13 ปีแห่งการรอคอยความยุติธรรม แต่ล่าสุด ‘ศาลทหาร’ เลื่อนอ่านคำพิพากษาอีกครั้ง ในคดีรุมซ้อมทรมาน ‘พลทหารวิเชียร’ จนตาย ไปเป็น 24 พ.ย. อ้างต้องพิจารณาละเอียดและต้องส่ง หน.มณฑลทหารพิจารณาก่อน
วันที่ 25 ตุลาคม มีรายงานความคืบหน้ากรณีศาลมณทลทหารบกที่ 46 นัดฟังคำพิพากษา คดีพลทหารวิเชียร เผือกสม ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารกระทำการละเมิดซ้อมทรมาน เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2554 ที่ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ซึ่งครอบครัวพลทหารวิเชียรต้องต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมมายาวนานเกือบ 13 ปี
โดยในช่วงเช้าวันนี้ มีตัวแทนองค์กรสิทธิมนุษยชน และครอบครัวของพลทหารวิเชียรมารอฟังคำตัดสิน ซึ่งการต่อสู้ในคดีนี้เกิดขึ้นหลังพลทหารวิเชียร ซึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สมัครเกณฑ์ทหาร แต่เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2554 ครอบครัวได้รับแจ้งว่า พลทหารวิเชียรบาดเจ็บสาหัส ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมาอย่างเป็นปริศนาถึงมูลเหตุการตาย ทำให้ครอบครัวคาใจอย่างมาก กระทั่ง น.ส.นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ หลานสาวต้องออกเดินสายเข้ายื่นหนังสือให้หน่วยงานต่างๆ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมด้วยความยากลำบาก เนื่องจากถูกเพิกเฉยละเลย ไปจนถึงโดนข่มขู่คุกคามต่างๆ นานา ไม่เพียงเท่านั้นเธอยังถูกดำเนินคดีจาก “นายทหารคู่กรณี” ที่ฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาท และกระทำความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต่อเธออีกด้วย ก่อนที่จะถูกยกฟ้องในเวลาต่อมา
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา น.ส.นริศราวัลถ์ มุ่งมั่นเดินหน้าสู้เพื่อน้าชายทั้งทางแพ่งและอาญา โดยทางแพ่งได้ยื่นฟ้อง กระทรวงกลาโหม กองทัพบก และ สำนักนายกรัฐมนตรี ศาลพิพากษาเมื่อปี 2557 ให้กองทัพบกจ่ายค่าสินไหมทดแทนทางละเมิดแก่ครอบครัว ประมาณ 7 ล้านบาท
ในส่วนคดีอาญา พนักงานอัยการศาลทหาร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทหารทั้ง 10 นาย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นทหารไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา และศาลมณฑลทหารบกที่ 46 ประทับรับฟ้อง เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2564 ระหว่างการพิจารณาของศาล ครอบครัวได้ทำหนังสือและเอกสารสำนวนคดีความไปยังศาลเพิ่มเติม เนื่องจากเห็นว่า ความผิดฐานร่วมกันฆ่าโดยมิได้เจตนามีโทษสถานเบา จึงขอให้พิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 และ 83 ร่วมกันทำร้ายร่างกาย โดยทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้าย จนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ที่มีโทษสถานหนักกว่า
ทั้งนี้ ได้มีการนัดฟังคำพิพากษาครั้งแรกวันที่ 25 สิงหาคม 2566 แต่ทว่าศาลกลับแจ้งให้คู่ความทราบในวันนัดว่ามีปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ แม้จะใช้เวลา “พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ” นานนับสิบปีที่ผ่านมาแล้วก็ตาม จึงให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 25 ตุลาคม 2566
ซึ่งในวันนี้ ศาลมณฑลทหารบกที่ 46 ปัตตานี ได้นัดอ่านคำพิพากษา โดยมีตัวแทนองค์กรสิทธิมนุษยชน และครอบครัวของพลทหารวิเชียรมาเฝ้ารอฟังคำตัดสิน โดยญาติๆ ระบุว่า “อยากให้คดีนี้เป็นคดีตัวอย่างในการลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน” แต่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทุกคนต้องผิดหวัง!
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ศาลทหารเลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาอีกเป็นครั้งที่สอง จากวันนี้(25 ตุลาคม) ไปเป็นวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 โดยในครั้งนี้ ศาลชี้แจงว่า “คดีนี้เป็นคดีที่ต้องมีการพิจารณาหลายประเด็นโดยละเอียด และคดีนี้ยังอยู่ในเขตพื้นที่กฎอัยการศึกอีกด้วย จึงต้องส่งให้ฝ่ายหัวหน้ามณฑลทหารพิจารณา”
เป็นอันว่าการรอคอยความยุติธรรมยังคงต้องดำเนินต่อไปอีก ขณะที่รอยด่างของกองทัพบกที่ไม่เคยถูกชำระสะสางเสียทีจนกลายเป็นมลทินซ้ำซากที่เกิดในค่ายทหาร ก็ยังคงมีคดีปรากฎอยู่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และ “ฆาตกรในเครื่องแบบ” ก็ยังคงลอยนวลอยู่ในค่ายทหารกินเงินเดือนจากภาษีประชาชนเหมือนเดิม ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว คำถามก็คืออีกนานแค่ไหนที่ฝ่ายกองทัพไทยจะปฏิรูปกระบวนการทั้งองคาพยพที่นำ ‘ความเสื่อม’ มาสู่หน่วยงานของตนเสียที?
ฮัลวา ตาญี – รายงาน
https://www.facebook.com/CrCF.Thailand/posts/808968434360168?ref=embed_post