พรรคแกนนำฝ่ายค้านและชาวเกาหลีใต้ในหลายจังหวัด พร้อมใจกันก่อม็อบประท้วงรัฐบาล เพื่อต่อต้านแผนของญี่ปุ่นที่จะปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี ซึ่งผ่านการบำบัดแล้วจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ในวันพรุ่งนี้ (24 ส.ค.)
ประธานาธิบดียุน ซอกยอล ผู้นำเกาหลีใต้ จากพรรคอนุรักษ์นิยม กำลังเผชิญกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากลงนามเห็นชอบกับการปล่อยน้ำจาก “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” หลังจากมีการประเมินแผนของรัฐบาลญี่ปุ่นแล้วไม่พบปัญหาทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิค
โดยก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นระบุเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า จะเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดมากกว่า 1 ล้านเมตริกตัน จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ในวันที่ 24 ส.ค. นี้ ซึ่งได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ทั้งจากรัฐบาลจีน และจากประชาชนในเกาหลีใต้
แผนดังกล่าวนี้ได้รับการอนุมัติเมื่อ 2 ปีที่แล้วโดยรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งถือว่ามีความสำคัญต่อการรื้อถอนโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการโดยบริษัท โตเกียว อิเล็คทริค พาวเวอร์ (เทปโก) ซึ่งยังคงเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มชาวประมงท้องถิ่น ที่วิตกเรื่องความเสียหายต่อชื่อเสียง และเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงชีวิตของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ ยังคงยืนยันตามแผน และกล่าวว่า “ผมขอให้เทปโกเตรียมการปล่อยน้ำอย่างรวดเร็วตามแผนที่ได้รับอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลนิวเคลียร์ และคาดว่าการปล่อยน้ำจะเริ่มในวันที่ 24 สิงหาคม หากสภาพอากาศเอื้ออำนวย”
ด้านนายอี แจ-มยอง ผู้นำพรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลี (Democratic Party of Korea) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของเกาหลีใต้ กล่าวว่า “เราตั้งใจที่จะให้รัฐบาลของปธน.ยุนรับผิดชอบต่อความล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่” โดยกล่าวอีกว่า การที่ญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะนั้น เข้าข่าย “การก่อการร้าย”
นอกจากนี้ผลการสำรวจของมีเดียรีเสิร์ช (Media Research) ระบุว่า พลเมืองเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับแผนการปล่อยน้ำกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วในปริมาณที่มากกว่า 1 ล้านเมตริกตัน ตั้งแต่เวลา 13:00 น. ตามเวลาญี่ปุ่น (11:00 น. ตามเวลาไทย) ในวันพรุ่งนี้ (24 ส.ค.) โดยมีความกังวลด้านอาหารทะเล และด้านการปนเปื้อนในมหาสมุทรมากที่สุด
ข้อมูลจากการสำรวจเดือนก.ค. ที่ผ่านมาระบุว่า ประชากรเกาหลีใต้ 62% จะลดหรืองดรับประทานอาหารทะเลทันทีที่มีการปล่อยน้ำปนเปื้อนลงสู่มหาสมุทร แม้ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้จะยืนยันว่าปลอดภัยก็ตาม
อ้างอิง: REUTERS