กระแส “ครูกายแก้ว” จากการตลาดสายมู สะท้อน ‘เหยื่อโอชะ’ ในสังคมอ่อนแอ-ไร้ความมั่นคง

กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในสังคมไทย หลังรูปปั้น “ครูกายแก้ว” ที่รถขนส่งเกิดไปติดสะพานลอยคนข้าม จนนำไปสู่การพูดถึงกันในวงกว้างต่อประเด็นความเชื่อ ความศรัทธา และเหยื่อความงมงายจาก “การตลาดสายมู” จนกลายเป็นดราม่าในโลกโซเชี่ยลขณะนี้

สื่บเนื่องจากเมื่อวันที่ 9 ส.ค. เวลาประมาณ 09.00 น. ที่ถนนรัชดาภิเษก ขาเข้า ก่อนถึงซอยรัชดาภิเษก 36 เล็กน้อย ได้มีรถบรรทุกรูปปั้นใหฯ่สีดำทะมึน ติดคานสะพานลอยคนข้าม ส่งผลให้การจราจรติดขัดอย่างหนัก ต่อมากลายเป็นข่าวที่ผู้คนในสังคมสงสัยว่ารูปปั้นประหลาดนี้คืออะไร จนเป็นที่มาของคำตอบว่าคือรูปปั้น “ครูกายแก้ว” ตามมาด้วยเรื่องเล่าที่โยงไปเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กษัตริย์เขมร ที่ขัดกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ซึ่งปรากฏในหลักฐานทางโบราณคดีอย่างจารึกที่ปราสาทขอม

สำหรับตำนานของ “ครูกายแก้ว” ที่มีการแต่งเติมเสริมเรื่องราว ว่ามาจากประเทศกัมพูชา ก่อนตกทอดมายัง อ.สุชาติ รัตนสุข ผู้สร้างองค์ปฐมของครูกายแก้วขึ้นในประเทศไทย มีลักษณะกึ่งมนุษย์กึ่งนก มีปีกด้านหลัง มีเขี้ยวทอง สื่อถึงนกการเวก อ้างอิงตามหลักฐานที่ปรากฏอยู่บนกำแพงบายน ที่มีประวัติของการเวกซึ่งเป็นพวกนักดีดสีตีเป่า ถือเป็นครูของศาสตร์ศิลป์ทั้งหลายในยุคของ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ส่วนประเด็นที่มีผู้คนในโซเชียลระบุว่าให้นำสุนัขหรือแมวไปบูชายัญครูกายแก้วนั้น นายณัฐวุฒิ รัตนสุข อายุ 42 ปี ทายาทผู้ก่อตั้งเทวาลัยพระพิฆเนศบางใหญ่ เคยให้สัมภาษณ์สื่อมติชนว่า “เป็นความเชื่อที่ผิด การจะบูชาครูกายแก้ว ไม่จำเป็นต้องไปเบียดเบียนชีวิตใครก็สามารถขอพรได้ แต่กรณีนำสัตว์ไปบูชายัญ แค่เริ่มก็เป็นการทำกรรมแล้ว แล้วจะไปรับสิ่งที่เป็นมงคลได้อย่างไร” และแนะนำว่าให้นำแต่ผลไม้ ดอกไม้ ขนมหวาน ทองคำ ไปไหว้สักการะเท่านั้นพอ ไม่มีของสดหรือของมึนเมาใดๆ ท่านได้สั่งห้ามไว้เด็ดขาด ซึ่งที่ผ่านมาจะเป็นที่ทราบกันดีในกลุ่มผู้นับถือครูกายแก้ว 300-400 คนว่า ครูกายแก้วไม่ชอบของสด

ด้านความเห็นจากบรรดานักวิชาการ,ผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ต่างออกมาดึงสติบรรดา “สายมู” และให้ความเห็นพ้องต้องกันจากข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีการศึกษาค้นคว้าไว้ ไล่เรียงมาตั้งแต่ นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา โพสต์เฟซบุ๊ก Thepmontri Limpaphayorm กรณี “ครูกายแก้ว” ที่มีการอ้างว่าเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ว่า ที่แท้ ‘กายแก้ว’ มาจาก ‘การ์กอยส์’

แปลกแต่จริงที่มีคนหลงเชื่องมงายได้เพียงนี้ โดยไม่ไปศึกษาหาความรู้ก่อนที่จะเชื่อสิ่งใด จึงอาจกลายเป็นเหยื่อถูกล่อลวง มอมเมาเข้าสู่ความมีอคติต่อความเชื่อความดีในทางศาสนา

กายแก้ว อาจมีที่มาคือการ์กอยส์ ซึ่งเป็นสัตว์ผสมหากินกลางคืน เป็นมารกึ่งอมนุษย์ – มังกร ที่ปกปักษ์รักษาผู้คนตามความเชื่อของชาวยุโรป เป็นเครื่องประดับอาคารสถานต่างๆบริเวณที่เรียกว่า ปนาลี ช่องรางน้ำทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส

แน่นอนว่า ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชกัมพูชาในอดีต และย่อมไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยที่พยายามทำรูปลักษณ์ให้เป็นยักษามีปีก และกล่าวด้วยว่า “สังคมไทยไปไกลสุดกู่ เอาทุกอย่างมาบูชาปะปนกัน โดยความไม่รู้เรื่องจริง”

ด้าน นายโอภาส จริยพฤติ หรือ “ไกด์โอ พาเที่ยว” ได้ให้ความเห็นว่า ที่ปราสาทบายนไม่มีภาพสลักของครูกายแก้ว แต่ภาพสลักที่คล้ายกับครูกายแก้วนั้นอยู่ที่ระเบียงคดปราสาทนครวัดด้านทิศเหนือฝั่งตะวันออก

ครูของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก็ไม่ใช่ครูกายแก้ว ภาพที่คล้ายกับครูกายแก้วนั้นคือ ‘ท้าวพาณอสูร’ ซึ่งได้ไปเข้าเฝ้าขอความอนุเคราะห์ต่อพระศิวะที่ประทับที่เขาไกรลาส

หากวิเคราะห์กันในเชิงเรื่องเล่าไม่สนใจข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เราจะเห็นกระบวนการที่ทำให้รูปเคารพสักองค์หนึ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาผ่านเรื่องเล่าในเชิงลี้ลับ แบบเดียวกับไอ้ไข่ แบบเดียวกับจตุคามรามเทพ และที่เสริมให้ครูกายแก้วศักดิ์สิทธิ์ขึ้นไปนั้นจะเห็นได้ว่ามาจากพื้นที่ที่ในสำนึกของคนไทยแล้วเชื่อว่าเต็มไปด้วยเวทมนตร์คาถาของขลัง ทั้งๆ ที่ถ้าหากคุณได้รู้จักเขมรในทางวัฒนธรรมจะพบว่า คนเขมรไม่ได้คลั่งเครื่องรางของขลังแบบที่ไทยเป็นเลย ไกด์โอ กล่าว

ขณะที่ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และนิติศาสตร์ ก็ได้โพสต์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า ข่าวเรื่อง ครูกายแก้ว เป็นรูปเคารพที่ได้รับความนับถือในหมู่คนจำนวนหนึ่ง นัยว่า ครูกายแก้ว นี้ เป็นครูบาอาจารย์ของ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ ผมยังไม่เคยเห็นหลักฐานยืนยันได้แน่นอน ว่าเล่าลือกันมาจากที่ไหน

ความเลื่อมใสในเรื่องอย่างนี้ แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่สามารถบ่งบอกถึงความไม่มั่นคงทางจิตใจ ของสมาชิกในสังคมได้ในระดับหนึ่ง และถ้าไม่เกรงใจกันแล้ว ก็ต้องบอกว่า เป็นระดับที่สูงมากเสียด้วย รูปอะไรก็ไม่รู้ ที่กราบไหว้กันอยู่นี้ มองในทางศิลปะ ก็สอบไม่ผ่านแน่ จะว่าเป็นมนุษย์ ก็เห็นจะไม่ใช่ จะเป็นสัตว์ก็ไม่เชิง

ผมยังนึกไม่ออกว่า การไปบูชารูปปั้นอย่างนี้ จะเป็นสวัสดิมงคลได้อย่างไร แถมเกรงว่าจะเกิดผลตรงกันข้ามเสียด้วยซ้ำ สำหรับประเพณีบ้านเมือง สถานการณ์อย่างนี้คล้ายกับที่คนแต่โบราณท่านพูดว่า ผีป่าก็จะวิ่งมาสิงเมือง ยิ่งนัก เฮ้อ !”

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ระบุว่า หากวิเคราะห์ถึงมุมมองของสังคมไทยที่มัก “ข้ามข้อเท็จจริง” เมื่อสิ่งนั้นถูกเรียกว่า “ความเชื่อ” นำไปสู่คำถามสำคัญว่าทำไมอยู่ๆ จึงเกิดปรากฏการณ์ทำนองนี้ในช่วงเวลานี้

“ครูกายแก้วไม่ได้เป็นเทพ ไม่ใช่ครูของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ไม่ได้สลักสมัยพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 ถ้าอ้างอิงว่ามาจากภาพสลักที่นครวัด แท้จริงก็มีสถานะเป็นท้าวพาณอสูรเท่านั้น”

“แต่สังคมไทยที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ว่าเมื่อเป็นเรื่องความเชื่อแล้วก็มักจะข้ามข้อเท็จจริงไป เพราะบางอย่างถ้าคลุมเครือจะช่วยให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์มากกว่า ด้วยมีความลึกลับที่ซ่อนอยู่”

“เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ คือปรากฏการณ์จตุคามรามเทพ ปรากฏการณ์ความเชื่อพวกนี้มักเกิดในช่วงที่เกิดปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ หรือในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่าน ที่คนในสังคมรู้สึกขาดหลักประกันความมั่นคง สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ครูกายแก้วกลายเป็นกระแสในสังคมได้”

ก่อนหน้านี้ มีการถกเถียงกันอย่างหนัก จากนักประวัติศาสตร์ ที่ออกมาอ้างอิงหลักฐานศิลาจารึก ที่ใช้เป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ระบุว่า ครูของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีแค่บุคคลที่ชื่อ “ศรี ชัยมังคลารถะเทวะ” และ “ศรี ชัยกีรติเทวะ” ปรากฎชื่อจารึกปราสาทตาพรหม ในเมืองพระนครธม และไม่เคยมีบุคคลที่ ชื่อ “กายแก้ว” เลย

นอกจากนี้ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ยังทรงศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างมาก ไม่มีหลักฐานระบุว่า ทรงมีความเชื่อในไสยศาสตร์ ที่มีครูเป็นบุคคลรูปร่างเป็นอมนุษย์ อย่าง ครูกายแก้ว แต่อย่างใด

ด้าน นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย อดีตสมาชิกวุฒิสภาและอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เจ้าของนามปากกา “เรืองวิทยาคม”ก็โพสต์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ครูกายแก้ว ระบุว่า

“สิ่งที่กำลังหลอกลวงให้ไขว้เขวกันอยู่!!! ครูกายแก้ว ไม่ใช่เทพอสูร เพราะเทพอสูร คือยักษ์ ที่ได้บำเพ็ญปฏิบัติธรรม จนบรรลุธรรมขั้นสูง คือชั้นพรหม จึงได้ชื่อว่า เป็นเทพอสูร เช่นท้าวลัสเตียน ซึ่งเป็นบิดาของทศกัณฐ์เป็นต้น ภูมิธรรมชั้นพรหมนี้ คือภูมิธรรมชั้นเดียวกันกับท้าวกบิลพรหม ซึ่งเป็นบิดาของนางสงกรานต์ทั้งเจ็ด

ครูกายแก้วไม่ใช่มนุษย์ และไม่ใช่คนธรรพ์ ซึ่งอยู่ในภพภูมิที่สูงกว่าผีเปรตอสุรกาย และไม่ใช่บรมครูผู้ขมังเวทย์ แต่ท่านเป็นอสุรกาย ที่มีชาติภพภูมิเดิมเป็นนก ท่านไม่ใช่อาจารย์ของพระเจ้าสุริยะวรมัน ของขอมโบราณเลย

บทสวดมนต์และคาถาที่ใช้ในวันนั้น เป็นบทบิดเบือนบทสวดในศาสนาพุทธ จนวิปริตไปสิ้น บทที่สวดอัญเชิญ แท้จริงก็คือบทชุมนุมเทวดา ซึ่งชาวพุทธจะคุ้นเคย เวลาพระจะเริ่มสวดพระปริตร ก็จะมีพระที่นั่งลำดับที่ 3 สวดบทชุมนุมเทวดาที่ขึ้นต้นด้วย สัคเคกาเมจะรูเป… ซึ่งแปลว่า บัดนี้เป็นเวลาฟังธรรมแล้ว ขอเชิญเหล่าเทพทั้งหลาย (ไม่ได้เชิญพวกอสูรกาย เพราะพวกนี้ไม่ฟังธรรม) ฟังธรรมของพระบรมศาสดาเถิด นี่ไม่ใช่บทอัญเชิญ ครูกายแก้ว ที่ใช้สวดในวันนั้น!!!

เหตุที่ต้องสวดชุมนุมเทวดา ก็เพราะเทวดามาขอพรไว้ว่า อยากฟังธรรม ขอจงมีความเอื้อเฟื้อแก่เทวดาทั้งหลาย ให้ได้มีโอกาสฟังธรรมด้วยลักษณะของอสุรกายนี้ พวกกรีกได้สร้างเป็นภาพขึ้นมานานแล้ว ไม่ใช่คติภาพนิยมของพราหมณ์อินเดียใต้ หรือของขอมโบราณแต่ประการใด!!!

ต้องถามกรุงเทพมหานครว่า ถ้าประชาชน มีความหวาดกลัว หรือเกรงอัปมงคล หรือภัยพิบัติ แล้วจะให้ทำอย่างไร เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ได้แต่นึกสังเวช พวกนักการตลาดวิปริต ที่คิดวิปริต ต่าง ๆ นานาได้มาก

แท้จริงก็ต้องการหลอกคนจีน มาลงทุนในย่านนี้และหลอกขายรูปบูชา ให้แก่ผู้ที่โง่เขลาเบาปัญญาแล้วคำนึงถึงอาเพศเหตุอัปมงคลที่จะบังเกิดในบ้านเมืองไหมนี่ ท่านใดมีใจหวาดกลัว ก็จงอาราธนาพระสงฆ์สวดพระปริตร และเพิ่มด้วยบทสวดถอนพัทธสีมาเถิด”

ปิดท้ายด้วยคำยืนยันจาก ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกเขมรโบราณ ที่ได้เปิดเผยกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ไปเมื่อวันก่อนว่า “ยืนยันว่าในบันทึกของโบราณไม่มีชื่อของครูกายแก้ว แต่อาจเป็นลูกเล่นของผู้ที่เลื่อมใสในการนำขอมโบราณมาสร้างเป็นเรื่องราวเพื่อให้ผู้คนสนใจ และมีการออกแบบรูปลักษณ์ตามจินตนาการ สำหรับชาวกัมพูชาในปัจจุบันหลายคนยังมีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ ส่วนใหญ่บูชาเครื่องรางที่มีมาแต่เดิม เช่น ตะกรุด ผ้ายันต์ แต่ไม่มีการออกแบบรูปลักษณ์ให้เหมือนกับคนไทย ที่มีการครีเอตเพื่อกระตุ้นให้เกิดความสนใจ และทำให้ชาวต่างชาติที่มีความเชื่อมาเช่าบูชา”

สุดท้ายพอจะสรุปได้ว่าการมาของครูกายแก้ว ในห้วงเวลาที่สังคมไทยกำลังอ่อนแอเคว้งคว้างอย่างที่สุด ทั้งการเมืองไม่นิ่ง ไร้เสถียรภาพ ไร้ความมั่นคง ประชาชนมองไปทางไหนก็เหมือนไร้ที่พึ่ง จึงกลายเป็นช่องว่างให้ “การตลาดสายมู” ที่คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยหันให้ความสนใจเรื่องทำนองนี้เพื่อเยียวยาจิตใจตนเอง กลายเป็นเหยื่ออันโอชะของนักการตลาดสายมูบางกลุ่ม ที่ป้อนความเชื่อจากการสร้างสตอรี่ส่งเสริมการตลาดค้าเครื่องรางของขลัง ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับครูกายแก้ว

การสมาทานความเชื่อเหล่านี้มาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว แม้เป็นศรัทธาด้านมืดก็ตาม จึงสะท้อนให้เห็นชัดถึงความล้มเหลวของรัฐและวิกฤติศรัทธาที่ไม่สามารถประคับประคองความเชื่อมั่นของประชาชน ให้พอจะมองเห็นอนาคตอันสดใสมั่นคงข้างหน้าได้เลยนั่นเอง

 

เครดิตข้อมูล: มติชน, ข่าวสด, ไทยรัฐ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *