“อนุชา” ลั่น อย่าลืมชาติพันธุ์เกษตร ต้นทุนพัฒนาสู่ความร่ำรวย มุ่งนำพาชาวนาไทย หลุดพ้นกับดักความยากจน รุกยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว พร้อมดันศักยภาพข้าวไทย เสริมแกร่งทุกมิติ

“อนุชา” ลั่น อย่าลืมชาติพันธุ์เกษตร ต้นทุนพัฒนาสู่ความร่ำรวย มุ่งนำพาชาวนาไทย หลุดพ้นกับดักความยากจน รุกยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว พร้อมดันศักยภาพข้าวไทย เสริมแกร่งทุกมิติ

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมการข้าวครบรอบ 18 ปี พร้อมด้วย นายชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมการข้าว เข้าร่วม ณ กรมการข้าว กรุงเทพมหานคร พร้อมมอบประกาศเกียรติคุณข้าราชการพลเรือนดีเด่น คนดีศรีข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวดีเด่น และศูนย์วิจัยข้าวดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 ว่า รัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตระหนักและเข้าใจถึงปัญหาที่พี่น้องชาวนาต้องเผชิญ อาทิ ราคาข้าวตกต่ำ การส่งออกข้าวไทยลดลง ต้นทุนการผลิตข้าวที่สูงขึ้น ตลอดจนสถานการณ์ภัยธรรมชาติและแมลงศัตรูข้าว จึงมุ่งมั่นในการหามาตรการแก้ปัญหาความเดือดร้อน เพื่อสร้างโอกาสให้ชาวนาในฤดูกาลผลิตที่กำลังจะมาถึง ทั้งนาปรัง และนาปี โดยการจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าว และสนับสนุนให้มีการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อช่วยเหลือชาวนาผู้ประสบภัยดังกล่าว เป็นจำนวนเงินกว่า 1,700 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดซื้อ

“ชาติพันธุ์ของประเทศไทยเป็นชาติพันธุ์เกษตร เพราะประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศประกอบอาชีพด้านเกษตร ดังนั้น เราต้องใช้ต้นทุนที่มีมาพัฒนาสร้างรายได้สู่ความร่ำรวย ซึ่งโจทย์ที่ท้าทายของกรมการข้าว คือการจะทำอย่างไรให้เกษตรกรชาวนาไทยหลุดพ้นจากกับดักความยากจน เพื่อนำพาให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งเกษตรกรชาวนาของประเทศไทยมีมากถึง 4.7 ล้านครัวเรือน หรือประมาณกว่า 18 ล้านคน เป็นจำนวนถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญของกรมการข้าวที่ต้องร่วมมือกัน ช่วยกันคิดให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน เพื่ออนาคตของชาวนาไทยได้หลุดพ้นความยากจน และลูกหลานไทยได้กลับมาอยู่บ้านเกิด ไม่ไปเป็นแรงงานพลัดถิ่น“ รมช.อนุชา กล่าวย้ำ

รมช.อนุชา กล่าวอีกว่า ยังได้มอบหมายให้กรมการข้าว เร่งส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าข้าว โดยพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว และของเหลือจากการผลิตข้าว เพื่อเพิ่มมูลค่า ขณะเดียวกัน ยังต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เช่นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาเสริม เพราะหากเกษตรกรใช้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ และมีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ จะส่งผลให้ได้ผลผลิตต่อไร่มากขึ้น และช่วยควบคุมต้นทุนการผลิตข้าวได้เป็นอย่างดี เป็นเรื่องที่เราต้องไม่หยุดพัฒนา ขณะเดียวกัน ตนยังเดินหน้าขับเคลื่อนแนวคิด “เงินบาทแรกของแผ่นดิน” ซึ่งถือว่ามีความสำคัญ เพราะเกษตรกรเป็นกำลังซื้อหลักของประเทศ ที่จะสามารถเพิ่มตัวเลข GDP ให้เติบโตขึ้นได้ ส่งผลให้ชาวนาไทยได้หลุดพ้นจากหนี้สิน

 

ทั้งนี้ กรมการข้าวได้ดำเนินงานเพื่อสนองแนวนโยบายของรัฐบาล เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวนา กรมการข้าว อาทิ การจัดตั้งศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าว เปิดโอกาสให้ชาวนาผู้ปลูกข้าวในชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการพัฒนาข้าวด้วยตนเอง โดยมีกรมการข้าวเป็นพี่เลี้ยง โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง Smart Farmer เน้นพัฒนาชาวนาอย่างรอบด้านให้ชาวนาไทยพึ่งพาตนเอง และเป็นแบบอย่างแก่ชาวนารายอื่น เพื่อการพัฒนาภาคการเกษตรให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน โครงการ Young Smart Farmer เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่ประกอบอาชีพเกษตร สามารถบริหารจัดการการเกษตร ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ต่อยอดไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ พึ่งพาตนเอง และเป็นผู้นำทางการเกษตรในท้องถิ่นได้ เพื่อสร้างอาชีพชาวนาให้มีความเข้มแข็ง มีรายได้ที่มั่นคงในอนาคตต่อไป

อีกทั้ง โครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวปี 2566 ที่มุ่งเน้นให้ชาวนาเปลี่ยนมาใช้เมล็ดพันธุ์ดีในการเพาะปลูก เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตข้าวให้มีคุณภาพ และได้ปริมาณที่มากขึ้น เกษตรกรสามารถจำหน่ายข้าวเปลือกได้ในราคาที่สูงขึ้น และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ นอกจากนี้ยังมีโครงการส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตข้าวรักษ์โลก BCG MODEL เพื่อส่งเสริมให้ชาวนาได้มีโอกาสเลือกซื้อจัดหาปัจจัยการผลิตและเครื่องจักรกลการเกษตรสำหรับศูนย์ข้าวชุมชน เป็นการปรับปรุงกระบวนการเพาะปลูกข้าว เน้นการทำนาแบบประณีต ผ่านการใช้ระบบชีวมวล – ชีวภาพ – จุลินทรีย์แทนสารเคมี ส่งเสริมการทำนาแบบยั่งยืน และส่งเสริมให้ชาวนาหันมาทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ที่จะช่วยให้สามารถบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ให้เพียงพอต่อความต้องการของต้นข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุนในการผลิตได้.

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *