สศอ. เผยดัชนี MPI ก.พ. 2567 หดตัวร้อยละ 2.84 จับตาส่งออกสินค้าอุตฯ ขยายตัวเดือนที่ 5 นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 หนุนดัชนีฟื้นตัวดีขึ้น

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2567 อยู่ที่ระดับ 99.27 หดตัวร้อยละ 2.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการผลิตยานยนต์ ลดลงเป็นเดือนที่ 7 เศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้าหลังปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการ ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 1.80 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 คาดจะทำให้ดัชนี MPI หลังจากนี้ปรับตัวดีขึ้น

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2567 อยู่ที่ระดับ 99.27 หดตัวร้อยละ 2.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน  ของปีก่อน มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 59.77 ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ช่วง 2 เดือนแรก ของปี 2567 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.88 สาเหตุหลักจากการผลิตยานยนต์ลดลงเป็นเดือนที่ 7 เป็นการหดตัวจากภายในประเทศ เศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้าจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ขยายตัวร้อยละ 1.80 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 รวมถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยใน 2 เดือนแรกของปี 2567 มีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสม อยู่ที่ 6.38 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการกลับมาขยายตัวดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลทำให้ดัชนี MPI หลังจากนี้ปรับตัวดีขึ้น ระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนมีนาคม 2567 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง” ส่งสัญญาณในทิศทางดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากภาพรวมการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ในระยะนี้ สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ยังคงต้องเฝ้าระวังในตลาดสหรัฐฯ และติดตามภาวะถดถอยในภาคการผลิตญี่ปุ่น

“ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 เนื่องจากอุตสาหกรรมหลักที่หดตัวต่อเนื่องและมีน้ำหนักในการคำนวณดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ โดยภาพรวมการผลิตเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ลดลงร้อยละ 19.28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงเป็นเดือนที่ 7 สาเหตุหลัก    มาจากการผลิตเพื่อขายในประเทศ โดยมีจำนวนการผลิต 46,928 คัน ลดลงร้อยละ 26.37 จากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่มีการผลิตจำนวน 63,732 คัน ขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกมีจำนวน 86,762 คัน ลดลงร้อยละ 9.25 จากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผลิตได้ 95,612 คัน” นางวรวรรณ กล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

  • ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.59 จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเบนซิน 91 และ แก๊สโซฮอล์ 91 เป็นหลัก ตามความต้องการบริโภคในภาคขนส่งและเดินทางท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
  • ปุ๋ยเคมีและสารประกอบไนโตรเจน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 39.82 จากการทำโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรมีกำลังซื้อมากขึ้น
  • เครื่องประดับเพชรพลอยแท้ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 24.56 โดยขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ทำให้มีคำสั่งซื้อและส่งออกไปประเทศคู่ค้าสำคัญได้มากขึ้น

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 16.83 จากบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก เครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของตลาดในประเทศ กำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนตัว ตลอดจนสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 18.66 จากผลิตภัณฑ์ Integrated circuits (IC) และ PCBA ตามความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงน้ำมันปาล์ม หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 27.23 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เนื่องจากภาวะภัยแล้งฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้มีผลปาล์มดิบลดลงกว่าปีก่อน การหดตัวของตลาด ในประเทศและตลาดส่งออก หลังอินโดนีเซียกลับมาส่งออกอีกครั้งทำให้ราคาในตลาดโลกปรับตัวลดลง/.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *