รมว.อุตฯหนุนประเพณีไทย ลอยกระทงนี้วอนอุดหนุนสินค้ามาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ชุมชนทั่วไทย
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ร่วมสืบสานประเพณีไทย วอนเลือกใช้กระทงที่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการอุดหนุนสินค้าไทย และกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในระดับชุมชนด้วย
“กระทงจากวัสดุธรรมชาติที่ผลิตโดยผู้ผลิตชุมชนที่ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นสินค้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้การรับรองว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความประณีต สวยงาม ไม่มีกลิ่นสารเคมี สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ สำหรับบางพื้นที่ที่มีประเพณีการปล่อยโคมลอยในเทศกาลลอยกระทง ก็ขอแนะนำให้ปล่อยโคมลอยที่ได้มาตรฐาน มผช. ด้วย รวมทั้งให้ยึดถือปฏิบัติตามประกาศมาตรการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยของส่วนราชการในพื้นที่อย่างเคร่งครัด ซึ่งจะควบคุมการปล่อยโคมลอยในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้สนามบิน เพื่อไม่ให้โคมลอยเข้าไปติดในเครื่องบิน หรือลอยเข้าไปตกตามชุมชน รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมห่วงใยชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ไม่อยากให้เกิดความเสียหายในเทศกาลแห่งความสุขนี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมฯ กล่าว
ด้าน นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีผู้ผลิตกระทงเปลือกข้าวโพดที่ได้มาตรฐาน มผช. จำนวน 7 ราย ได้แก่ 1) กลุ่มแม่บ้านเกาะพิมูลพัฒนา 2) นางสตรีรัตน์ ชูอินทร์ 3) กลุ่มกระทงแฟนซีจากเปลือกข้าวโพด 4) นางเตือนคนึง ราชา 5) วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตกระทงตำบลลานดอกไม้ตก 6) กลุ่มกระทงเปลือกข้าวโพดบ้านลานดอกไม้ตกหมู่ที่ 1 และ 7) นางวิรัตน์ ทวนธง และมีผู้ผลิตโคมลอยที่ได้มาตรฐาน มผช. จำนวน 1 ราย ได้แก่ นางชไมพร วงศ์สถาน จึงขอเชิญชวนประชาชนคนไทยร่วมกันสนับสนุนสินค้าไทย เพื่อกระจายรายได้ และสร้างความยั่งยืนให้กับสินค้าชุมชน เนื่องจากกระทงจากวัสดุธรรมชาติที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน มผช. เป็นสินค้าที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม มีความประณีต สวยงาม ไม่มีกลิ่นสารเคมี ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และโคมลอยที่ได้มาตรฐาน มผช. ตัวโคมจะใช้วัสดุจากธรรมชาติ มีปริมาณเชื้อเพลิงไม่เกิน 55 กรัม ใช้เวลาในการเผาไหม้ไม่เกิน 8 นาที ซึ่งเหมาะสมกับระยะเวลาที่โคมลอยอยู่ในอากาศ และเมื่อตกลงมาสู่พื้นก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ มีการยึดตัวโคมด้วยวัสดุที่เป็นเชือกทนไฟ หรือลวดที่มีความยาวไม่เกิน 30 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรหากโคมลอยตกพาดบนสายไฟ อันเป็นสาเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ตามมาได้ ทั้งนี้ สามารถเลือกซื้อกระทงและโคมลอยที่ได้มาตรฐาน มผช. ได้ตามรายละเอียดบนเว็บไซต์ สมอ. หรือจะสั่งซื้อทางแอพพลิเคชั่นช้อปปิ้งออนไลน์ต่างๆ ก็ได้
ปัจจุบัน สมอ. ได้กำหนดมาตรฐาน มผช. แล้วทั้งสิ้น 1,670 มาตรฐาน มีผู้ผลิตชุมชนได้รับการรับรองรวม 11,071 ราย แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ อาหาร 1,347 ราย เครื่องดื่ม 227 ราย ผ้าและเครื่องแต่งกาย 3,730 ราย สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 693 ราย และของใช้ ของตกแต่งและของที่ระลึก 5,074 ราย สามารถดูรายชื่อผู้ที่ได้รับการรับรองได้ที่ https://tcps.tisi.go.th/public/certificatestandard.aspx หากผู้ผลิตชุมชนต้องการขอการรับรองมาตรฐาน มผช. สามารถยื่นขอได้ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ นายวันชัยฯ กล่าว