นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้ง First s-curve และ New S-curve เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรมขานรับนโยบายดังกล่าว โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่ออนาคต รวมทั้งได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งกำหนดมาตรฐานเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่ใช้ในการอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการกระบวนการผลิต เช่น หุ่นยนต์ที่ใช้ในการเชื่อมโลหะในอุตสาหกรรมยานยนต์ หุ่นยนต์ที่ใช้ในกระบวนการอัดฉีดพลาสติก และหุ่นยนต์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น หุ่นยนต์ที่ใช้ปฏิบัติการทางการแพทย์ มีระบบประสาทสัมผัสด้านความปลอดภัย มีการเรียนรู้คำสั่งและสามารถควบคุมได้ซึ่งมติที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.)เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบมาตรฐานที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ จำนวน 6 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานหุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรม ที่ใช้ทำงานเสี่ยงอันตรายในโรงงานอุตสาหกรรมแทนแรงงานคน จำนวน 2 มาตรฐาน และหุ่นยนต์ดูแลส่วนบุคคล จำนวน 4 มาตรฐาน ได้แก่ หุ่นยนต์บริการในร้านอาหาร หุ่นยนต์เคลื่อนย้ายคน หุ่นยนต์ที่ช่วยประกอบชิ้นส่วนหรือยกของ และหุ่นยนต์ช่วยเหลือผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับความปลอดภัย และยังเป็นการเตรียมการเพื่อรองรับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยอีกด้วย
นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) กล่าวว่า นอกจากบอร์ดจะเห็นชอบมาตรฐานหุ่นยนต์ที่ใช้ในการอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีมติเห็นชอบมาตรฐานที่ สมอ. เสนอ จำนวนรวมทั้งสิ้น 150 เรื่อง เช่น ลวดเหล็กกล้าเคลือบสังกะสีผสมอะลูมิเนียม ดวงโคมไฟฟ้าฝังพื้น ดวงโคมไฟฟ้าใช้ในที่เลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำ ดวงโคมไฟฟ้าสำหรับสระว่ายน้ำ ระบบรางจ่ายไฟฟ้าสำหรับดวงโคมไฟฟ้า ยางรัดของ เครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้ในไร่สวนและสนามหญ้า โคมไฟหน้าและท้ายรถยนต์ โคมไฟตัดหมอกด้านหน้ารถยนต์ ไฟเลี้ยวรถยนต์ อุปกรณ์สัญญาณเสียงเตือนในรถยนต์ อุปกรณ์ล็อกประตูรถยนต์ การป้องกันการโจรกรรมยานยนต์ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก อุปกรณ์มองภาพของรถยนต์ กระจกมองหลังรถยนต์ รวมทั้งมาตรฐานวิธีทดสอบต่าง ๆ พร้อมทั้ง ได้อนุมัติรายชื่อมาตรฐานที่ สมอ. จะจัดทำเพิ่มเติมในปี 2567 อีกจำนวน 44 เรื่อง เช่น เต้าเสียบ-เต้ารับ กรวยจราจรจากน้ำยางข้น กำแพงกันเสียงชนิดดูดซับเสียงจากฟองน้ำยางธรรมชาติ และมาตรฐานวิธีทดสอบต่าง ๆ เป็นต้น รวมเป็นมาตรฐานที่ สมอ. จะจัดทำในปีนี้กว่า 1,300 เรื่อง
ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่ามาตรฐานหุ่นยนต์ทั้ง 6 เรื่องที่บอร์ดมีมติเห็นชอบ เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยของหุ่นยนต์ที่อ้างอิงตามมาตรฐานสากล มีรายการทดสอบด้านความปลอดภัยที่สำคัญ เช่น ระบบกักเก็บพลังงาน การปล่อยมลพิษทางด้านเสียง การสั่น ความร้อน การแผ่รังสี การรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า การเบรกและการหยุดฉุกเฉิน การควบคุมความเร็ว ความแรง และพลังงานที่เกิดจากการสัมผัสระหว่างผู้ใช้งานกับหุ่นยนต์ มีการควบคุมการทำงานของเซ็นเซอร์ และอุปกรณ์ตรวจจับต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งาน สามารถใช้งานหุ่นยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
สำหรับการกำหนดมาตรฐานของ สมอ. ในปีนี้ ตามนโยบาย Quick win ของรัฐมนตรีพิมพ์ภัทรา ที่ตั้งเป้าไว้ไม่ต่ำกว่า 1,000 เรื่อง ซึ่งขณะนี้ สมอ. คาดว่าจะกำหนดมาตรฐานได้ 1,300 เรื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมให้นำไปใช้ในกระบวนการผลิต และยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย เลขาธิการ สมอ. กล่าว