กระทรวงคมนาคม โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทยจัดกิจกรรมปลูกป่าชายเลน ประจำปี 2567 อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมโครงการปลูกป่าชายเลนและอนุรักษ์ป่าและป่าชายเลน บริเวณจังหวัดระนอง จำนวน 50 ไร่ ประจำปี 2567 โดยมี นายอภิเสต พงษ์สุวรรณ รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ผู้บริหาร และพนักงาน กทท. เข้าร่วมกิจกรรมฯ ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ณ พื้นที่ป่าชายเลน หมู่ที่ 2 ตำบลบางนอน อำเภอเมือง จังหวัดระนอง
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลที่มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน ปัจจุบันความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาและส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตมากขึ้น จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญและตระหนักถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยการเพิ่มปริมาณต้นไม้และป่าไม้ การจัดกิจกรรมปลูกป่าชายเลน จำนวน 50 ไร่ ในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนที่ 6 (เมืองระนอง) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมุ่งหวังที่จะสร้างโอกาสให้ชุมชนและหน่วยงานทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านการปลูกป่าทดแทน เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศทางทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน
ด้านนายอภิเสต พงษ์สุวรรณ กล่าวว่า กทท. มุ่งมั่นที่จะก้าวสู่การเป็นท่าเรือชั้นนำที่ยั่งยืนในระดับสากล ตามวิสัยทัศน์ “มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก พร้อมการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในปี 2573” และได้ให้ความสำคัญกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการดำเนินกิจการท่าเรือ โดยได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นการส่งเสริมเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยที่จะลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20 – 25 ภายในปี 2573 และพัฒนาสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission)
ทั้งนี้ กทท. จึงได้จัดทำแผนแม่บทการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์และพัฒนาท่าเรือสู่การเป็น Green Port Supply Chain พร้อมทั้งจัดทำตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ (Strategic Positioning) ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานในระยะสั้น (ปี 2566 – 2567) จำนวน 4 เป้าหมาย ได้แก่ 1) ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานลงร้อยละ 4 จากกรณีปกติ 2) ปรับปรุงและบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของ กทท. ให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐานสากล 3) สร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมให้กับบุคลากรอย่างต่อเนื่อง และ 4) บูรณาการโครงการด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับงานด้านการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)