กระทรวงอุตสาหกรรมตรวจเข้มพาวเวอร์แบงค์หลังเหตุระเบิดบนเครื่องบิน!!

“พิมพ์ภัทรา” เข้ม “พาวเวอร์แบงค์” ต้องได้มาตรฐาน ย้ำเตือนประชาชนเลือกที่มีเครื่องหมาย มอก. เพื่อความปลอดภัย

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกรณีเครื่องบินโดยสารสายการบินไทยเเอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ FD3188 ขณะกำลังบินจากสนามบินดอนเมือง มุ่งหน้านครศรีธรรมราช มีเหตุการณ์พาวเวอร์แบงค์ของผู้โดยสารระเบิดบนเครื่องบิน ตนเองซึ่งเป็นหนึ่งในผู้โดยสารที่อยู่บนเครื่องบินลำนั้นด้วย เข้าใจเลยว่าต้องมีสติเท่านั้นที่จะควบคุมสถานการณ์ท่ามกลางความแตกตื่นตกใจของผู้โดยสารทั้ง 186 ชีวิตได้ ก่อนที่ลูกเรือบนเครื่องบินสามารถดับไฟได้สำเร็จ ในฐานะที่เป็นเจ้ากระทรวงที่ดูแลสินค้าให้มีความปลอดภัยต่อประชาชน จึงสั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เข้มงวดในการตรวจควบคุมพาวเวอร์แบงค์ทุกขนาดทุกยี่ห้อที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดและทางออนไลน์ต้องได้มาตรฐาน

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

เนื่องจากพาวเวอร์แบงค์เป็นหนึ่งในสินค้าในจำนวน 144 รายการ ที่เป็นสินค้าควบคุมของ สมอ. โดยเฉพาะพาวเวอร์แบงค์ที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านให้เพิ่มความถี่ในการตรวจควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สินค้าได้อย่างปลอดภัย และขอฝากถึงประชาชนให้เลือกใช้พาวเวอร์แบงค์ที่มีเครื่องหมาย มอก. และQR Code ที่ปรากฏอยู่บนสินค้าเท่านั้น โดยสามารถสแกนเพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของผู้ผลิตและผู้จำหน่าย รวมถึงคุณภาพของสินค้าว่าเป็นไปตามที่ระบุหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามที่ระบุสามารถร้องเรียนกลับมาที่ สมอ. ได้ทันที

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ต่อกรณีดังกล่าว สมอ. มิได้นิ่งนอนใจ หลังจากได้รับข้อสั่งการจากท่านรัฐมนตรีพิมพ์ภัทราฯ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ประสานเพื่อตรวจสอบขยายผลอย่างเร่งด่วนถึงแหล่งที่มา รายละเอียดสินค้า และการขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้อง สมอ. จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ประกอบการรายนี้อย่างถึงที่สุด เนื่องจากพาวเวอร์แบงค์เป็นสินค้าควบคุมของ สมอ. การทำและนำเข้าจะต้องได้รับอนุญาตจาก สมอ. ก่อน

รวมถึงผู้จำหน่ายจะต้องขายเฉพาะสินค้าที่ได้มาตรฐานเท่านั้น มิฉะนั้นจะมีความผิดตามกฎหมาย ปัจจุบันมีผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตแล้วจำนวน 97 ใบอนุญาต แบ่งเป็นผู้ผลิตในประเทศจำนวน 8 ใบอนุญาต และผู้นำเข้าจำนวน 89 ใบอนุญาต สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้รับใบอนุญาตได้ที่เว็บไซต์ สมอ. www.tisi.go.th โดยพาวเวอร์แบงค์ที่ได้มาตรฐานจะผ่านการตรวจสอบจากห้องแล็ปอย่างเข้มข้นประมาณ 20 รายการ เช่น สามารถทนความร้อนได้สูงถึง 70 องศาเซลเซียส หากลืมวางไว้ในรถยนต์ที่จอดตากแดด หรือที่ที่มีอุณหภูมิสูง ก็ยังอยู่ในสภาพปกติ ไม่บวมพอง หรือโก่งงอ ทนต่อการตกกระแทก ไม่แตกหักเสียหายง่าย ทนต่อความดันอากาศต่ำ หากอยู่บนเครื่องบินจะไม่เกิดการรั่วซึมหรือเกิดการระเบิด หรือในกรณีที่ลืมชาร์จทิ้งไว้นาน ๆ ก็จะไม่ก่อให้เกิดประกายไฟ และลุกไหม้ และหากเกิดประกายไฟ เปลวไฟจะดับเองได้โดยไม่เกิดการลุกลาม

Close up connection smartphone charging with power bank on blue background with copy space. Smartphone charging with power bank by white USB cable.

จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าพาวเวอร์แบงค์ที่มี มอก. มีความปลอดภัยสูง และจะไม่เป็นอันตรายขณะใช้งาน สำหรับการเลือกซื้อพาวเวอร์แบงค์ที่ได้มาตรฐานนอกจากจะให้สังเกตเครื่องหมาย มอก. และ QR Code ที่ปรากฏอยู่
บนสินค้าทุกครั้งแล้ว วิธีการเก็บรักษาและการใช้งานก็มีส่วนสำคัญไม่ให้พาวเวอร์แบงค์หมดอายุการใช้งานก่อนเวลาอันควร เช่น ไม่ควรเก็บพาวเวอร์แบงค์ไว้ใกล้แหล่งความร้อน หรือรับแสงแดดโดยตรง ไม่ควรเก็บไว้ใกล้แก๊สที่ติดไฟได้ ความชื้น น้ำ หรือของเหลว ไม่ควรถอดชิ้นส่วน เปิด เผา หรือสอดแทรกสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในพาวเวอร์แบงค์ ไม่ควรให้พาวเวอร์แบงค์ถูกกระแทก ถูกกดทับ งอ หรือเจาะ ไม่ใช้งานในขณะเปียกน้ำหรือได้รับความเสียหายเพื่อป้องกันการช็อกไฟฟ้า และควรอ่านข้อควรปฏิบัติที่ให้มากับพาวเวอร์แบงค์ด้วยทุกครั้ง เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างถูกวิธีและมีความปลอดภัย

Power bank on a white background.3d rendering.

เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ที่ผ่านมา สมอ. ได้ดำเนินการอย่างเข้มงวดและต่อเนื่องในการกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพให้หมดไปจากท้องตลาด ภายใต้ภารกิจ Quick Win ตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีพิมพ์ภัทราฯ ทั้งที่จำหน่ายในท้องตลาด และทางออนไลน์ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน จนถึงขณะนี้ สมอ. ได้ตรวจจับและยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานไปแล้วกว่า 142 ล้านบาท มีทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก วัสดุก่อสร้าง สีย้อมสังเคราะห์ เมลามีน และพลาสติก เป็นต้น จึงขอฝากถึงผู้ประกอบการหากท่านทำหรือนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ท่านจะถูกดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด ซึ่งบทลงโทษสำหรับผู้ทำและนำเข้าสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เลขาธิการ สมอ. กล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *