บอร์ดอีวีเคาะ 2 มาตรการสำคัญ สนับสนุนการใช้อีวีเชิงพาณิชย์ ทั้งรถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) และรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck) พร้อมออกแพ็กเกจสนับสนุนผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน เสริมแกร่งอุตสาหกรรมอีวีไทย เดินหน้าสู่ศูนย์กลางอีวีอาเซียน
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดอีวี ซึ่งมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งรถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) และรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck) เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในการลดการปล่อยคาร์บอน ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงช่วยสร้างฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในประเทศ มาตรการดังกล่าวจะอนุญาตให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งาน โดยไม่กำหนดเพดานราคาขั้นสูง ในกรณีซื้อรถที่ผลิต/ประกอบในประเทศ สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า และในกรณีนำเข้ารถสำเร็จรูปจากต่างประเทศ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า โดยมาตรการนี้จะมีผลใช้บังคับจนถึงสิ้นปี 2568 และที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากร พิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
“การที่บอร์ดอีวีได้ออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดจากมาตรการ EV3 และ EV3.5 ที่เน้นกลุ่มรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ และรถกระบะเป็นหลัก คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยเร่งให้เกิดการปรับเปลี่ยนรถยนต์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คัน ช่วยลดการปล่อยมลภาวะในภาคการขนส่ง และตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางอีวีของภูมิภาคในรถยนต์ทุกประเภท” นายนฤตม์ กล่าว
นอกจากนี้ บอร์ดอีวี ยังได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) เพื่อดึงดูดให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ ซึ่งเป็นการผลิตต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
โดยผู้ลงทุนจะสามารถขอรับสิทธิประโยชน์และเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศฯ ภายใต้บีโอไอ โดยมีเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับผู้ลงทุน ดังนี้ (1) ต้องเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำที่มีการใช้งานโดยผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (2) ต้องมีแผนการผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยสามารถผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ด้วยได้ (3) ต้องผลิตเซลล์แบตเตอรี่ที่มีค่าพลังงานจำเพาะ ไม่น้อยกว่า 150 Wh/Kg และ(4) ต้องมีจำนวนรอบการอัดประจุ (Life Cycle) ไม่น้อยกว่า 1,000 รอบ โดยกำหนดเวลายื่นข้อเสนอโครงการลงทุนภายในปี 2570 ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศฯจะพิจารณากำหนดรายละเอียดของหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติต่อไป
“แบตเตอรี่ ถือเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมอีวี ปัจจุบันมีผู้ผลิตแบตเตอรี่ในระดับโมดูลและแพ็คในประเทศหลายราย แต่เรายังขาดต้นน้ำที่สำคัญ คือ การผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและใช้เงินลงทุนสูง การออกมาตรการส่งเสริมในครั้งนี้ เพื่อดึงบริษัทชั้นนำของโลกเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย ซึ่งไม่เพียงจะช่วยเติมเต็มห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอีวีไทย แต่ยังช่วยต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางโลกที่มุ่งให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดในการดำเนินธุรกิจ” นายนฤตม์ กล่าว
ทั้งนี้ บอร์ดอีวี ยังได้เห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 เช่น ขยายขอบเขตของรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิให้ครอบคลุมรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และเพิ่มคุณสมบัติของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า กรณีที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 3 kWh แต่มีระยะทางวิ่งมากกว่า 75 กิโลเมตรต่อรอบการชาร์จ รวมทั้งมีมาตรฐานความปลอดภัย สามารถเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ได้ เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการมากขึ้น
ที่ผ่านมา มาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐสามารถกระตุ้นตลาดอีวีในประเทศให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เห็นได้จากยอดจดทะเบียนรถยนต์อีวีที่สูงถึงกว่า 76,000 คันในปี 2566 เพิ่มขึ้น 6.5 เท่าจากปีก่อน นำมาสู่การลงทุนในอุตสาหกรรมอีวีแบบครบวงจร โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 บีโอไอได้ให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมอีวี จำนวน 103 โครงการ เงินลงทุนรวม 77,192 ล้านบาท แบ่งเป็น รถยนต์อีวี 18 โครงการ 40,004 ล้านบาท รถจักรยานยนต์อีวี 9 โครงการ 848 ล้านบาท รถบัสอีวีและรถบรรทุกอีวี 3 โครงการ 2,200 ล้านบาท แบตเตอรี่สำหรับรถอีวีและ ESS 39 โครงการ 23,904 ล้านบาท ชิ้นส่วนสำคัญ 20 โครงการ 6,031 ล้านบาท และสถานีอัดประจุไฟฟ้า 14 โครงการ 4,205 ล้านบาท vk
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวผ่าน เฟซบุ๊คส่วนตัว Thailand Vision วิสัยทัศน์ประเทศไทย เกี่ยวกับนโยบายสนับสนุน EV จากภาครัฐ และการส่งเสริมอุตสาหกรรม EV อีกด้วยว่า ไทยเคยได้ฉายาว่าเป็น Detroit of Asia วันนี้ที่อุตสาหกรรมกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่รถ EV ไทยจะก้าวไปเป็นศูนย์กลางยานยนต์แห่งอนาคตครับ
นอกจากเราจะมีความต้องการรถ EV ในประเทศสูงแล้ว เรายังมีศักยภาพที่จะเป็นฐานการผลิตส่งออก เราจะส่งเสริมอุตสาหกรรมรถ EV ตลอดห่วง โซ่อุปทาน ตั้งแต่ การผลิตชิ้นส่วน ยาง อะไหล่ ประกอบ ทำให้เกิดเป็น Ecosystem รวมถึง โรงงานผลิตแบตเตอรี่ (Supply Chain) ขณะเดียวกัน เราจะช่วยเหลือค่ายรถญี่ปุ่น ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตได้ ซึ่งประเทศไทยก็ยังเตรียมพร้อมสำหรับเทคโนโลยี Hydrogen หรืออื่น ๆ ในอนาคตอีกด้วย