เปิดอินไซต์วงการคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ กับโลกธุรกิจ ถอดสูตรสำเร็จ แนวคิดปิด Gap การทำคอนเทนต์ ตอบรับ Creator Economy ยุค AI โดย กัชคลาวด์ ประเทศไทย ร่วมกับครีเอเตอร์ และ แบรนด์ Sasi กับ session Success in Content Creator Business ในงาน Creative Talk 2024

กัชคลาวด์ ประเทศไทย บริษัทคอนเทนต์บันเทิง ที่ปรึกษาการตลาด และต้นสังกัดอินฟลูเอนเซอร์ หรือคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ที่มีกว่า 11 ประเทศทั่วโลก  เผยอินไซด์วงการคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ใน session Success in Content Creator x Business ถอดบทเรียนคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ที่มีผลต่อโลกธุรกิจ เจาะลึกภาพรวมในปัจจุบัน เมื่อนักผลิตคอนเทนต์เกิดใหม่ทุกวัน ทำอย่างไรให้สามารถต่อยอดรายได้ ไปจนถึงการหาจุดบาลานซ์การทำงานร่วมกับแบรนด์

ในงาน AP Thailand presents CREATIVE TALK Conference 2024 ภายใต้ธีม “Creative Generation” การรวมตัวของคนครีเอทีฟ ซึ่งรวบรวมกว่า 100 Speakers จากองค์กรชั้นนำ เข้าร่วมปลดล็อกความคิดสร้างสรรค์ ทั้งด้านธุรกิจ,การพัฒนาตัวเอง และการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่เพื่อสร้าง Creative Economy ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

นำโดย คุณนิโรธ ฉวีวรรณากร Country Director กัชคลาวด์ (ประเทศไทย) จำกัด และ Head of Talent ประจำภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่าในปี 2024 ตลาด Creator Economy ทั่วโลกมีการเติบโตกว่า 20% โดยประมาณ แต่สำหรับตลาดโฆษณาอินฟลูเอนเซอร์ในประเทศไทยในปีนี้มีการคาดการณ์ว่าจะเติบโตมากขึ้นกว่า 10-15% ไปเรื่อยๆจนถึงปี 2030 ซึ่งอาจพูดได้ว่าอีก 10 ปีข้างหน้าตลาดจะเติบโตถึง 100 % เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าใครที่อยากจะเป็นคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ก็ยังสามารถเริ่มทำได้และควรเริ่มจากสิ่งที่ชอบจริงๆและยังสามารถสร้างรายได้จากความชอบของตัวเองขึ้นมาได้

หากคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ต้องการทำงานร่วมกับแบรนด์เพื่อต่อยอดรายได้ ควรมองหาว่าตัวตนที่เป็น กับการทำคอนเทนต์ตอบโจทย์แบรนด์แบบไหน และต้องมองแบบ Long-Term มีความเป็น Authentic หรือตัวตนของตัวเอง ต้องมีการปรับตัวอยู่ตลอด ทั้งการอัปเดตเทรนด์ที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการทำความเข้าใจเทคโนโลยี AI ที่สามารถเป็นตัวช่วยการทำงานให้กับเราได้,วิธีการขายสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้น หรือการ PR ช่องของตัวเอง และต้องเข้าใจธุรกิจคอนเทนต์ด้วย ในขณะเดียวกันแบรนด์เองก็ควรศึกษาคอนเทนต์ของครีเอเตอร์ว่าสามารถตอบโจทย์ Purpose (เป้าหมาย) ของแคมเปญได้จริงหรือไม่ ถึงแม้ว่าจะเหมาะสมกับกลุ่ม Audience ก็ตาม ซึ่งถ้าแบรนด์และคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ทำความเข้าใจร่วมกันในจุดมุ่งหมาย หรือ Objective ของธุรกิจ ซึ่งเป็นแนวทางการหาจุดตรงกลางเพื่อให้สามารถไขปัญหาแก้ยากในอุตสาหกรรมการทำคอนเทนต์ได้

ด้านคุณธนัธพร อนันต์ธนาเกษม, เจ้าของช่อง PetchZ คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ในสังกัดกัชคลาวด์ ประเทศไทย เล่าถึงมุมมองของการเป็นครีเอเตอร์ว่าจุดเริ่มต้นในการทำคอนเทนต์ของตัวเองนั้นเกิดจากการศึกษาในวัฒนธรรมต่างประเทศจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต่อยอดในมุมมองที่ตัวเองชอบ และถ้าหากต้องทำงานร่วมกับแบรนด์ เพชรมีการมองหาแบรนด์ที่ตรงกับทาร์เกตผู้ติดตามเพื่อบาลานซ์คอนเทนต์ให้เหมาะสมกับฐานแฟนคลับ เช่น แบรนด์ที่แฟนคลับสามารถนำไปเลือกใช้ได้ และเลือกแนวทางการทำงานที่มีความเป็นตัวเองมากที่สุดโดยที่ยังสามารถสื่อสาร key messages ที่ทำให้คนติดตามนั้นรู้สึกว่ายังอยากดูคอนเทนต์ ในขณะเดียวกันก็ต้องมีวิธีการที่ให้แบรนด์พึงพอใจในผลงาน นอกจากนี้เพชรยังแนะนำ

สำหรับคนที่อยากเริ่มเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ว่า แต่ล่ะคนมีเอกลักษณ์ของตัวเองที่แตกต่างกัน เราต้องคิดและสำรวจตัวเองว่าเราจุดเด่นของตัวเองคืออะไร อยากทำแบบไหน เพื่อโชว์จุดต่างการทำคอนเทนต์ออกมา ตั้งเป้าหมายของตัวเองให้ชัด หาสิ่งใหม่ๆทำและหาแนวทางเพื่อไปถึงสิ่งที่หวังไว้ เช่น การปรับคอนเทนต์ตามเทรนด์เพื่อขยายฐานผู้ติดตาม นอกจากนี้ต้องมีการพัฒนาตัวเองตลอด และเป็นตัวเองให้ได้มากที่สุดตอบโจทย์แบรนด์ได้เช่นกัน และควรศึกษา AI เพื่อให้ทำคอนเทนต์ครีเอเตอร์ก้าวไปสู้เป้าหมายได้ ซึ่งเพชรเองมีการ adapt ใช้ AI สำหรับการทำซับไตเติ้ลแปลภาษาเพื่อลดเวลาการทำงาน

ด้าน คุณเกล็ดดาว จิตต์ชื่นโชติ, Senior Brand Manager, sasi กล่าวว่า การบาลานซ์การทำงานระหว่างแบรนด์และครีเอเตอร์เป็นสิ่งสำคัญในการทำคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ แบรนด์เองต้องมี objective ของแคมเปญที่ชัดเจน รวมถึงการทำบรีฟที่ละเอียด ให้ข้อมูลครบถ้วน ตรงประเด็น ทำให้ครีเอเตอร์เห็นภาพ เข้าใจแบรนด์ และ  key message หลักที่ต้องการจะสื่อสารออกไป ซึ่งวิธีเลือกอินฟลูเอนเซอร์ของ sasi เองจะเริ่มจากการวิเคราะห์แคมเปญและสินค้าว่ามี Target แตกต่างกันอย่างไรในแต่ละแคมเปญ เพื่อไม่ให้เกิดการสื่อสารที่เป็นแพทเทิร์น หรือรูปแบบเดิมๆ จึงมีการเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่หลากหลาย นอกจาก Beauty Influencer ที่ร่วมงานกันเป็นประจำแล้ว ยังขยายไปสู่ อินฟลูเอนเซอร์สาย Lifestyle / Fashion / ท่องเที่ยว ทั้ง ไทย จีน เกาหลี  ที่เหมาะสมกับแคมเปญนั้นๆ โดยมองถึงการทำคอนเทนต์ใหม่ๆที่เข้ากับเทรนด์ เข้าใจง่าย  อีกทั้งแบรนด์ยังมองถึง คาแรคเตอร์ของครีเอเตอร์ที่สอดคล้องกับแคมเปญและสินค้านั้นๆด้วย

คุณนิโรธกล่าวปิดท้ายว่า เมื่อคอนเทนต์ครีเอเตอร์มีการเติบโตในสายอาชีพ อาจบริหารจัดการในด้านธุรกิจไม่ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับแบรนด์ ดังนั้นการมองหาเมเนเจอร์ หรือพาร์ทเนอร์ก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน เพื่อให้มีตัวช่วยซัพพอร์ตการทำงาน และช่วยในการปัญหาต่างๆที่เป็น Gap ระหว่างแบรนด์ และ ครีเอเตอร์ได้ สำหรับกัชคลาวด์ ประเทศไทยเองก็มีการทำ Talent Management หรือการเซ็นต์สัญญากับคอนเทนต์ครีเอเตอร์เข้าสังกัด เพื่อช่วยดูแลและวิเคราะห์แนวทางการทำคอนเทนต์เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายทำงานร่วมกันได้ตามเป้าหมาย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *