ดีพร้อม เยือนญี่ปุ่น ผนึกความร่วมมือภาครัฐและเอกชนผ่าน DIPROM Connection ยกศักยภาพการจับคู่และชูต้นแบบธุรกิจ พร้อมดันอุตฯ โลจิสติกส์ระหว่างประเทศโตกว่า 2,800 ลบ.

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำคณะผู้ประกอบการไทย เดินทางเยือนญี่ปุ่นร่วมออกงานแสดงสินค้านวัตกรรมโลจิสติกส์สมัยใหม่ สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจผ่านศูนย์วิจัยการไหลของวัสดุของญี่ปุ่น (Japan Material Flow Institute: JMFI) พร้อมยกระดับเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) และศึกษาต้นแบบสถานประกอบการภาคเอกชนของประเทศญี่ปุ่นด้วยการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังใช้โอกาสนี้เข้าพบและหารือความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐประเทศญี่ปุ่นผ่านนโยบาย DIPROM Connection ได้แก่ องค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและนวัตกรรมภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) องค์กรส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

(Tokyo SME Support Center) และองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) เพื่อส่งเสริมและพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่าการเยือนญี่ปุ่นในครั้งนี้จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 2,800 ล้านบาท

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตนเองได้นำคณะผู้ประกอบการไทย เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 15 – 18 พฤษภาคม 2567 ณ กรุงโตเกียว เพื่อศึกษาต้นแบบสถานประกอบการด้านโลจิสติกส์ของประเทศญี่ปุ่น พร้อมสร้างโอกาสการขยายธุรกิจโลจิสติกส์และการตลาดสู่ประเทศญี่ปุ่น โดย ดีพร้อม และคณะฯ เข้าร่วมงาน Asia Seamless Logistics Forum 2024 งานแสดงสินค้านวัตกรรมโลจิสติกส์สมัยใหม่ ซึ่งภายในงานประกอบด้วยการสัมมนาและอภิปรายด้านระบบโลจิสติกส์ การออกบูธนิทรรศการแสดงสินค้า จากผู้ประกอบการประเทศต่าง ๆ กว่า 200 บูธ เช่น ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ขนส่ง คลังสินค้าอุตสาหกรรม 3PL Shipper ผู้ผลิตและจำหน่าย ค้าปลีก ค้าส่ง บริการ อุตสาหกรรมไอที เป็นต้น ตลอดจนการเชื่อมโยงเครือข่ายร่วมกันกับประเทศในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และอาเซียน ซึ่งดีพร้อม ได้นำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานดังกล่าว จำนวน 4 กิจการ ได้แก่ 1) บริษัท ปลาวาฬ โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จํากัด 2) บริษัท แหลมฉบัง อินเตอร์ทรานส์ จํากัด 3) บริษัท ซีเจ แมนูแฟคเจอริ่ง จํากัด และ 4) บริษัท เคชั่น เพาเวอร์ จำกัด เพื่อสร้างโอกาสในการขยายตลาดผู้ประกอบการไทยสู่สากล  ทั้งนี้ เกิดการเจรจาจับคู่ธุรกิจกว่า 150 คู่ค้า และได้มีการนัดหมายพบปะเจรจาเพิ่มเติมที่ประเทศไทยอีกด้วย

นายภาสกร กล่าวว่า นอกจากนี้ ดีพร้อม ยังได้หารือกับศูนย์วิจัยการไหลของวัสดุของญี่ปุ่น (Japan Material Flow Institute: JMFI) เพื่อกำหนดแนวทางการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจ การจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ในสาขาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ การพัฒนาบุคลากรภาครัฐในด้านโลจิสติกส์ พร้อมทั้งการแลกเปลี่ยนบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญร่วมกัน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมของไทย พร้อมทั้งได้นำคณะผู้ประกอบการไทยศึกษาดูงานในหน่วยงานภาคเอกชนต้นแบบของสถานประกอบการประเทศญี่ปุ่น จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย 1) บริษัท แอคก้า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นต้นแบบในด้านการให้บริการผู้ประกอบการ E-commerce ด้วยระบบโลจิสติกส์ หุ่นยนต์ และอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things : Iot) และเป็นผู้ให้บริการด้านโซลูชั่นการจัดการคลังสินค้า และ 2) ศูนย์บริการลูกค้าโตโยต้าโลจิสติกส์และโฟล์คลิฟท์ (Toyota L&F Customer’s Center) เป็นต้นแบบ

ในการนำโซลูชั่นด้านโลจิสติกส์ที่เหมาะสมให้กับการผลิตผลิตภัณฑ์การขนถ่ายวัสดุ (Material Handling) โดยการใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์อํานวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ด้วยระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบผ่านการใช้หุ่นยนต์และระบบคาราคุริ

นายภาสกร กล่าวเพิ่มเติมว่า การเดินทางมาเยือนญี่ปุ่นในครั้งนี้ ดีพร้อมได้โอกาสเข้าพบและหารือกับผู้บริหารหน่วยงานของประเทศญี่ปุ่นถึงแนวทางความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศผ่านนโยบายการขยายเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM Connection) จำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย

  1. องค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและนวัตกรรมภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) เพื่อหารือถึงแนวทางความร่วมมือในการเชื่อมโยงคู่ค้าและสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีไทยและญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ในกลุ่มอุตสาหกรรมซูเปอร์ฟู้ด ผ่านบุคลากรของ SMRJ จากประเทศญี่ปุ่น ที่ประจำการ ณ โต๊ะญี่ปุ่น (Japan Desk)ของดีพร้อม เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศให้เติบโตในโลกยุคใหม่อย่างมั่นคง
  1. องค์กรส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Tokyo SME Support Center) ได้หารือถึงแนวทางการบูรณาการความร่วมมือในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) และการจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ (Business Matching) ร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น
  2. องค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) เพื่อหารือร่วมกันในประเด็นต่าง ๆ ประกอบด้วย การจัดสัมมนาถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างผู้ประกอบการไทย-ญี่ปุ่น และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) โดยมุ่งเน้นการอนุรักษ์พลังงานด้วยการให้ทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับอนุรักษ์พลังงานให้กับบริษัทต่าง ๆ และได้หารือถึงแนวทางการพัฒนาการใช้เทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์อัตโนมัติ (Robot) และพลังงานใหม่ ๆ อาทิ พลังงานไฮโดรเจนและเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF : Sustainable Aviation Fuel) และพลังงานไฟฟ้าจากแบคทีเรีย

ทั้งนี้ จากการที่ดีพร้อมนำคณะผู้ประกอบการไทยเยือนประเทศญี่ปุ่นและผนึกความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเชื่อมโยงการเจรจาธุรกิจและต่อยอดความร่วมมือระหว่างสองประเทศทำให้เกิดการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้กว่า 2,800 ล้านบาท และช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายภาคอุตสาหกรรมระหว่างสองประเทศในอนาคต นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *