ก.คมนาคม จับมือหัวเว่ย โชว์เทคโนโลยี AI สุดล้ำ นำมาช่วยเหลือการให้บริการประชาชน!

สุริยะ” เล็งนำเทคโนโลยี AI มาใช้พัฒนาโครงการและให้บริการประชาชน สร้างความสะดวก สบาย ทันสมัย ตอกย้ำนโยบาย “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน”

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ Mr. David Li ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด และคณะเข้าพบ เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีที่ทันสมัย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคม โดยมี นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ร่วมหารือ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมของหัวเว่ยจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม โดยกระทรวงฯ มีนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก น้ำ ราง และอากาศ อาทิ การพัฒนาท่าอากาศยาน และท่าเรือให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค นอกจากนี้ การขนส่งในประเทศจะเน้นการขนส่งจากทางถนนเป็นทางรางมากยิ่งขึ้น เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ โดยประเทศไทยมีสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพี ประมาณ 14% โดยสูงกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีสัดส่วนน้อยกว่า 10%

ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวเสริมว่า เทคโนโลยี AI จะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชน ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น รวมถึงการปรับปรุงมาตรฐานด้านระบบรางเพื่อพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศอย่างยั่งยืน ตลอดจนการบูรณาการในการจัดเก็บข้อมูลดิจิทัลแบบเรียล์ไทม์ระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เพื่อติดตามสถานการณ์ด้านการขนส่งอย่างใกล้ชิด

Mr. David Li ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด

Mr. David Li กล่าวว่า บริษัท Huawei มีความยินดีในการสร้างความร่วมมือกับกระทรวงคมนาคม ทั้งการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ในระบบคมนาคมขนส่ง การพัฒนาทักษะและการฝึกอบรมบุคลากรด้านเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างการขนส่งอัจฉริยะ (Smart Transportation) ของประเทศไทย โดยได้นำเสนอเทคโนโลยีที่ทันสมัยซึ่งได้นำมาใช้ในคมนาคมขนส่งทั้งทางบก น้ำ ราง และอากาศ ได้แก่ การพัฒนาท่าอากาศยานอัจฉริยะ (Smart Airport) การพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) การพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) การพัฒนารถไฟในเมืองอัจฉริยะ (Smart Urban Rail) และการพัฒนาถนนอัจฉริยะ (Smart Roadway)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *