บขส. ชูนโยบาย “ต่อยอดธุรกิจ สร้างรายได้ ให้บริการ Feeder Services

“สุรพงษ์” มอบนโยบายและตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของ บขส. ชูนโยบาย “ต่อยอดธุรกิจ สร้างรายได้ ให้บริการ Feeder Services พัฒนาเทคโนโลยีให้เข้าถึงบริการได้สะดวก รวดเร็ว”

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มอบนโยบายการดำเนินงาน และตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามภารกิจของบริษัท ขนส่ง จำกัด พร้อมด้วย นางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก โดยมี นางสาวระพิพรรณ วรรณพินทุ รองกรรมการผู้จัดการ ปฏิบัติหน้าที่แทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด ผู้บริหาร และพนักงานให้การต้อนรับ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 อาคารสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร)

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้มอบหมาย ให้ตนกำกับดูแลหน่วยงานระบบรางและทางบก โดยบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เป็น 1 ใน 8 หน่วยงานที่ได้กำกับดูแล ตนได้ให้นโยบายกับทุกหน่วยงานตั้งแต่แรกว่า นโยบายหลัก ๆ เน้นการทำงานตอบสนองนโยบายของรัฐบาล และเดินหน้านโยบาย Quick Win “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” รวมถึงนโยบายอื่น ๆ ที่สำคัญ เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ โดยมุ่งเน้นความสุขของประชาชนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความปลอดภัย การให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากล และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

จะเห็นได้ว่า บขส. เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงฯ ที่มีภารกิจในการให้บริการประชาชนด้วยรถโดยสารจากกรุงเทพฯ ไปยังต่างจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สปป.ลาว และกัมพูชา มีการพัฒนาธุรกิจ อาทิ การให้บริการขนส่งผู้โดยสาร บริการรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ บริการเช่าเหมารถไม่ประจำทาง และบริการ ตรวจสภาพรถอย่างต่อเนื่อง โดยได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยเข้ามาใช้ เพี่อปรับรูปแบบ การให้บริการผู้โดยสารให้มีความทันสมัย สะดวก ปลอดภัย ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจเดินรถโดยสารได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 แม้ปัจจุบันสถานการณ์จะคลี่คลาย แต่จำนวนผู้โดยสารลดลงอย่างเห็นได้ชัด จึงถือเป็นความท้าทายที่ บขส. จะต้องหาแนวทางในการเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะให้มากขึ้น

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานของ บขส. สอคล้องกับนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล และเป็นไปตามนโยบาย “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” จึงได้มอบนโยบายในการขับเคลื่อนภารกิจของ บขส. ดังนี้
1. วิเคราะห์ต้นทุนรายรับ รายจ่าย กำหนดกลยุทธ์ในอนาคตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร
2. บริหารต้นทุนคงที่ / ต้นทุนผันแปรให้มีความชัดเจน กำหนดทิศทางองค์กรให้ได้ ให้บริการโดยสารเชื่อมต่อแบบ Feeder เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าโดยรอบกรุงเทพฯ ที่ปลายสถานี เช่น สถานีคลองบางไผ่ บางหว้า รังสิต ซึ่งจะช่วยลดปริมาณรถโดยสารเข้าในเมือง และลดปัญหาการจรราจรติดขัด
3. ปรับปรุงจุดจอดรถ บูรณาการการให้บริการที่เชื่อมต่อกับระบบรถไฟในเส้นทางต่างจังหวัด ทำให้ประชาชนเดินทางได้อย่างสะดวกและไร้รอยต่อ
4. เพิ่มการจำหน่ายตั๋วโดยสารแบบออนไลน์ให้ได้ 100% ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 30% โดยให้เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น การจำหน่ายตั๋วของรถไฟ และเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันสาธารณะอื่น ๆ
5. พิจารณานำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการตรวจสอบระบบบัญชี โดยจัดส่งข้อมูลเข้าส่วนกลางทันที
6. ให้จำหน่ายตั๋วล่วงหน้าให้นานขึ้นกว่าปัจจุบัน โดยให้พิจารณาว่าจากที่จำหน่ายตั๋วล่วงหน้า 90 วันก่อนเดินทาง เปลี่ยนมาเป็นจำหน่ายล่วงหน้า 1 ปีได้หรือไม่ ทั้งนี้ อาจจะลดราคาให้ผู้ซื้อตั๋วล่วงหน้าเพื่อเป็นการจูงใจ ซึ่ง บขส. จะสามารถบริหารจัดการและสำรองรถได้ รวมทั้งมีเงินหมุนเวียนในระบบ
7. ติดตามตรวจสอบข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะของผู้ใช้บริการจากสื่อสังคมออนไลน์ โดยให้เป็นลักษณะการสื่อสารสองทาง โดยอาจจะใช้แอปพลิเคชันไลน์สำหรับการประเมินผลงานและประสิทธิภาพ การให้บริการ
8. การสร้างรายได้ในเชิงการตลาด ควรจ้างบุคคลภายนอก (Outsource) ดำเนินการ เพื่อลดภาระและต้นทุนขององค์กร
9. พิจารณาแนวทางที่จะได้รับประโยชน์จากที่ดิน โดยให้เปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย รายรับ รายจ่ายที่จะได้รับจริงประกอบการพิจารณาก่อนดำเนินการ
10. ตรวจสอบที่ดินของ บขส. ที่มีอยู่ สามารถแปลงเป็นสถานีโดยรอบกรุงเทพฯ เพื่อจะลดปริมาณรถโดยสารเข้าในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *