ปรับเงินเดือนข้าราชการส่งผลดีต่อกำลังซื้อ สนค.ยันไม่มีผลต่อเงินเฟ้อ!

สนค. เผยปรับเงินเดือนข้าราชการส่งผลดีต่อกำลังซื้อ และมิได้ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “ผลกระทบของการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย”เบื้องต้นประเมินว่า ผลกระทบจากนโยบายทั้งด้านอุปทานและอุปสงค์ จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยน้อยมาก เนื่องจากจำนวนบุคลากรภาครัฐที่ได้รับผลจากนโยบายมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 4.7 ของลูกจ้างชาวไทยทั้งหมด ประกอบกับหน่วยงานราชการภาครัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อการให้บริการหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน และให้บริการประชาชน มิได้แสวงหากำไร ดังนั้น การส่งผ่านต้นทุนดังกล่าวมายังค่าบริการของภาครัฐจึงทำได้จำกัด และเมื่อพิจารณาข้อมูลในปี 2558 ซึ่งมีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการเช่นกัน ก็มิได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่จะส่งผลให้การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และจะส่งผลให้ความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของบุคลากรเหล่านี้ดีขึ้น รวมทั้งเป็นการรักษาและดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพ มีคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการ ซึ่งจะเสริมสร้างประสิทธิภาพของระบบราชการไทยต่อไป

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเสนอ โดยมีแนวทางสำคัญคือ การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิการศึกษาให้มีความเหมาะสม การปรับเงินเดือนชดเชยผู้ที่มีฐานเงินเดือนต่ำ และปรับเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวให้เหมาะสมยิ่งขึ้นเพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการ โดยมีแนวทางการปรับอัตราเงินเดือนที่อ้างอิงจากปี 2555 ที่มีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน และปรับเพิ่มเงินเดือนระดับปริญญาตรีที่บรรจุแรกเข้าเป็น 15,000 บาท/เดือน ดังนี้

1. การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ ในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับปริญญาตรีจะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 18,000 บาท/เดือน และผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับ ปวช. จะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 11,000 บาท โดยจะทยอยปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิเพิ่มขึ้น (ทุกคุณวุฒิ) และแตกต่างกันตามระดับคุณวุฒิการศึกษา ภายใน 2 ปี โดยเฉลี่ยจะปรับร้อยละ 10 ต่อปี (เริ่ม 1 พ.ค. 67 และ 1 พ.ค. 68)
2. การปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ โดยจะชดเชย 2 ครั้ง พร้อมกับปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในปีที่ 1 และปีที่ 2 เฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี เช่นเดียวกับเงินเดือนผู้แรกเข้า ครอบคลุมผู้เข้ารับราชการก่อนวันที่อัตราแรกบรรจุที่กำหนดใหม่มีผลใช้บังคับอย่างน้อย 10 ปี ซึ่งจำนวนเงินเดือนที่ขึ้นจะแบ่งเป็นช่วง ๆ ตามเงินเดือน
3. การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว เป็นมาตรการที่มีอยู่แล้ว แต่มีการปรับปรุงให้เหมาะสมมากขึ้น ดังนี้
3.1 ข้าราชการที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 13,285 บาท/เดือน เดิมได้รับค่าครองชีพชั่วคราวเพิ่ม 2,000 บาท/เดือน แต่ไม่เกิน 13,285 บาท/เดือน โดยจะปรับเพดานใหม่เป็นข้าราชการที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 14,600 บาท/เดือน จะได้ค่าครองชีพชั่วคราวเพิ่ม 2,000 บาท แต่ไม่เกิน 14,600 บาท/เดือน
3.2 เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน เดิมได้ค่าครองชีพชั่วคราวเพิ่มไม่เกิน 10,000 บาท/เดือน โดยจะปรับเพดานใหม่ให้ได้ค่าครองชีพชั่วคราวเพิ่ม ไม่เกินเดือนละ 11,000 บาท/เดือน

สำหรับการปรับอัตราเงินเดือนของกลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าว สนค. คาดการณ์เบื้องต้นว่า นโยบายนี้จะไม่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ และอุปสงค์ที่ผ่านมายังอัตราเงินเฟ้อของไทยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องด้วยหน่วยงานราชการเป็นสถานประกอบการที่ภาครัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อการให้บริการหน่วยงานภาครัฐด้วยกันและให้บริการประชาชน มิได้แสวงหากำไร ต้นทุนหรืองบประมาณรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน เหตุผลดังกล่าวจึงเป็นข้อจำกัดในการขึ้นค่าบริการของหน่วยงานภาครัฐที่จะส่งผ่านมายังภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน แม้กลุ่มบุคลากรภาครัฐที่คาดว่าจะได้รับผลจากนโยบาย จะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 27.8 ของบุคลากรภาครัฐทั้งหมด

ขณะเดียวกัน หากเปรียบเทียบจำนวนข้าราชการที่คาดว่าจะได้รับผลจากนโยบายกับผู้มีรายได้กลุ่มอื่นพบว่า
มีสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับจำนวนลูกจ้างชาวไทย และร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับผู้มีงานทำชาวไทย (อาทิ นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ทำงานส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง) ทั้งหมด ทำให้ขนาดกำลังซื้อที่จะเพิ่มขึ้นจากนโยบายดังกล่าวมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำมากหากเทียบกับกำลังซื้อของลูกจ้างหรือผู้มีงานทำกลุ่มอื่น ที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามระดับรายได้ที่สูงขึ้นตามผลการดำเนินงาน ระยะเวลาการทำงาน ทักษะ ความสามารถ และประสบการณ์ ด้วยเหตุผลข้างต้น กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นจึงไม่น่าส่งผลต่อระดับราคาสินค้าและบริการและอัตราเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งเมื่อพิจารณาอัตราเงินเฟ้อในช่วงระยะเวลาที่มีนโยบายปรับเพิ่มค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ เห็นได้ว่าอัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวตามปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่นมากกว่าผลของนโยบายปรับค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ อาทิ การดำเนินมาตรการครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ซึ่งรัฐบาลปรับเงินเดือนข้าราชการเพิ่ม 1 ขั้น สำหรับระบบเงินเดือนแบบขั้น หรือร้อยละ 4.0 ของอัตราเงินเดือน สำหรับระบบเงินเดือนแบบช่วง รวมถึงปรับค่าตอบแทนพนักงานราชการโดยการเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว และปรับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ในพนักงานราชการบางกลุ่ม อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 กลับลดลงร้อยละ 0.9 (AoA) เมื่อเทียบกับปี 2557 เนื่องด้วยได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงเป็นอย่างมาก ส่งผลต่อราคาน้ำมันจำหน่ายปลีกในประเทศลดลง

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า “การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย
น้อยมาก เนื่องจากหน่วยงานราชการภาครัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อการให้บริการหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน และให้บริการประชาชน มิได้แสวงหากำไร ต้นทุนหรืองบประมาณรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นข้อจำกัดในการขึ้นค่าบริการของหน่วยงานภาครัฐที่จะส่งผ่านมายังภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ประกอบกับจำนวนบุคลากรรัฐที่ได้รับผลจากนโยบายมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนลูกจ้างชาวไทยหรือผู้มีงานทำชาวไทย การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายดังกล่าวอย่างน้อยจะส่งผลให้การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต แต่จะไม่ส่งผลต่อระดับราคาสินค้าและบริการและอัตราเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ”

นายพูนพงษ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มรายได้ และกำลังซื้อ ซึ่งจะส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของบุคลากรเหล่านี้ โดยเฉพาะผู้ที่บรรจุในคุณวุฒิที่ไม่สูงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งเป็นการรักษาและดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพ มีคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและการปฏิบัติงานของส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐควบคู่กันไปด้วย อย่างไรก็ตาม ควรเฝ้าระวังเรื่องการฉวยโอกาสในการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการที่ไม่สมเหตุผล รวมถึงจะต้องติดตามสถานการณ์การปรับขึ้นค่าบริการที่เกี่ยวข้อง อาทิ ค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมสถาบันการศึกษาของเอกชน ค่าบริการทางการแพทย์/ค่าการตรวจรักษาสถานพยาบาลเอกชน อย่างใกล้ชิดต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *