ไทย-จีน ลงนาม MOU ดึงนักลงทุนจีน ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลงนามบันทึกความเข้าใจการศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ร่วมกับ ไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) มณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน กระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ภายใต้กรอบความร่วมมือ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (BRI) เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และโลจิสติกส์ ยกระดับการพัฒนาด้านภูมิภาคสร้างกลไกนวัตกรรมร่วมกัน

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมาย นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจฯ (MOU) ระหว่าง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับ ไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำจากมณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยนายดนัยณัฏฐ์ ระบุว่า ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดยาวนาน โดยเฉพาะในมิติทางเศรษฐกิจ ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายใต้กรอบ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (BRI) ซึ่งนำไปสู่ความร่วมมือทวิภาคีด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การค้า การลงทุน และการพัฒนากลไกความร่วมมือด้านการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลไทยและจีนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไทยมีศักยภาพและได้รับความสนใจจากนักลงทุนจีนเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีบริษัทจีนมาลงทุนตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมของไทยเพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นระหว่างทั้งสองประเทศ

“ผมมั่นใจว่าความร่วมมือครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ และเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนไทยและจีน รวมไปถึงเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

นายเหอ ซีออง นายกเทศมนตรีเมืองเจิ้งโจว กล่าวในการเป็นประธานสักขีพยานร่วมฯ ว่า การจัดพิธีลงนามความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ฯ ครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นการพัฒนาความร่วมมือของจีนและไทยเท่านั้น แต่ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับการพัฒนาเมืองเจิ้งโจว และจังหวัดระยองอีกด้วย เมืองเจิ้งโจว ในฐานะเมืองหลวงของมณฑลเหอหนาน ในปี 2566 มี GDP ของภูมิภาคเกินกว่า 1.36 ล้านล้านหยวน จากจำนวนประชากรเกินกว่า 13 ล้านคน ผ่านตัวชี้วัดหลายประการ เช่น อัตราการเติบโตของมูลค่าเพิ่มทางอุตสาหกรรม อัตราการเติบโตของยอดขายปลีกรวมของสินค้าอุปโภค-บริโภค และการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา นอกจากนี้ เจิ้งโจว มีทำเลที่ตั้งโดดเด่น เป็นหนึ่งใน 12 ศูนย์กลางการคมนาคมระหว่างประเทศ และศูนย์กลางการขนส่งโดยสายการบินต่างๆ 6 แห่ง เป็น “เส้นทางสายไหมทั้งสี่” ของทางอากาศ ทางบก ทางออนไลน์ และทางทะเล นอกจากนี้ สนามบินเจิ้งโจวยังติดอันดับหนึ่งในสนามบินขนส่งสินค้าชั้นนำ 40 แห่งของโลก รถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป ครอบคลุมมากกว่า 40 ประเทศ และมากกว่า 140 เมือง

จีนและไทยมีความใกล้ชิดและเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม ซึ่งในระหว่างการเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เสนอให้สร้างชุมชนจีน-ไทยที่มั่นคง โดยการบูรณาการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เปิดตัวศูนย์อาเซียนอย่างเป็นทางการสร้าง “เส้นทางสายไหมทางอากาศ” เจิ้งโจว-อาเซียน  และบรรลุข้อตกลงเมืองพี่กับจังหวัดระยอง ในประเทศไทย เปิดตัวรถไฟสายเย็นพิเศษสำหรับผลไม้นำเข้าจากประเทศไทย และรถไฟสายเย็นพิเศษสำหรับส่งออกสินค้าเกษตร เปิดเส้นทางการบินให้กับสายการบินนกแอร์เที่ยวบินแรกสู่เจิ้งโจว โดยในปี 2567 เจิ้งโจว ประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพเดือนแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจีน (เหอหนาน)-อาเซียน และจัดเทศกาลอาหารไทย “Thai Heartbeat” เริ่มก่อสร้างสวนแฝดจีน-ไทย (เจิ้งโจว)

“ภายใต้ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ “สองประเทศ สองนิคมฯ” ระหว่างจีนและไทย การทำงานร่วมกัน การพัฒนาอุตสาหกรรม การค้าข้ามพรมแดนและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ในกรอบการดำเนินงาน “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เพื่อร่วมกันสร้างบทใหม่ของความร่วมมือแบบ win-win” นายกเทศมนตรีเมืองเจิ้งโจว กล่าว

 

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ นางบุปผา กวินวศิน รองผู้ว่าการ (ประจำสำนักผู้ว่าการ) เป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับ ไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) ในครั้งนี้ โดยบันทึกความเข้าใจฯ นี้ สอดคล้องกับนโยบายของประเทศ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยี พัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านทำเลที่ตั้ง และเป็นเป้าหมายของนักลงทุนจากหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่เมืองเจิ้งโจว ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเมืองที่มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวไปสู่ระดับโลก และมีแผนงานที่จะพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในหลากหลายส่วนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ที่สำคัญ ยังมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานต่างๆ อีกด้วย

“กนอ. มุ่งมั่นส่งเสริมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการลงนามบันทึกความเข้าใจกับไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) ถือเป็นก้าวสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน ภายใต้กรอบความร่วมมือ BRI มั่นใจว่าความร่วมมือนี้จะดึงดูดนักลงทุนจีนให้เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมอย่างแน่นอน” นายวีริศ กล่าว

นายอู๋ เหวินฮุย ประธานไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) กล่าวว่า ไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) ก่อตั้งขึ้นในปี 2020 เป็นกลุ่มบริษัทการลงทุนที่หลากหลาย มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองปักกิ่ง และมีศูนย์ปฏิบัติการบริหารจัดการที่ใหญ่อยู่ในเมืองเซินเจิ้น ฉวนโจว เจิ้งโจว ซีอาน และไป๋เซ่อ ดำเนินธุรกิจหลักด้านการลงทุน การก่อสร้าง และเขตอุตสาหกรรม ห่วงโซ่อุปทานของสินค้าโภคภัณฑ์ การลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน การฟื้นฟูเหมือง การพักผ่อนหย่อนใจเพื่อสุขภาพ การบินทั่วไป และการก่อสร้างคลังสินค้าโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิ มีรายได้รวมต่อปีเกินกว่า 10,000 ล้านหยวน ดำเนินธุรกิจครอบคลุมหลายประเทศทั้งในประเทศจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยความร่วมมือในครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือก่อสร้าง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” และส่งเสริมความร่วมมือในทุกด้านอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันให้เกิดความเจริญและยั่งยืนร่วมกัน

“เราคาดหวังว่า กระทรวงอุตสาหกรรม จะให้การสนับสนุนนโยบายที่เอื้อประโยชน์สูงสุดในด้านต่าง ๆ เช่น การอนุมัติโครงการ การจัดสรรที่ดิน และการพัฒนาของบริษัทที่เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งความร่วมมือที่แข็งแกร่งของทั้งสองฝ่าย จะทำให้ “สองประเทศ สองนิคม” สามารถเริ่มดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเปิดดำเนินการได้อย่างราบรื่น เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับนิคมอุตสาหกรรมจีน (เจิ้งโจว) และก่อให้เกิดผลกระทบแบบ “แกนคู่” โดย China Management Century Enterprise Management Group Co., Ltd. จะใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบที่มีอยู่หลากหลายประการอย่างเต็มที่ ร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ จากทั้งไทยและจีน จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพิ่มการสื่อสาร และร่วมมือกันผลักดันให้เกิดการลงทุน ยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศให้สูงขึ้น ช่วยให้ “สองประเทศ สองนิคม” ผนวกรวมเข้ากับห่วงโซ่อุตสาหกรรม ห่วงโซ่ นวัตกรรม และห่วงโซ่การค้าระหว่างประเทศได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ และการพัฒนาที่สร้างสรรค์ยิ่งขึ้นสำหรับการเปิดกว้างเศรษฐกิจของไทยและจีน” ประธานไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป  กล่าว สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจการศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ระหว่าง กนอ. และ ไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 ณ กระทรวงอุตสาหกรรม ขอบเขตความร่วมมือ ดังนี้ 1.ทั้งสองฝ่ายให้ความร่วมมือศึกษาความเป็นไปได้ สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมระหว่างกันในพื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าเหมาะสม 2.ให้ความร่วมมือในการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้  3.ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการลงทุน กฎหมาย ข้อบังคับ นโยบาย และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในประเทศของแต่ละฝ่าย และให้คำปรึกษาด้านการลงทุน 4.ร่วมกันจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน การประชุม สัมมนา และ 5.จัดสัมมนาสำหรับภาคธุรกิจและการจับคู่ธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ กนอ. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการลงทุนของนักลงทุนจีน ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ภายใต้ระบบ One Stop Services ของ กนอ. และหากมีค่าใช้จ่ายใด ๆ เกี่ยวกับการดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ แต่ละฝ่ายจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในส่วนของตนเอง และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบภายในของแต่ละฝ่าย โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีกำหนดระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ทั้งสองฝ่ายลงนามร่วมกัน

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *