สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เมษายน 2567 อยู่ที่ระดับ 90.34 ขยายตัวร้อยละ 3.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกหลังหดตัวต่อเนื่อง 18 เดือน จากการส่งออกที่ขยายตัว ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว และฐานต่ำในปีก่อน พร้อมปรับประมาณการดัชนี MPI ปี 2567 คาดขยายตัวร้อยละ 0.0 – 1.0 ด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ภาคอุตสาหกรรม ปี 2567 คาดขยายตัวร้อยละ 0.5 – 1.5
นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เมษายน 2567 อยู่ที่ระดับ 90.34 ขยายตัวร้อยละ 3.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกหลังหดตัวต่อเนื่อง 18 เดือน อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ ร้อยละ 55.26 ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการส่งออกกลับมาขยายตัว โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัวร้อยละ 14.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว และฐานต่ำในปีก่อน อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 4 เดือนแรกของปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 98.28 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.06 และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 59.13 เนื่องจากการผลิตยานยนต์ลดลงเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน จากการหดตัวของการบริโภคภายในประเทศ และปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย รวมถึงต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น เป็นปัจจัยที่กดดันให้ MPI หดตัว ทั้งนี้ สศอ. ปรับประมาณการดัชนี MPI ปี 2567 อยู่ที่ขยายตัวร้อยละ 0.0 – 1.0 ด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ภาคอุตสาหกรรม ปี 2567 คาดขยายตัวร้อยละ 0.5 – 1.5
สำหรับระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนพฤษภาคม 2567 “ส่งสัญญาณฟื้นตัวระยะสั้น” โดยปัจจัยภายในประเทศฟื้นตัวตามความเชื่อมั่นทางธุรกิจ การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ ส่งสัญญาณฟื้นตัวระยะสั้น จากการฟื้นตัวของสหรัฐอเมริกา และผลผลิตในสหภาพยุโรป รวมทั้งภาคการผลิตของญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น
“สศอ. ปรับประมาณการดัชนี MPI ปี 2567 อยู่ที่ขยายตัวร้อยละ 0.0 – 1.0 จากประมาณการเดิมขยายตัวร้อยละ 2.0 – 3.0 ด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ภาคอุตสาหกรรม ปี 2567 คาดขยายตัว ร้อยละ 0.5 – 1.5 จากประมาณการครั้งก่อนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.0 – 3.0 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับหน่วยงานทางเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยมีสาเหตุหลักจากปัญหาหนี้สินครัวเรือนในประเทศและอัตราดอกเบี้ยมีระดับสูง ต้นทุนพลังงานและค่าจ้างปรับตัวสูงขึ้น สภาพภูมิอากาศแปรปรวนกระทบอุตสาหกรรมที่พึ่งพาผลผลิตทางการเกษตร ปัญหาสินค้านำเข้าราคาถูกล้นตลาดประเทศไทย รวมถึงปัจจัยต่างประเทศ อาทิ เศรษฐกิจคู่ค้าหลักบางประเทศอาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด การเลือกตั้งผู้นำในหลายประเทศ ปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน” นางศิริเพ็ญ กล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนเมษายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 24.19 จากผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ เป็นหลัก เนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด รวมถึงผู้ผลิตสามารถพัฒนาสินค้าได้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค เช่น เพิ่มความสามารถในการกรอง PM 2.5 โดยขยายตัวทั้งตลาดในประเทศ และตลาดส่งออกไปสหรัฐฯ ยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.78 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องบิน และแก๊สโซฮอล์ 91 เป็นหลัก ตามภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ปีนี้คึกคักกว่าปีก่อน ส่งผลให้มีการเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนาเพิ่มขึ้น อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.11 จากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง อาหารไก่ และอาหารสุกร เป็นหลัก ตามกระแสการดูแลสัตว์เลี้ยงเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะการส่งออกขยายตัวจากตลาดยุโรป รวมถึงการรับจ้างผลิตให้ลูกค้าต่างประเทศ สำหรับอาหารสำเร็จรูปในกลุ่มปศุสัตว์ขยายตัวตามความต้องการของตลาด
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนเมษายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 17.16 จากผลิตภัณฑ์ Integrated circuits (IC) และ PCBA เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลก และผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันมีความซับซ้อนและมีมูลค่าต่อหน่วยสูง ส่งผลให้ปริมาณการผลิตลดลง ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.82 จากรถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ เป็นหลัก ตามการหดตัวของตลาดในประเทศที่ลดลงร้อยละ 27.97 จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง และสถาบันการเงินยังคงความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ประกอบกับการส่งออกลดลงร้อยละ 6.81 ตามความต้องการสินค้าของประเทศคู่ค้าลดลง คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.39 จากผลิตภัณฑ์พื้นสำเร็จรูป และเสาเข็มคอนกรีต เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ลูกค้ากลุ่มโมเดิร์นเทรดและตัวแทนจำหน่ายชะลอคำสั่งซื้อเนื่องจากมีสินค้าในสต๊อกจำนวนมาก