กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก เตือน PM 2.5 ฝุ่นจิ๋ว มลพิษทางอากาศ ส่งผลกระทบเป็นภัยร้ายต่อสุขภาพ เสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง หากได้รับอย่างต่อเนื่อง
จากสถานการณ์ฝุ่นPM 2.5 ที่มีค่าเกินมาตรฐาน ในหลายพื้นที่ และเริ่มกลายที่วิตกกังวลของหลายฝ่าย เกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพของประชาชน ซึ่งหลายคนอาจยังมีข้อสงสัยถึงภัยอันตรายของ PM2.5 ว่ามีอันตรายมากน้อยเพียงใด ท่ามกลางคำเตือนที่ให้หลายๆ พื้นที่ทั่วไทย ในหลายๆ จังหวัด “งดกิจกรรมกลางแจ้ง” แล้วป้องกันสุภาพจากภัยมลพิษ
เกี่ยวกับโรคที่จะเกิดขึ้นจาก PM2.5 ในคำอธิบายที่ประชาชนพึงตระหนักถึงคำเตือนและปฏิตามคำแนะนำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสุขภาพของทุกคน PM2.5 ร้ายแรงเพียงใดไปลองฟัง นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ซึ่งออกมาเปิดเผยว่า ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่มีค่าเกินมาตรฐาน เป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายต่อสุขภาพ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายผ่านระบบทางเดินหายใจ หากได้รับอย่างต่อเนื่องหรือในปริมาณที่มาก จะส่งผลกระทบสะสมต่อสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาวอย่างร้ายแรง ปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหา PM 2.5 ในปัจจุบัน คือ มีแหล่งสร้างมลพิษทางอากาศที่ไม่สามารถควบคุมให้ลดลงได้ เช่น การเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องจักร โดยเฉพาะเครื่องยนต์ทั้งรถยนต์ใหม่เก่า การเผาป่า การเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งการก่อสร้างที่มีอยู่แทบทุกพื้นที่ ซึ่งปัจจัยต่างๆเหล่านี้เป็นปัญหาทำให้คุณภาพอากาศแย่ลง
ด้านนายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า PM 2.5 ทำให้อวัยวะต่างๆของร่างกายเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง ด้วยฝุ่น PM 2.5 ที่มีขนาดเล็กมาก ทำให้ฝุ่นสามารถเข้าสู่ร่างกายจากหลอดลมไปหลอดเลือด และกระจายไปส่วนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เมื่อได้รับเป็นระยะเวลานานจนเกิดการสะสมทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ โดยกลุ่มเสี่ยงได้แก่ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายได้หลายระบบ สำหรับระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพองเกิดอาการกำเริบของโรค เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหอบหืดในคนปกติ รวมทั้งหอบหืดในเด็ก และในระยะยาวจะทำให้สมรรถภาพปอดลดลง จนเกิดเป็นโรคถุงลมโป่งพองในผู้ไม่สูบบุหรี่ นอกจากนี้ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งปอดอีกด้วย ระบบหัวใจและหลอดเลือด ฝุ่นละออง PM 2.5 สามารถทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะต่างๆได้ทั่วร่างกาย ส่งผลให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด เพิ่มอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคหัวใจ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ในหญิงตั้งครรภ์หากสูดดมฝุ่น PM 2.5 เป็นเวลานาน จะส่งผลกระทบกับทารกในครรภ์อีกด้วย
สัญญานที่บ่งบอกว่าร่างกายกำลังได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 คือ มักมีอาการไอเรื้อรัง ระคายเคืองตา คัดจมูก แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ผิวหนังเป็นตุ่มหรือผื่นนูนแดง ดังนั้นเราควรป้องกันตนเองจากมลพิษทางอากาศ หากพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติของร่างกายให้รีบมาพบแพทย์ทันที