สรุปมหากาพย์ดราม่า “ปังชา” โนติส 102 ล้าน โดนทัวร์ถล่มยับ ส่องานเข้าอีก นักออกแบบดังแฉถูกลอกงาน!!

สรุปประเด็นดราม่าร้อนแรงจนแฮชแท็ก #ปังชา และ #ลูกไก่ทอง ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ หรือ X มาหลายวัน จากการที่ร้านขนมหวานชื่อดังระดับมิชลินในห้างหรู ยื่นโนติสร้านขายปังปิ้งที่เชียงรายและหาดใหญ่เรียกค่าเสียหาย 102 ล้าน และ 700,000 บาท พาทัวร์ลงยับ จนเจ้าของร้านโอดขอโอกาสและขอโทษสังคม แต่ไม่จบ! ส่องานเข้าเมื่อนักออกแบบชุดไทยชื่อดังแฉภาพโลโก้บนขวดชา ลอกงานเจ้าตัวมาแบบเหมือนเป๊ะ!

กลายเป็นประเด็นดราม่าติดเทรนด์ เริ่มจากเมื่อร้านดังในห้างหรูได้มีการโพสต์ข้อความลงบนเพจของทางร้านระบุว่า “ปังชา” ได้รับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และ สิทธิบัตร สงวนสิทธิ์ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำดัดแปลงแก้ไข ทำให้ผู้คนในโลกโซเชียลต่างถกเถียงกันว่า เมนูขนมปังเย็น ปังชาเย็น แบบนี้มีขายอยู่ทั่วไปมานานแล้ว การจดลิขสิทธิ์แบบนี้ จะส่งผลกระทบต่อผู้ค้ารายย่อยหรือไม่ ในขณะที่ชาวเน็ตบางส่วนระบุว่าการจดลิขสิทธิ์ อาจหมายถึงการจดทะเบียนแค่รูปลักษณ์และการดีไซน์ของทางร้านไม่ได้เกี่ยวกับเมนูหรือชื่อแต่อย่างใดหรือไม่?

อย่างไรก็ตามได้มีการแชร์ประเด็นนี้ออกไปในโลกโซเชียล จนพบว่ามีร้านขายน้ำชาขนมปังปิ้งแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ถูกร้านดังกล่าวยื่นโนติสเรียกค่าเสียหายถึง 102 ล้านบาท เพียงเพราะใช้ชื่อร้านว่า “ปังชา” ทั้งที่เปิดร้านมาตั้งแต่ปี 2564 ก่อนมีการจดลิขสิทธิ์ เช่นเดียวกับร้านขายขนมปัง-นมสดแห่งหนึ่งในหาดใหญ่ จ.สงขลา ก็ถูกยื่นโนติสเช่นเดียวกัน เหตุเพราะมีคำว่าปังชาอยู่บนกล่องป้ายไฟ โดยคิดค่าเสียหาย 7 แสนบาท

ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างดุเดือดในโลกโซเชียลว่า การยื่นโนติสฟ้องร้านรายย่อยเรียกค่าเสียหายนับ 100 ล้านแบบนี้ เป็นเรื่องที่เกินกว่าเหตุและไม่สมเหตุสมผลหรือไม่? เนื่องจากคำว่า ปังชา และ เมนูขนมปัง ชาไทย ชาเย็น เหล่านี้ล้วนเป็นเมนูทั่วไปที่ขายกันมานานแล้ว และบริษัทนี้ก็เพิ่งจะจดทะเบียนทีหลัง หลายคนจึงตั้งข้อสงสัยว่า สามารถไล่ฟ้องใครต่อใครได้จริงหรือ เพราะหากฟ้องได้จริงเมนูอาหารคาวหวานธรรมดาทั่วไปที่คนไทยกินกันมานานรุ่นต่อรุ่นอย่าง ผัดไท บัวลอย ส้มตำ ฯลฯ ก็อาจมีปัญหาได้เช่นกันถ้ามีคนไปจดลิขสิทธิ์

ต่อข้อสงสัยนี้ ทนายความชื่อดังหลายคนได้ออกมาให้ความเห็นในกรณีดังกล่าวอย่างสอดคล้องต้องกันว่า ‘ไม่สามารถกระทำได้’ เนื่องจากปังชาเป็นคำสามัญทั่วไปที่ใช้กันมานานแล้ว โดยมีคำอธิบายว่า หากดูตามรูปที่ขอจดทะเบียนไม่ได้มีคำภาษาไทยว่า “ปังชา” มีแต่เพียงคำภาษาอังกฤษ ดังนั้นเจ้าของเครื่องหมายนี้จึงไม่สามารถห้ามประชาชนทั่วไป ไม่ให้ใช้คำว่า “ปังชา” ในการค้าขาย ชาไข่มุก น้ำแข็งไส เครื่องดื่มชา บริการร้านอาหารและเครื่องดื่มได้ ประชาชนทุกคนจึงยังสามารถใช้คำว่า “ปังชา” ในการค้าขายได้เช่นเดิม เจ้าของเครื่องหมายนี้จึงไม่มีสิทธิฟ้องคนอื่นที่ใช้คำว่า “ปังชา” ได้ เช่นเดียวกับที่ เฟซบุ๊ก Dr. Pete Peerapat ของนายพีรภัทร ฝอยทอง CFP ทนายความและนักวางแผนการเงินส่วนบุคคล ที่ร้านในเชียงรายที่โดนยื่นโนติสมาขอคำปรึกษาก็ยืนยันด้วยว่า

“ร้านดังจะมาไล่เบี้ยเรียกเก็บค่าเสียหายแบบนี้ไม่ได้ เพราะสิ่งที่จะจดเครื่องหมายการค้าได้ จะต้องเป็นพวกรูป ฟอนต์ ที่มีลักษณะเฉพาะของทางร้านเท่านั้น ทนายได้ให้คำปรึกษากับทางร้านไปว่า ยังคงสามารถใช้ชื่อเดิมต่อไปได้ และก็ไม่มีใครเรียกค่าเสียหายจากคำว่า “ปังชา” ได้ด้วย ถ้าถูกส่งโนติสจริง ๆ สามารถไปสู้ที่ศาลต่อได้แน่นอน” นายพีรภัทร โพสต์ทิ้งท้ายไว้

หลังจากเกิดกระแสร้อนแรง “กรมทรัพย์สินทางปัญญา” จึงได้ออกมาชี้แจงกรณีดราม่า ปังชา ว่า น้ำแข็งไสราดชาไทยนั้นมีขายมานานแล้ว “จึงไม่มีใครสามารถจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร” อ้างเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวได้  แต่! ภาชนะที่ใส่ปังชา ของแบรนด์ที่เป็นข่าว ได้มีการจดสิทธิบัตร การออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังแนะนำผู้ประกอบการอื่นๆ ว่า เมนูน้ำแข็งไสราดชาไทย “ใครก็ขายได้” แต่อย่านำลวดลาย หรือ แบบภาชนะที่คนอื่นจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้ไปผลิต  แต่ถ้าหากว่าคิดค้นสูตรขนมขึ้นใหม่ ซึ่งยังไม่เคยปรากฏในที่ใดมาก่อน สามารถนำมาขอจดอนุสิทธิบัตรได้

ต่อมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม คุณแก้ม เจ้าของร้านลูกไก่ทอง เจ้าของตำรับปังชา ที่โดนกระแสโจมตีอย่างหนักหน่วง ก็ได้ออกมาขอโทษผ่านรายการ “เที่ยงวันทันเหตุการณ์” ที่ดำเนินรายการโดย หนุ่ม กรรชัย ว่า ตนขออนุญาต กราบขอโทษ ตอนนี้เศร้ามาก ที่ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการสื่อสารของทางร้าน ทั้งหมดเป็นความคลาดเคลื่อนที่ทำให้เกิดกระแสสังคม ทั้งนี้ ขอโทษร้านที่เชียงราย และร้านที่หาดใหญ่มากๆ หากมีโอกาส จะไปขอโทษด้วยตนเอง วันนี้ขอโทษประชาชนทั้งหมด ที่เกิดจากความคลาดเคลื่อนในการสื่อสารของทางเรา จนนำไปสู่เหตุการณ์ทุกวันนี้

ในตอนท้าย เมื่อหนุ่ม กรรชัย ถามว่า ตกลงว่าปังชา ใช้ได้หรือไม่ คุณแก้ม กล่าวว่า “ปังชา ใช้ได้ ทุกคนใช้ได้ ไม่ได้จองเป็นของคนเดียว ปังชา ปังเย็น น้ำแข็งใส ใช้ได้เลย และจะไม่มีการไปยื่นโนติสแล้ว”

“จากความผิดพลาดตรงนี้เราได้คุยกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา และได้รับข้อมูลที่ชัดเจนร่วมกัน ส่วนภาชนะถ้ามีคนใช้แล้วมันคล้ายกัน จะวัดกันตรงไหนนั้น ขึ้นอยู่ที่กรมทรัพย์สินทางปัญหาพิจารณา ตนไม่ทราบรายละเอียดตรงนี้”

แต่ดราม่าก็ยังไม่จบง่ายๆ และเหมือนจะบานปลายกว่าเดิม เมื่อ “ครูบิ๊ก” พีรมณฑ์ ชมธวัช ผู้ก่อตั้งคณะละครอาภรณ์งาม ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องแต่งกายไทยโบราณ ผู้ออกแบบชุดไทยในภาพยนตร์โฆษณาแบรนด์รีเจนซี่มาตลอด 10 กว่าปี ได้ออกมาโพสต์ลงโซเชี่ยล ระบุว่า

ก่อนจะไปไล่ฟ้องลิขสิทธิ์คนอื่น หันมาดูรูปโลโก้สินค้าร้านตัวเองก่อนมั้ย ภาพวาดลายเส้นหญิงชุดไทยนั่งพับเพียบ เกล้าผมมวยพันอก ทัดดอกไม้ ใส่สร้อยคอ ยื่นมือขวาเหยียดยาว นั้นน่ะ คิดเองเหรอ หรือเอาแบบจากที่ไหนมาวาด?

พร้อมทิ้งท้ายว่า “ภาพนี้จากปฏิทินรีเจนซี่ 2550 ผลงานออกแบบชุดไทยและการจัดวางลีลาท่าทางโดยผมเอง #อาภรณ์งามสตูดิโอ #อุ๊ย #ปังเว้อ

พร้อมกับโพสต์ภาพนางแบบโฆษณารีเจนซี่ ที่วางท่วงท่าชนิดเหมือนกันราวจับวาง แบบเดียวกับโลโก้ภาพลายเส้นที่ติดอยู่บนขวดชาของร้านดังกล่าว

“มหากาพย์ปังชา” ต่อมาชาวโซเชี่ยลยังขุดไปเจอภาชนะที่ใส่ปังชา ซึ่งร้านดังได้จดสิทธิบัตรการออกแบบเอาไว้ ปรากฏว่าภาชนะดังกล่าวมีโพสต์ขายกันในเว็บ taobao เว็บขายสินค้าของจีน ซึ่งปรากฏภาพภาชนะที่ดูคล้ายกับภาชนะใส่ปังชาของร้านดัง มีโพสต์ขายแบบให้เลือกสีและไซส์ต่างๆ อีกด้วย

ขณะเดียวกันก็มีชาวเน็ตตั้งข้อสังเกตว่า เมนูปังชานี้ ร้านที่เป็นต้นตำรับดั้งเดิมขายมายาวนานกว่า 30 ปีแล้ว คือ ร้านปังเย็นแพวัดแหลมใต้ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นร้านอาหารตามสั่งที่มีขนมหวานเย็นแบบ “น้ำแข็งไส” เช่นเดียวกับอีกหลายร้านตามตรอกซอกซอยในหลายย่านทั่วประเทศที่ขายปังเย็นลักษณะเดียวกันนี้

ต้นตำรับ 30 ปี “ปังชาเย็น” หรือปังเย็นที่แพวัดแหลมใต้ จ.ฉะเชิงเทรา

โดยเมนูของหวานที่เป็นตัวชูโรงของร้านแพวัดแหลมใต้ ชื่อว่า “ปังเย็น” เป็นขนมปังหั่นเป็นชิ้นพอดีคำ โปะด้วยเกล็ดน้ำแข็งไส แล้วเทกาแฟโบราณหรือชาเย็นจนชุ่ม ราดด้วยนมข้นหวานให้รสชาติเข้มข้นหวานมัน ชาวเน็ตที่เป็นคนแปดริ้วต่างยืนยันตรงกันว่าเคยเป็นลูกค้าประจำร้านนี้มาตั้งแต่เด็ก และตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าของร้านปังชาที่เป็นประเด็นตอนนี้ก็มีพื้นเพเป็นคนฉะเชิงเทราเช่นกัน อีกทั้งเจ้าตัวยังเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ได้นำเมนูน้ำแข็งไสมาพัฒนาในรูปแบบใหม่แล้วทดลองขายในร้าน เมื่อแฟนของเธอมาเห็นก็ได้พูดกับเธอว่า ‘แก้มอย่าเอาขนมบ้านนอกมาเสิร์ฟลูกค้าพี่’ แต่เจ้าตัวฮึดสู้ตั้งใจทำให้ปังชาที่ถูกปรามาสเป็น “ขนมบ้านนอก” กลายมาเป็นเมนูขายดีและดังระดับโลกในวันนี้

ข้อสังเกต “ขนมบ้านนอก” ที่ว่านี้ กับ “ปังเย็น” ของหวานประจำร้านแพวัดแหลมใต้ที่คนแปดริ้วคุ้นเคย กับที่ขายกันทั่วไปในย่านอื่นๆ นั้น จะมีรากเหง้าที่มาเดียวกันกับปังชามิชลินไกด์หรือไม่ อาจไม่สำคัญเท่าบทสรุปสุดท้าย ที่ “ผู้บริโภค” เท่านั้น จะเป็นผู้ตัดสินและให้บทเรียนกับทุกฝ่ายเองในที่สุด

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *