กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เตรียมอัปเกรดผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ เร่งสร้างมาตรฐานธุรกิจแฟรนไชส์ให้มีศักยภาพพร้อมสร้างเครือข่ายกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศในการขยายตลาด ตลอดจนสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศเพิ่มขึ้น เปิดรับสมัครผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ที่สนใจเข้าร่วมโครงการยกระดับมาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise Standard) ประจำปี 2567 ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 13 มีนาคม 2567
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์เผยว่า ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์ผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ในการเป็นเจ้าของธุรกิจ ในแต่ละปีมีผู้ประกอบการรายใหม่สนใจเข้าสู่ธุรกิจแฟรนไชส์กว่า 20,000 ราย มีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15 – 20 ต่อปี นับเป็นกลุ่มธุรกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตมากขึ้น การพัฒนาศักยภาพธุรกิจแฟรนไชส์ให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากลจึงเป็นสิ่งสำคัญ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะหน่วยงานส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบธุรกิจให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ที่ได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จึงได้กำหนดจัดกิจกรรม “ยกระดับธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise Standard)” เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ผ่านการพัฒนาศักยภาพในการบริหารจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ ส่งเสริมให้ธุรกิจมีมาตรฐานคุณภาพระดับสากล มีความน่าเชื่อถือแก่ผู้บริโภคและผู้ซื้อแฟรนไชส์ (Franchisee) และเป็นกำลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์เพื่อเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์มากว่า 10 ปีและมีธุรกิจแฟรนไชส์ที่พัฒนาผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน รวม 525 ราย โดยกรมฯ ได้มีการพัฒนาและทบทวนเกณฑ์มาตรฐานฯ ทุกๆ 2 ปี เพื่อให้เกณฑ์มาตรฐานการบริหารจัดการและกระบวนการตรวจประเมินมีมาตรฐานเทียบเคียงมาตรฐานสากล
โดยแฟรนไชส์ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการบ่มเพาะองค์ความรู้และทักษะการสร้างมาตรฐานธุรกิจ รวมถึงจะมีผู้เชี่ยวชาญประเมินวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละธุรกิจ ที่สำคัญยังมีการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก ณ สถานประกอบการเป็นรายธุรกิจ และเสริมในเรื่องการศึกษาดูงานธุรกิจที่เป็นต้นแบบที่ดี โดยในปีนี้คาดว่าจะมีธุรกิจที่ผ่านการตรวจประเมินจำนวน 35 ราย
สำหรับคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย (1) จดทะเบียนนิติบุคคล (2) ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ไม่น้อยกว่า 3 ปี (3) มีแฟรนไชส์ซีอย่างน้อย 2 สาขาและสาขาของตนเองไม่น้อยกว่า 1 สาขา (4) จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (หรืออยู่ระหว่างกระบวนการยื่น) และ (5) มีความมุ่งมั่นตั้งใจและสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตลอดโครงการ โดยเปิดรับสมัครผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ที่สนใจร่วมโครงการตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 13 มีนาคม 2567 ทางเว็ปไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th หัวข้อข่าวประชาสัมพันธ์
ปัจจุบัน มีธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการ (Franchise Standard) จำนวน 525 ราย แบ่งตามประเภทธุรกิจ ดังนี้ ธุรกิจอาหาร จำนวน 234 ราย (ร้อยละ 44) ธุรกิจเครื่องดื่ม จำนวน 103 ราย (ร้อยละ 20) ธุรกิจการศึกษา จำนวน 68 ราย (ร้อยละ 13) บริการ จำนวน 63 ราย (ร้อยละ 12) ธุรกิจค้าปลีก จำนวน 33 ราย (ร้อยละ 6) และธุรกิจความงามและสปา จำนวน 24 ราย (ร้อยละ 5)
อธิบดี กล่าวทิ้งท้ายว่า แฟรนไชส์เป็นระบบการบริหารจัดการธุรกิจที่ดีและมีประสิทธิภาพ เป็นโมเดลธุรกิจที่มีความเสี่ยงน้อย การพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ไทยให้มีศักยภาพ เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ นำไปสู่การขยายสาขาอย่างเป็นระบบเพื่อผลักดันให้ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยอยู่รอดและสามารถขยายตลาดได้ในทุกสถานการณ์
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สายด่วน 1570, โทรศัพท์หมายเลข 0 2547 5953, e-Mail : franchisedbd@gmail.com