจสอบพบว่า “ไม่มีการมาออกของ” แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าจำนวนตู้ที่ไม่มีการมาออกของยังตรวจพบมากขนาดนี้ แต่ในสถานการณ์ที่แท้จริงจะมากขนาดไหน
ทั้งนี้ สถานการณ์นำเข้าแต่เดิมไทยมีการนำเข้าเนื้อหมู 14,000 ตันต่อปี แต่เป็นเครื่องในและหนังหมู เพราะไทยขาดแคลน แต่มีการบริโภคจำนวนมากนำมาใช้ทำแคบหมูที่เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมมาก และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมากำลังการบริโภคหมู โดยเฉพาะหมูสามชั้นในร้านชาบูและหมูกระทะเพิ่มมากขึ้น
และเป็นที่น่าจับตาไปถึงผลกระทบหมูไทย ในช่วงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าว่าจะมีผลกระทบมาน้อยเพียงใด ลุกลามไปถึงผลกระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ว่าจะได้รับผลกระทบขนาดไหน เมื่อหมูเถื่อนโผล่เข้ามาในตลาด เรื่องนี้ผู้เกี่ยวข้องควรจะต้องรีบหาทางคลี่คลายและสอบสวนผู้มีส่วนได้เสียกับเรื่องนี้ และหาทางป้องกันปัญหาที่จะตามมา