“สุริยะ” ผลักดันความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่งระหว่างกระทรวงคมนาคมของไทยและสหราชอาณาจักร มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ พัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (EV) และการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ประสบปัญหาหลังเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่รถจักรยานยนต์
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ Mr. Mark Gooding เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย และคณะ เข้าพบเพื่อเยี่ยมคารวะในโอกาสที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และหารือความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่งระหว่างกระทรวงคมนาคมของไทยและกระทรวงคมนาคมของสหราชอาณาจักร หรือ UK Department for Transport (DfT) เกี่ยวกับทิศทางในการพัฒนาสู่สังคมคาร์บอนต่ำร่วมกัน และการพัฒนาระบบรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ตลอดจนมาตรการลดอุบัติเหตุจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ของนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ณ ห้องรับรองกระทรวงคมนาคม
นายสุริยะ กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้ ได้มีการนำเสนอแนวทางการพัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และกรมเจ้าท่า ที่ได้ร่วมกับ UK DfT และสหราชอาณาจักรดำเนินโครงการต่าง ๆ เช่น ด้านการลดคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมและการคมนาคมขนส่งของไทย แผนการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อยกระดับให้ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านการผลิตรถ EV รวมถึงการหารือแนวทางการให้ความช่วยเหลือกับนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับการขับขี่รถจักรยานยนต์ในประเทศไทย
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาของนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่นิยมเช่ารถจักรยานยนต์ในประเทศไทยเพื่อขับขี่ท่องเที่ยวและประสบอุบัติเหตุ ทำให้ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง แต่บริษัทประกันภัยไม่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล เนื่องจากการใช้ใบขับขี่ผิดประเภทในการซื้อกรมธรรม์ประกันภัย ส่งผลให้กรมธรรม์ประกันภัยของนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษไม่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลจากกรณีเกิดอุบัติเหตุ อีกทั้งการให้เช่ารถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ไม่ได้มีข้อบังคับให้ต้องทำประกันภัยสำหรับผู้ขับขี่ โดยในการประชุมหารือด้านการกงสุลสหราชอาณาจักร – ไทย ครั้งที่ 3 (The 3rd United Kingdom – Thailand Consular Dialogue) ร่วมกับกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ จะได้กำหนดประเด็นดังกล่าวในวาระการประชุม ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมการประชุม
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เข้าพบผู้แทนกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้แทน ขบ. เพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย โดยอยู่ระหว่างสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนและครอบคลุม เนื่องจากเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ควบคุมการออกใบอนุญาตกิจการให้เช่ารถจักรยานยนต์ แต่ไม่มีข้อบังคับให้ตรวจสอบใบอนุญาตขับขี่ก่อนเช่ารถจักรยานยนต์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ตรวจดูใบอนุญาตขับขี่และเปรียบเทียบปรับ หากพบเจอการกระทำผิดในขณะขับขี่ และ ขบ. มีหน้าที่ออกใบอนุญาตขับขี่ เป็นต้น