เหนือ-อีสาน อ่วม!! น้ำท่วม 9 จังหวัด 34 อำเภอ เตือนสถานการณ์ยังต้องเฝ้าระวัง

ปภ.รายงานสถานการณ์น้ำท่วม ยังคงมีอุทกภัยในพื้นที่ 9 จังหวัดเหนือ-อีสาน ประสานพื้นที่เร่งดูแลช่วยเหลือประชาชนแล้ว ด้าน สทนช.คาดการณ์ 11–14 ต.ค.66 นี้ถึงคิวฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ผลพวงจากพายุดีเปรสชัน “โคอินุ”
10 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00 น. ปภ.รายงานว่า พื้นที่ประสบอุทกภัยขณะนี้รวม 33 จังหวัด 127 อำเภอ 447 ตำบล 2,205 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 48,657 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมใน 9 จังหวัด 34 อำเภอ 117 ตำบล 631 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 16,566 ครัวเรือน ประสานพื้นที่เร่งให้การช่วยเหลือประชาชนแล้ว

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 10 ต.ค.66 เวลา 06.00 น.) ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 9 จังหวัด 34 อำเภอ 117 ตำบล 631 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 16,566 ครัวเรือน ได้แก่
1) เพชรบูรณ์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหล่มสัก รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ระดับน้ำทรงตัว
2) พิษณุโลก เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ วังทอง เนินมะปราง และนครไทย รวม 6 ตำบล 17 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 347 ครัวเรือน ระดับลดลง
3) อุตรดิตถ์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ เมืองอุตรดิตถ์ น้ำปาด บ้านโคก ฟากท่า ลับแล และพิชัย รวม 12 ตำบล 34 หมู่บ้าน ระดับน้ำลดลง
4) สุโขทัย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ ศรีสำโรง และคีรีมาศ รวม 22 ตำบล 144 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,860 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
5) มหาสารคาม เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ เชียงยืน และโกสุมพิสัย รวม 2 ตำบล 6 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
6) หนองบัวลำภู เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ นาวัง สุวรรณคูหา เมืองหนองบัวลำภู นากลาง และศรีบุญเรือง รวม 10 ตำบล 25 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 14 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
7) เลย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ เชียงคาน และท่าลี่ รวม 2 ตำบล 4 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 85 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
8) กาฬสินธุ์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ เมืองกาฬสินธุ์ ร่องคำ ฆ้องชัย ยางตลาด กมลาไสย สามชัย ท่าคันโท หนองกุงศรี สหัสขันธ์ และห้วยเม็ก รวม 55 ตำบล 362 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 9,917 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
9) อุบลราชธานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ เมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ และสว่างวีระวงศ์ รวม 7 ตำบล 38 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,340 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
ทั้งนี้ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงเกือบทุกพื้นที่ แต่ยังคงมีที่จังหวัดกาฬสินธุ์ที่มีระดับน้ำเพิ่มขึ้น สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบภัยได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนโดยเร่งด่วน โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล เครื่องสูบน้ำ รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถผลิตน้ำดื่ม รถประกอบอาหาร เพื่อแก้ไขปัญหา เร่งระบายน้ำ และบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
ด้านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 10 ต.ค. 66 เวลา 7.00 น. สภาพอากาศวันนี้:ร่องมรสุมพาดผ่านผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 11–14 ต.ค. 66 ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้
กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์อากาศ 7 วัน ข้างหน้า ระหว่างวันที่ 10 – 16 ตุลาคม พ.ศ. 2566 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งตลอดช่วง กับลมกระโชกแรงบางพื้นที่ ในช่วงวันที่ 10 – 11 ต.ค. 66 ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10–15 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22 – 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26 – 33 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT”
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.), http://www.onwr.go.th/ 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *