กรมพัฒนาธุรกิจฯ นำผู้ประกอบการสมุนไพร ร่วมงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2024 ผลักดันสมุนไพรไทยเป็น Soft Power สร้างรายได้เข้าประเทศ

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า นำผู้ประกอบการสมุนไพร 20 ราย ภายใต้โครงการ DBD SMART Local HERB ร่วมงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2024 วันที่ 28 พ.ค. – 1 มิ.ย.67 @ เมืองทองธานี โชว์ทำอาหารและเครื่องดื่มที่มีสมุนไพรเป็นส่วนประกอบสำคัญให้ชาวต่างชาติได้ลิ้มชิมรส อวดสรรพคุณภูมิปัญญาระดับชาติของสมุนไพรไทยที่มีประโยชน์ต่อการดูแลรักษาสุขภาพและเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ‘อิ่มอร่อยรักษาสุขภาพ’ เปิดมุมมองใหม่ให้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจ Health & Wellness พร้อมผลักดันให้เป็นอีกหนึ่ง ‘ซอฟท์ พาวเวอร์’ สร้างรายได้เข้าประเทศ คาด!! จัดงาน 5 วัน สามารถสร้างมูลค่าการค้าให้ผู้ประกอบการ 20 ราย ไม่ต่ำกว่า 70 ล้านบาท ทั้งยอดขายภายในงานและคำสั่งซื้อของคู่ค้าในอนาคต

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า “ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2567 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้นำผู้ประกอบการสมุนไพร 20 ราย ภายใต้โครงการ DBD SMART Local HERB ของกรมฯ เข้าร่วมงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2024 ณ เมืองทองธานี แบ่งเป็น ผู้ประกอบการเครื่องดื่ม 6 ราย เครื่องปรุงรส 5 ราย อาหารว่าง 5 ราย เครื่องแกง 2 ราย และเครื่องเทศ 2 ราย

ไฮไลท์สำคัญนอกจากการแสดง/จำหน่ายสินค้า และเจรจาธุรกิจกับนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เข้าร่วมงานของผู้ประกอบการ 20 รายแล้ว ยังมีการสาธิตโชว์ทำอาหารและเครื่องดื่มจากสมุนไพร (Cooking Demonstration) โดยนำวัตถุดิบจากผู้ประกอบการ DBD SMART Local HERB และสมุนไพรอื่นๆ ที่เข้าร่วมงานฯ มาเป็นส่วนประกอบการนำเสนอเมนูอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่แปลกใหม่ ให้ชาวต่างชาติและผู้เข้าร่วมงานได้ลิ้มชิมรส แสดงสรรพคุณอันหลากหลายของสมุนไพรไทยมีประโยชน์ทั้งดูแลรักษาสุขภาพและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันผ่านอาหารและเครื่องดื่มที่เป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่มีความสำคัญของชีวิต เข้าคอนเซป ‘อิ่มอร่อยรักษาสุขภาพ’ ตอกย้ำนโยบายอาหารไทย อาหารโลก (Kitchen of the World) และจุดประกายแนวคิดเปิดมุมมองใหม่ให้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจ Health & Wellness ที่ไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะในประเทศไทย แต่พร้อมส่งออกสู่สายตาชาวโลกได้รับรู้ถึงสรรพคุณสุดวิเศษ

ทั้งนี้ การสาธิตทำอาหารและเครื่องดื่มจากสุมนไพรภายในงานฯ กำหนดดำเนินการวันละ 2 รอบ โดย เชฟเก่ง : ผศ.ดร.สถิตย์พงษ์ มั่นหลำ อาจารย์และผู้จัดการอาวุโสแผนกวิจัย (Best Professor In Kitchen Manager Studies) วิทยาลัยดุสิตธานี และ *เชฟมังกร : ผศ.ดร.ภูริ ชุณห์ขจร ผู้เชี่ยวชาญ และอาจารย์หลักสูตรอาหารเพื่อสุขภาพ วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต และอาจารย์ประจำโรงเรียนสอนทำอาหาร CBA Academy อาทิ *ขนมปังผักรสหมูกะทะ *ม็อคเทลซอสมะม่วงสามรสพร้อมคาเวียมะม่วง *แกงคั่วสละสอดไส้ไก่ผสมผงเคล *ชาใบหม่อนผสมนมงาขาว *พล่ากระเจี๊ยบกรอบ *น้ำขิงมังคุดโซดา *ซอฟคุกกี้จากผงผักผำ และ *ชาใบหม่อนอัญชันลาเวนเดอร์ผสมว่านหางจระเข้ เป็นต้น

อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า สมุนไพรไทยกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ในรูปแบบตำรับยาแผนโบราณ สารสกัด/วัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง โดยได้รับอานิสงส์จากพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ตอบรับกระแสความนิยมในการใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพ ความตื่นตัวในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุดิบจากธรรมชาติหรือกระบวนการผลิตที่รักสิ่งแวดล้อม และการให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันมากกว่าการรักษา รวมทั้งปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แนวโน้มการบริโภคอาหารแห่งอนาคตที่เพิ่มมากขึ้น และการเติบโตของธุรกิจรักสุขภาพและการออกกำลังกาย

ทั้งนี้ คาดว่าตลอดการจัดงาน 5 วัน จะสามารถสร้างมูลค่าการค้าให้ผู้ประกอบการที่ร่วมออกงานทั้ง 20 ราย ไม่ต่ำกว่า 70 ล้านบาท ทั้งยอดขายภายในงานและคำสั่งซื้อของคู่ค้าในอนาคต ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการเกิดการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยให้มีคุณค่าและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตอกย้ำจุดแข็งความได้เปรียบด้านความหลากหลายของสมุนไพรไทยให้เด่นชัดและความสามารถในการแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างดี

ขอเชิญชวนนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ รวมทั้ง ผู้บริโภคทั่วไป เข้าเยี่ยมชมคูหาผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร DBD SMART Local HERB ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทั้ง 20 ราย ได้ภายในงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2024 ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2567 ณ Hall 9 บูท GG01 โซน Smart Local Herb (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า) เมืองทองธานี จ.นนทบุรี

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2567) ประเทศไทยมีผู้ประกอบธุรกิจผลิตและแปรรูปสมุนไพร จำนวน 1,327 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 9,885 ล้านบาท นิติบุคคลส่วนใหญ่จัดตั้งในรูปแบบบริษัทจำกัด 1,201 ราย (คิดเป็นร้อยละ 90.50 ของจำนวนการจดทะเบียนธุรกิจผลิตและแปรรูปสมุนไพรทั้งหมด) โดยในปี 2567 มีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ จำนวน  68 ราย โดยปัจจัยหลักที่สนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้น คือ ผู้บริโภคตื่นตัวนำสมุนไพรไทยมาใช้ดูแลตนเองและรักษาโรคมากขึ้น” อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดหรือติดตามกิจกรรมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยและผลิตภัณฑ์ชุมชนอื่นๆ ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ที่ กองธุรกิจภูมิภาคและชุมชน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2547 5950 สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *