นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านการผลิตภาพยนตร์สั้น จากศิลปะและวัฒนธรรมสองฝั่งโขง ครั้งที่ 8 หนังกลางคลอง แม่กลองที่รัก พร้อมด้วย นายรนัสถ์ชัย พุ่มเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม รศ.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น นายสามารถ จันสูร ประธานคณะกรรมการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภออัมพวา ผู้นำชุมชน เข้าร่วมในพิธีเปิด
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การจัดโครงการในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเปิดพื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงานและเปิดโอกาสให้นักศึกษาจากเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ และสาธารณประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 33 ทีม ได้ศึกษาเรียนรู้แหล่งประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตและทุนทางวัฒนธรรม ที่สำคัญของชาติในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ทำให้เกิดการถ่ายทอดแนวคิดและมุมมองคนรุ่นใหม่ผ่านการผลิตภาพยนตร์สั้น อีกทั้งยังเป็นเวทีในการสร้างนักแสดงและผู้กำกับรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ เข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมภาพยนตร์สั้น ทั้งในและต่างประเทศ โดยกระทรวงวัฒนธรรมสนับสนุนการจัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านการผลิตภาพยนตร์สั้น จากศิลปะและวัฒนธรรมสองฝั่งโขงมาอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟพาวเวอร์ของรัฐบาล และคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ
ปลัดวธ. กล่าวต่อไปว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และสนับสนุนให้ภาพยนตร์เป็น 1 ใน Soft Power ที่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจสร้างรายได้ และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ โดยใช้มิติทางวัฒนธรรมผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทยผ่านสื่อภาพยนตร์ ขอชื่นชมและขอบคุณคณะทำงานที่เห็นความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาศักยภาพเยาวชนคนรุ่นใหม่ด้านการผลิตภาพยนตร์สั้นมาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ การจัดโครงการในครั้งนี้ยังเป็นการเปิดพื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงานและเปิดโอกาสให้นักศึกษา คณาจารย์จากเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้ศึกษาเรียนรู้แหล่งประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ เกิดการถ่ายทอดแนวคิดและมุมมองคนรุ่นใหม่ผ่านการผลิตภาพยนตร์สั้น อีกทั้ง ยังเป็นเวทีในการสร้างนักแสดงและผู้กำกับรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมภาพยนตร์สั้นทั้งในและต่างประเทศ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านการผลิตภาพยนตร์สั้นจากศิลปะและวัฒนธรรมสองฝั่งโขง ในครั้งนี้ จะเป็นแรงผลักดันและเสริมพลังทางความคิดให้แก่คนรุ่นใหม่ที่มีใจรักในการผลิตภาพยนตร์สั้นได้ใช้เวลาในการเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะกับผู้กำกับภาพยนตร์ระดับมืออาชีพ เพื่อนำไปปรับใช้ในการเรียนและการทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป