อีอีซี มอบรางวัล 12 ผลงานผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบยกระดับความร่วมมือทุกภาคส่วน

อีอีซี มอบรางวัล 12 ผลงานผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบ ยกระดับความร่วมมือระหว่างพื้นที่ชุมชน และพื้นที่อุตสาหกรรม เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นจากเขตพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี จัดพิธีมอบรางวัลผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบ ประจำปี 2566 (EEC Select 2023) จำนวน 12 ผลิตภัณฑ์ จาก 6 ผู้ผลิตต้นแบบ อีอีซี เพื่อแสดงศักยภาพผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นที่สร้างสรรค์จากวัตถุดิบ/องค์ความรู้ท้องถิ่น โดยชุมชน วิสาหกิจชุมชน และกิจการเพื่อสังคมหรือวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) ในพื้นที่ อีอีซี ด้วยกระบวนการที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ณ สำนักงานอีอีซี ห้องประชุม Conference 1-2 ชั้น 25 อาคารโทรคมนาคมบางรัก

ดร. จุฬา สุขมานพ เลขาธิการอีอีซี เปิดเผยว่า โครงการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบ (EEC Select) นับได้ว่าเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะส่งเสริมคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัด อีกทั้งยังสามารถนำไปสู่การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลสำเร็จจากการพัฒนาเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโยลีและนวัตกรรมที่เหมาะสมในการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ดังกล่าวในหลากหลายมิติ รวมถึงการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย และพัฒนาเครือข่ายให้แก่ชุมชน วิสาหกิจชุมชน และกิจการเพื่อสังคม หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) ในพื้นที่ อีอีซี เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ดร. จุฬา สุขมานพ เลขาธิการอีอีซี

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับตรารับรอง EEC Select 2023 จะต้องเป็นผลิตภัณฑ์มีความชัดเจน สะท้อนความโดดเด่นของเอกลักษณ์ในพื้นที่ อีอีซี และเป็นไปตามนโยบายการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการดำเนินงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ และ ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิต และ การออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงผู้ประกอบการในระดับประเทศ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการฯ อาทิ คุณธัญรัตน์ อินทร, ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, หม่อมหลวงคฑาทอง ทองใหญ่, คุณวีรศักดิ์ เพ้งหลัง, ดร.อำพล อาภาธนากร, คุณกิตติวุฒิ ศศิวิมลพันธุ์, คุณวิรัตน์ ศิริสกุลงาม, คุณเฉลิมชัย มหากิจศิริ, คุณณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูล และคุณวดี ภิญโญทรัพย์

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์คัดเลือกคัดเลือกผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบประจำปี 2566 (EEC Select 2023) กรรมการจะพิจารณาจากหลักเกณฑ์ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านปัจจัยการผลิต ด้านกระบวนการผลิต ด้านผลิตภัณฑ์ ด้านการตลาด และ ด้านการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน ซึ่งหลักเกณฑ์ทั้ง 5 นี้ จะสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนผลิตตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของผลิตภัณฑ์ที่เข้ารับการคัดเลือกในทุกมิติ และจะเป็นตัวแทนในการเล่าเรื่องราวในพื้นที่ อีอีซี ซึ่งพรั่งพร้อมไปด้วยปัจจัยด้านการผลิต บุคคลากร ที่จะสามารถพัฒนาความร่วมมือ และเชื่อมโยงประโยชน์ระหว่างพื้นที่อุตสาหกรรม และพื้นที่ชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม

โดยในปีนี้มีชุมชนต้นแบบที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก และเข้ารับรางวัลมีจำนวนทั้งสิ้น 12 ผลิตภัณฑ์
จาก 3 ประเภท ประกอบด้วย 1) ประเภท 1 ดาว : ผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบที่มีคุณภาพ สามารถพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ดั้งเดิมและวัตถุดิบจากชุมชน ด้วยความคิดสร้างสรรค์ หรือนวัตกรรม ร่วมกับหน่วยงานและองค์กรภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ อีอีซี จำนวน 9 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สเปรย์น้ำแร่ และ Room Diffuser โดย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มลุฟฟาลา กระเป๋าสะพาย และ กระเป๋าถือ โดย กลุ่มสัมมาชีพชุมชนบ้านชากมะหาด เสื้อผ้าสตรี เสื้อผ้าบุรุษ และกระเป๋าสะพาย โดย ชุมชนพนัสนิคม ยาสีฟันสมุนไพรอัดเม็ด โดย บริษัท มาบเอื้อง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และซอสมะม่วงรสดั้งเดิม โดยกลุ่มมะม่วงกวนท่าพลับโรงสีล่าง (ขนมทัยซอสทัย) 2) ประเภท 2 ดาว : ผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบที่มีคุณภาพมาตรฐาน สามารถองค์ความรู้ดั้งเดิม วัตถุดิบท้องถิ่น ด้วยความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม หรือเทคโนโลยี ร่วมกับหน่วยงานและองค์กรภาครัฐและเอกชนในประเทศ จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ น้ำตบกฤษณา และ Room Diffuser โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรผลิตไม้กฤษณา และ 3) ประเภท 3 ดาว ผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบที่มีคุณภาพมาตรฐานสากล สามารถถ่ายทอดและนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาแสดงบนผลิตภัณฑ์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบท้องถิ่นได้อย่างชัดเจนด้วยความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม หรือเทคโนโลยี และสามารถพัฒนาต่อยอดร่วมกับหน่วยงานและองค์กรภาครัฐและเอกชนจากต่างประเทศเพื่อบอกเล่าเรื่องราวความเป็น EEC Select ในระดับสากล จำนวน 1 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ น้ำมันกฤษณา โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรผลิตไม้กฤษณา

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบที่ได้รับการรางวัลในวันนี้จะได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์ผ่านตราสัญลักษณ์ EEC Select 2023 และจะได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ ช่องทางการจัดจำหน่ายในมิติต่างๆ ร่วมกับเครือข่ายทั้งในระดับภูมิภาค ประเทศ และระดับนานาชาติที่เข้มแข็ง อันจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันศักยภาพพื้นที่ในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) ให้เติบโตไปพร้อมกับพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *