กรมการแพทย์แผนไทยฯ เดิาหน้านโยบาย ปี 2567 “คนไทยสุขภาพดี เศรษฐกิจมั่งคั่ง”

กรมการแพทย์แผนไทยฯ เดินหน้าขับเคลื่อน นโยบายงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2567 สู่เป้าหมาย“คนไทยสุขภาพดี เศรษฐกิจมั่งคั่ง (Health for Wealth)”

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พร้อมขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ ปีงบประมาณ 2567 สู่เป้าหมาย“คนไทยสุขภาพดี เศรษฐกิจมั่งคั่ง (Health for Wealth)” พร้อมเดินหน้าด้วยกลยุทธ์ “3I1D” ชู อัตลักษณ์ นวดไทย อาหารไทย Soft power ของประเทศ พร้อมตั้งเข็มมุ่ง ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการแพทย์ดั้งเดิม และ เดินหน้าขับเคลื่อน “สมุนไพร Herbal Champions 15 รายการ”ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศชาติ

ที่ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ นนทบุรี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมสื่อสารนโยบายมุ่งเน้น และการมอบนโยบายกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วย ผู้บริหาร บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้าร่วมประชุม การประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ สื่อสารเป้าประสงค์ และความคาดหวังผลสำเร็จของการขับเคลื่อนด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ด้วยกลยุทธ์ “3I1D” โดย I ที่ 1 คือ Integrity สร้างความเชื่อมมั่น I ที่ 2 Integration ผสานพลังเครือข่าย I ที่ 3 Innovation นวัตกรรมเพิ่มคุณค่า และ D Data-Driven ขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูล โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมคิด ลงมือทำ สร้างความเชื่อมั่น ส่งเสริมนวัตกรรมภูมิปัญญา ประยุกต์ใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ เสริมภาพลักษณ์ และวิธีการทันสมัย ด้วยข้อมูลคุณภาพทันสถานการณ์ สร้างการยอมรับในระบบสุขภาพ สู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2567 นี้ กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายมุ่งเน้นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมีเป้าหมายหลัก 13 ประเด็น แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ การแก้ปัญหา การวางรากฐาน และการสร้างเศรษฐกิจ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มี 6 ประเด็น ได้แก่ โครงการพระราชดำริ สุขภาพจิต/ ยาเสพติด ปฐมภูมิ สถานชีวาภิบาล ดิจิทัลสุขภาพ และเศรษฐกิจสุขภาพ ประเทศไทยมีความ โดดเด่นของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรที่สามารถขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยผสมผสานกับการแพทย์ แผนปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสุขภาพได้อย่างโดดเด่น จากสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมา ประชาชนหันมาสนใจด้านสุขภาพ อาหารไทย สมุนไพรเพิ่มมากขึ้น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้เดินหน้าผลักดันเศรษฐกิจสุขภาพ โดยส่งเสริมนวดไทยเพื่อการสร้างงานสร้างอาชีพ อาหารไทยเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และการดูแลสุขภาพใน Wellness Communities

ตามที่ รัฐบาลมุ่งเน้นนโยบายสนับสนุน Soft power ของประเทศและนวดไทย ถือเป็นอัตลักษณ์ของไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนา เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการผลิตบุคลากรให้บริการนวดไทยเพื่อสุขภาพและผ่านการรับรองกว่า 30,000 คน ที่ให้บริการนวดไทยทั้งในภาครัฐและเอกชน และที่สำคัญประเทศไทยยังมีรายได้จากการท่องเที่ยวด้านอาหารที่ทำรายได้ให้กับประเทศถึงร้อยละ 20 ของรายได้รวมจากการท่องเที่ยวทั้งหมดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า รายได้จากอาหารและเครื่องดื่มของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.74 อาหารไทยจึงเป็นอีกหนึ่ง Soft power ที่รัฐบาลส่งเสริมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง สู่เป้าหมาย“คนไทยสุขภาพดี เศรษฐกิจมั่งคั่ง (Health for Wealth)”

ทางด้าน นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า สำหรับ ปี 2567 นี้ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีเข็มมุ่งให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการแพทย์ดั้งเดิม โดยมีเป้าหมาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่น บริการเป็นเลิศ และภูมิปัญญาสร้างคุณค่า สนับสนุนการนำงานวิจัยต่อยอดสู่นวัตกรรม เพื่อปรับใช้ในการให้บริการ ลดความเหลื่อมล้ำ ต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิมสู่การสร้างมูลค่า สร้างรายได้ หนุนเสริมเศรษฐกิจ ภายใต้ฐานข้อมูลที่มีคุณภาพ เพื่อการให้บริการประชาชนอย่างเท่าเทียม

โดยในปี 2566 สปสช. ได้สนับสนุนค่าบริการเพิ่มเติม (On top) คือ 19.16 ต่อหัวประชากร ซึ่งในปี 2567 อยู่ระหว่างเสนอร่างขอให้ สปสช.เพิ่มเงินสนับสนุนค่าบริการเพิ่มเติม (On top) เป็น 30.33 ต่อหัวประชากร ในส่วนการขับเคลือนนโยบายสมุนไพรไทย ได้เดินหน้าขับเคลื่อน “สมุนไพร Herbal Champions 15 รายการ” ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสมุนไพรตลอดห่วงโซ่คุณค่า มีการวางเป้าหมายออกสู่ตลาดโลก เพื่อสร้างเศรษฐกิจรายได้ของประชาชน และ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศชาติ ต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *