นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังงานสัมมนานำเสนอผลการจัดทำภาพอนาคตสินค้าอาหารจากพืช (Plant-Based Food) ภายใต้โครงการจัดทำภาพอนาคตสินค้าเกษตรสำคัญของประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมสวิสโซเทล กรุงเทพ รัชดา โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) ดำเนินโครงการฯ เพื่อชี้ให้เห็นถึงภาพอนาคตสินค้า Plant-Based Food ของไทย ซึ่งจะทำให้สามารถวางแผนและออกแบบนโยบายได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
สินค้า Plant-Based Food มีแนวโน้มเติบโตเร็วทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า ในช่วงปี 2562 – 2567 มูลค่าตลาด Plant-Based Food ทั่วโลก มีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ร้อยละ 10.5 และในปี 2567 คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับประเทศไทย Krungthai Compass (2020) คาดการณ์ว่า ในปี 2567 จะมีมูลค่า 45,000 ล้านบาท มีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (CAGR) อยู่ที่ร้อยละ 10 ใกล้เคียงกับอัตราการเติบโตของตลาดโลก โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนมาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค ที่ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และจริยธรรมที่มีต่อสัตว์มากขึ้น อีกทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐที่ส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต ประกอบกับในโลกยุคดิจิทัลที่การสื่อสารสะดวกรวดเร็ว เพิ่มการรับรู้และยอมรับสินค้าชนิดใหม่ ๆ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยขับเคลื่อนอื่น ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสินค้า Plant-Based Food อาทิ จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีการแปรรูปอาหารที่ก้าวหน้า
จากการศึกษา พบว่า ภาพอนาคตสินค้า Plant-Based Food ของไทย มีหลายฉากทัศน์ ซึ่งฉากทัศน์ของอนาคตที่เป็นไปได้ (Probable Future) คือ ไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบอาหารเพื่อสุขภาพของโลก เป็นแหล่งเพาะปลูกที่อุดมสมบูรณ์ มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคการเกษตร รวมทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิต Plant-Based Food ที่ผู้ประกอบการเข้าถึงได้ เพื่อยกระดับและสร้างโอกาสทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีอนาคตทางเลือก (Alternative Future) อีก 3 ฉากทัศน์ ได้แก่ 1) ฉากทัศน์ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเทศกาล วัฒนธรรม และเกษตรยั่งยืน คือ การเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเทศกาล วัฒนธรรม และเกษตรที่มีสิ่งแวดล้อมยั่งยืน โดยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของ Plant-Based Food ผ่านการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ 2) ฉากทัศน์ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ คือ ไทยเป็นแหล่งของธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งในประเทศไทยเติบโตและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง สามารถต่อยอดไปสู่การส่งออกไปยังต่างประเทศ และ 3) ฉากทัศน์ของสินค้าอาหารแปรรูป Plant-Based Food ซึ่งเป็นภาพอนาคตที่ไทยมีความสมบูรณ์และยั่งยืน มีภาคการเกษตรที่ทันสมัย รองรับความต้องการ Plant-Based Food ที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก ตอบสนองต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหาร Plant-Based Food ไทย ยังคงต้องได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างรอบด้าน ทั้งด้านการผลิตและแปรรูป ด้านการตลาด ด้านการวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้านฐานข้อมูล ด้านการลงทุน และด้านกฎหมาย เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางการค้าสินค้าเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรของไทย และเพื่อให้ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางอาหาร Plant-Based Food ที่สำคัญของโลก
นายพูนพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในการสัมมนาครั้งนี้ นอกจากการนำเสนอภาพอนาคต Plant-Based Food ของไทยแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้ซักถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะต่อภาพอนาคตฯ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาสินค้า Plant-Based Food วางแผนต่อยอดและดำเนินนโยบายสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สนค. จะเผยแพร่รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดทำภาพอนาคตสินค้าเกษตรสำคัญของประเทศไทย กรณีศึกษา สินค้าอาหารจากพืช (Plant-Based Food) ผ่านทางเว็บไซต์ สนค. (http://www.tpso.moc.go.th) เพื่อให้ผู้ที่สนใจนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป