สหกรณ์กองทุนสวนยางเอราวัณพัฒนาครบเครื่องเรื่องยาง จำกัด คว้ารางวัลสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2567

กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการคัดเลือกสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติแต่ละประเภทเป็นประจำทุกปี เพื่อประกาศเกียรติคุณและเผยแพร่ผลงานให้ปรากฏต่อสาธารณเพื่อเป็นแบบอย่างและเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของสหกรณ์อื่นต่อไป สำหรับปีนี้ สหกรณ์กองทุนสวนยางเอราวัณพัฒนา จำกัด จังหวัดเลย คว้ารางวัลสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2567 สาขาสหกรณ์ผู้ผลิตยางพารา โดยจะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญประจำปี พ.ศ. 2567  ในวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2567 ณ พลับพลาที่ประทับมณฑลพิธีท้องสนามหลวง

สหกรณ์กองทุนสวนยางเอราวัณพัฒนา จำกัด ภายใต้การนำของ “นายสงกรานต์ สมนึก”ประธานกรรมการ มีผลงานโดดเด่นตรงตามหลักเกณฑ์มาตรฐานของกรมส่งเสริมสหกรณ์ เช่น ด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทางสหกรณ์ฯ กำหนดนโยบายในการจัดการสวนยางพาราให้เกิดความยั่งยืนและสมดุล 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสมาชิกพัฒนาสวนยางเข้าสู่มาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน (FSC) ตั้งแต่กระบวนการปลูกสร้างสวนยาง เก็บเกี่ยว แปรรูป จำนวน 109 ราย แปลงยางพารา จำนวน 181 แปลง เนื้อที่รวมกว่า 2,000 ไร่ ส่งผลให้สมาชิกขายยางก้อนถ้วยได้ราคาเพิ่มขึ้นจากราคาปกติ 1.50 บาทต่อกิโลกรัม

ในปีนี้ทางสหกรณ์ฯ มีสัญญาการขายยางก้อนถ้วยล่วงหน้าที่ได้มาตรฐาน (FSC) กับ “ อี.คิว. รับเบอร์”  เครือ บมจ.ไทยอิสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์  ในราคาสูงกว่าท้องตลาด 3 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลต่อความมั่งคั่งและความยั่งยืนในอาชีพการทำสวนยาง และสหกรณ์ได้ร่วมกับองค์กรป่าชุมชนจัดทำโครงการปลูกป่าไม้ยืนต้นในพื้นที่ว่างเปล่า นำร่องจำนวน 5 ไร่ เพื่อปลูกจิตสำนึกให้สมาชิกเห็นคุณค่าในการบำรุงรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างความสามัคคีร่วมกันของชุมชน นำไปสู่การฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้เป็นป่าชุมชนที่อุดมสมบูรณ์เกิดความสมดุลในระบบนิเวศน์

นอกจากนี้ทางสหกรณ์ฯ  มีความสามารถด้านการบริหารและการจัดการ มุ่งดำเนินธุรกิจตอบสนองความต้องการของสมาชิก รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจกับสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร ภาคเอกชนมากกว่า 12 แห่ง ในปีบัญชี  31 มีนาคม 2565  มีปริมาณธุรกิจ 62,465,316 บาท มีกำไรสุทธิ 237,842.45 บาท จ่ายเงินปันผลให้สมาชิก 62,413 บาท และจ่ายเงินเฉลี่ยคืน 82,494 บาท สหกรณ์จัดอบรมความรู้แก่พนักงานเพื่อนำมาใช้บริหารจัดการสหกรณ์มากกว่า  3 หลักสูตรต่อปี พร้อมเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ให้กับสมาชิกและบุคคลภายนอกได้รับรู้มากกว่า 10 ช่องทาง

ขณะเดียวกัน ทางสหกรณ์ฯ มีความเข้มแข็งในการมีส่วนร่วมของสมาชิก โดยมีจำนวนสมาชิกฝากเงินและทำธุรกิจร่วมกับสหกรณ์ เฉลี่ยร้อยละ 94 มีมูลค่าธุรกิจ ที่สหกรณ์ทำกับสมาชิกไม่รวมเงินรับฝาก มากกว่าร้อยละ 98 คณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ มีบทบาทและมีส่วนร่วมในการบริหารงานสหกรณ์ ผ่านการประชุมคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงานต่าง ๆ เพื่อพิจารณาอนุมัติแผนงาน งบประมาณ และติดตามผลการดำเนินงานของสหกรณ์ เฉลี่ยร้อยละ 93.18

ประการต่อมา สหกรณ์ฯ มีความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี โดยผลการดำเนินงาน 3 ปีย้อนหลัง จากการประเมินตามเกณฑ์ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ พบว่า สหกรณ์มีเสถียรภาพทางการเงิน ขณะเดียวกัน ทางสหกรณ์ ฯ มีความเอื้ออาทรต่อชุมชน มีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมครบถ้วนทุกด้านอย่างต่อเนื่องนับเป็นแบบอย่างที่ดีให้สหกรณ์อื่นๆ  นำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์และเห็นผลจริง

เส้นทางสู่ความสำเร็จของสหกรณ์ฯ ในวันนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเลย เข้ามาช่วยถ่ายทอดความรู้เรื่องการดำเนินงานตามระเบียบและข้อบังคับอย่างเคร่งครัด อบรมการเพิ่มศักยภาพการดำเนินกิจการในระบบแปลงใหญ่สหกรณ์ ทำให้สหกรณ์ฯ สามารถพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ สหกรณ์ฯ ยังได้รับความช่วยเหลือจากการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดเลย โดยสนับสนุนความรู้เรื่องการปลูก การเก็บเกี่ยว การแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา รวมทั้งแนวคิดการพัฒนาตลาด ทำให้สหกรณ์กองทุนสวนยางเอราวัณพัฒนา จำกัด สามารถยกระดับการผลิตสินค้ายางพารา      สู่มาตรฐานสากล ขายยางได้ราคาสูงกว่าท้องตลาด มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง ยกระดับคุณภาพชีวิตของสมาชิกสหกรณ์ให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

ด้านนายอภิไท มังธานี สหกรณ์จังหวัดเลย กล่าวว่า สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเลย มีบทบาทในการส่งเสริม สนับสนุนและกำกับดูแล สหกรณ์กองทุนสวนยางเอราวัณพัฒนา จำกัด ให้มีความเข้มแข็ง เป็นองค์กรหลักของเกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่จังหวัดเลย โดยสนับสนุนเงินทุน บริการสินเชื่อ บริการรับฝากเงิน จำหน่ายปัจจัยการผลิตราคายุติธรรม เช่น ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ และให้บริการปุ๋ยสั่งตัดแก่สมาชิก ฯลฯ ทำให้สมาชิกเกิดความศรัทธาในระบบสหกรณ์และเข้ามามีร่วมในกิจกรรมของสหกรณ์มากขึ้น ทำให้มูลค่าธุรกิจของสหกรณ์ฯ ปรับตัวสูงขึ้นทุกปี

โดยสหกรณ์มีปริมาณธุรกิจเพิ่มขึ้นจากรวบรวมยางก้อนถ้วยและน้ำยาง ดังนี้ ในปี 2565 รวบรวมยางก้อนถ้วยได้กว่า 1,230 ตัน มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท ในปี 2566 รวบรวมยางก้อนถ้วยได้ 1,726 ตัน มูลค่ากว่า 43 ล้านบาท ทำให้มีการรวบรวมยางเพิ่มขึ้น 495 ตัน มูลค่ากว่า 12 ล้านบาท ในปี 2566 รวบรวมยางก้อนถ้วยจากโครงการ FSC จำนวน 660 ตัน มูลค่ากว่า 33 ล้านบาท (ในปี 2565 ไม่มีการรวบก้อนถ้วยจากโครงการ FSC) ในปี 2565 รวบรวมน้ำยางข้น ได้ 19 ตัน มูลค่ากว่า 260,000 บาท ในปี 2566 รวบรวมน้ำยางข้น ได้ 267 ตัน มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 247 ตัน มูลค่ากว่า 2.8 ล้านบาท  โดยสรุป ปี 2565 รวบรวมผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่ากว่า 31 ล้านบาท ปี 2566 รวบรวมผลิตภัณฑ์ยางมูลค่ากว่า 79 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 48  ล้านบาท

สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเลย บูรณาการทำงานร่วมกับ การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดเลย ส่งเสริมสหกรณ์ฯ ใช้หลักตลาดนำการผลิต ผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อ (Made-to-Order) และได้ อบรมให้ความรู้ตามโครงการเพิ่มมูลค่าสินค้าเชิงพาณิชย์แบบ New Normal แปรรูปน้ำยางสดเป็นถุงมือยางใช้เอง เพื่อลดรายจ่ายของสมาชิก ต่อมาสหกรณ์ฯ ได้พัฒนาต่อยอดความรู้ ผลิตสินค้า “กระชังบก” จากผลิตภัณฑ์ยางออกจำหน่ายซึ่งมียอดสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สหกรณ์มีธุรกิจบริการสมาชิกหลากหลาย ครบถ้วน มีกำไร สามารถจ่ายเงินปันผลและเฉลี่ยคืนให้สมาชิกได้แก้ปัญหาสมาชิกเกี่ยวกับยางพาราได้ครบวงจร รวมถึงสามารถช่วยเหลือชุมชนใกล้เคียง อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวบรวมศูนย์ยางพาราและสร้างเครือข่ายในพื้นที่ใกล้เคียงได้ จนได้รับรางวัลสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประเภท สหกรณ์ผู้ผลิตยางพารา ประจำปี พ.ศ. 2567

“สหกรณ์จังหวัดเลย ได้แนะนำหลักในการส่งเสริมสหกรณ์ให้ประสบผลสำเร็จ ดังนี้ ให้สหกรณ์เน้นหลักการความสามัคคีในการทำงาน (สุขา สังฆัสสะ สามัคคี แปลว่า ความสามัคคีของหมู่คณะนำสุขมาให้) นอกจากนี้ การพัฒนาสหกรณ์ให้ประสบความสำเร็จ อยู่บนหลักการแนวคิดที่ว่า “รู้อะไร ไม่เท่ารู้จักกัน” จะทำให้การทำงานบรรลุเป้าหมาย  รู้จักกัน หมายถึง ประการแรก เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ฯ ต้องรู้จักกับกรรมการและฝ่ายจัดการของสหกรณ์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจกัน ประการที่สอง ต้องรู้จักสถาบัน (สหกรณ์) ว่าสหกรณ์ทำธุรกิจอะไรบ้าง มีจุดแข็ง จุดอ่อนอย่างไร และประการที่สาม เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ฯ ต้องรู้จักตัวเอง หากไม่ชำนาญในเรื่องไหน ก็สามารถปรึกษากลุ่มวิชาการในจังหวัดได้ เช่น เรื่องธุรกิจ เรื่องกฎหมาย เรื่องเงินทุน เรื่องข้อบังคับ ก็สามารถเชิญผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้นเข้าไปให้ความรู้  ขณะเดียวกัน หากสหกรณ์ขาดเงินทุน ทางสำนักงานสหกรณ์ฯ ก็พร้อมสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้สหกรณ์พัฒนาอาชีพ ให้เกิดความเข้มแข็ง และยั่งยืน” สหกรณ์จังหวัดเลยกล่าวในที่สุด

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *