“เสริมศักดิ์” เปิดตัว “ชุมชนคุณธรรมวัดบ้านหงาว” ระนอง สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ปี 2566 พร้อมโชว์อาหารถิ่น ผ้าบาติกหัตถศิลป์ดิ้นโบราณ ร่อนแร่ ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม ต้อนรับครม. สัญจร ระนอง มั่นใจสร้างรายได้ เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน และคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ จังหวัดระนอง เพื่อเยี่ยมชมการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ตามนโยบายรัฐบาลด้านการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว โดยสนับสนุน Soft Power และพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช เปิดเผยว่า ในโอกาสที่คณะรัฐมนตรีได้กำหนดจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 1/2567 และตรวจราชการในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล) ระหว่างวันที่ 22 -23 มกราคม 2567 ด้านกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ซึ่งมีนโยบายในการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม พร้อมปลุกกระแสการท่องเที่ยววิถีชุมชน สร้างโอกาส สร้างรายได้ เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน จึงลงพื้นที่เป็นประธานในพิธีเปิดสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปี 2566 ชุมชนคุณธรรมวัดบ้านหงาว ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ชุมชนคุณธรรมที่ได้รับการคัดเลือกและประกาศให้เป็นสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปี 2566 เพื่อเป็นกำลังใจให้กับชาวชุมชน และโชว์ความเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง เป็นแหล่งสถานที่ท่องเที่ยวของไทยที่ห้ามพลาด จากนั้น เยี่ยมชมการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม สาธิตภูมิปัญญา ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม (CPOT) และอาหารขึ้นชื่อของชุมชนอีกมากมาย นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่นภายในชุมชนดังกล่าว อาทิ อุโบสถวัดบ้านหงาว สักการะ “หลวงพ่อดีบุก” ซึ่งหลวงพ่อดีบุกเป็นพระประธานในอุโบสถของวัดบ้านหงาว และพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำตำบลหงาวและจังหวัดระนอง สร้างขึ้นจากแร่ดีบุกที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่ตำบลหงาว เป็นต้น อีกด้วย
สำหรับชุมชนคุณธรรมวัดบ้านหงาว เป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ที่มีความโดดเด่น เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดระนอง เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อดีบุก และภายในวัดเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเฉลิมราช เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชนเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงวัฒนธรรม ประเพณี รวมทั้งความเป็นอยู่ วิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน มีวัตถุโบราณมากมายที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์และวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวตำบลหงาวตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันเก็บรักษาให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้า และยังมีวังมัจฉามีพันธุ์ปลาน้ำจืดนานาชนิดที่สามารถให้อาหารได้อย่างใกล้ชิด และที่สำคัญคือ มีบันไดคอนกรีตกว่า 300 ขั้น ที่สามารถใช้เดินขึ้นไปบนยอดของภูเขาเพื่อดูทิวทัศน์ของจังหวัดระนองได้รอบ 360 องศา
ชุมชนคุณธรรมวัดบ้านหงาวเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์มีความเกี่ยวเนื่องผูกพันกันระหว่างสามวัฒนธรรม ไทย-จีน-มุสลิม ที่ผสมกลมกลืนเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ทั้งในด้านการแต่งกายและการดำรงชีพ โดยนักท่องเที่ยวสามารถทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนได้ อาทิ กิจกรรมร่อนแร่ลองใช้วิถีชีวิตตามแบบของชุมชมวัดบ้านหงาวในอดีต เรียนรู้และร่วมทำผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น กระปุกออมสินเต่ามงคล “เต่าเรียกทรัพย์” ผ้ามัดย้อมใช้สีจากไม้โกงกางป่าชายเลนในชุมชน ฯลฯ และกิจกรรมปั่นจักรยานเพื่อเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ภายในชุมชน เป็นต้น
นอกจากนี้ ชุมชนคุณธรรมวัดบ้านหงาวยังมีเทศกาลประเพณีที่เกี่ยวข้องกับสามวัฒนธรรม ไทย-จีน-มุสลิม อาทิ “ประเพณีตักบาตรเทโว” ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น คือ มีริ้วขบวนประกอบด้วยพระภิกษุสงฆ์จำนวนมาก พร้อมกับขบวนผู้ที่แต่งกายเป็นพระอินทร์ เทวดา และนางฟ้าจำลองเดินลงมาจากยอดภูเขาหงาวที่มีขั้นบันไดจำนวน 343 ขั้น เพื่อลงมารับบิณฑบาตข้าวสาร อาหารแห้งจากพุทธศาสนิกชนชาวระนอง และชาวพม่านับพันคนที่พร้อมใจกันหยุดงานมาร่วมทำบุญตักบาตรเทโวในวันพระใหญ่ รวมถึง “เทศกาลวันฮารีรายอ” ซึ่งชาวมุสลิมจะถือศีลอดพร้อมกันในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ตามปฏิทินอิสลาม และกำหนดวันเฉลิมฉลองหลังการถือศีลอด และ “เทศกาลเช็งเม้ง” ของคนไทยเชื้อสายจีนเพื่อบูชาบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยทำพิธีเซ่นไหว้และปัดกวาดหลุมศพบรรพบุรุษในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี
ในส่วนของวันที่ 23 มกราคม 2567 เวลา 08.50 น. ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่หอประชุมคอซูเจียง ศูนย์ราชการจังหวัดระนอง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ครม. ร่วมเยี่ยมชมบูธนิทรรศการของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งนำเสนอผลการดำเนินงานที่สำคัญในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล) ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดระนอง ร่วมกับเครือข่ายผู้ประกอบการด้านวัฒนธรรม ได้นำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นและผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม (CPOT) เช่น การอาหารถิ่น การเขียนผ้าบาติก การทำหัตถศิลป์ดิ้นโบราณ การใช้ดิ้นทำเครื่องประดับการแต่งกายบาบ๋า ยาหยา รวมถึงวิถีชีวิตการร่อนแร่ของชาวระนอง มาจัดแสดงสาธิตต่อนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และสื่อมวลชนได้เยี่ยมชมโดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม และเครือข่ายทางวัฒนธรรมให้การต้อนรับ