ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า) มีนโยบาย ให้ส่งเสริมการปลูกกาแฟ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ปัจจุบันการผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อการบริโภค ทำให้ต้องนำเข้าจำนวนมาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกาแฟเพื่อทดแทนการนำเข้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ 8 จังหวัด ที่มีความสูงตั้งแต่ 700 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป ประกอบกับการรณรงค์ไม่ให้เกิดการเผาเศษพืชบนพื้นที่สูง ซึ่งการปลูกกาแฟจะช่วยในการลดการเผาลงได้ และเชื่อว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชของเกษตรกรได้
นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กาแฟ เป็นสินค้าที่มีศักยภาพ ที่ต้องเพิ่มผลผลิต ทดแทนการนำเข้า โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะสนับสนุนทั้งพันธุ์ดี เทคโนโลยีนวัตกรรมที่เหมาะสม และการเข้าถึงตลาด ซึ่งมาตรการยกระดับสินค้าเกษตรสู่การเพิ่มรายได้ 3 ด้าน ได้แก่ 1. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและผลผลิตต่อไร่ โดยการวิจัยพัฒนาพันธุ์ที่ผลผลิตสูงต้านทานโรค เทคโนโลยีการผลิต 2. การสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ การผลิตกาแฟคุณภาพ มาตรฐาน GAP และ Q กาแฟ Premium การรวมกลุ่มเพื่อแปรรูปกาแฟ สร้างอัตลักษณ์กาแฟด้วยการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเชื่อมโยงการท่องเที่ยว โดยการวิจัยและพัฒนาอัตลักษณ์ การคั่วกาแฟ ของไทยด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม แล้วพัฒนาไปสู่การสร้างอัตลักษณ์กาแฟไทย
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สถานการณ์การผลิตกาแฟในประเทศไทย พบว่าส่วนใหญ่เป็นเนื้อที่ปลูกพันธุ์อะราบิกา และพันธุ์โรบัสตา โดยจังหวัดที่มีเนื้อที่ปลูกมากที่สุด สำหรับสายพันธุ์อะราบิกา ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน ส่วนสายพันธุ์โรบัสต้า ได้แก่ จังหวัดชุมพร ระนอง โดยปัจจุบันเนื้อที่เพาะปลูกกาแฟทั้งประเทศมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อที่เพาะปลูกกาแฟโรบัสตา ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่มีมูลค่าสูง เช่น ทุเรียน หรือไม้ผลอื่นๆ ในทางกลับกัน เนื้อที่ปลูกกาแฟอะราบิกากลับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าสาเหตุเกิดจากความนิยมในการบริโภคกาแฟที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ การค้นหารสชาติ กลิ่นของกาแฟที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะในผู้ที่นิยมบริโภคกาแฟ ทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเมล็ดกาแฟได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิต ได้แก่ ความสูงจากระดับน้ำทะเล สายพันธุ์กาแฟที่ปลูก ความสมบูรณ์ของธาตุอาหารดิน การดูแลรักษา และปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย ทั้งนี้ จากการประชุมหารือแนวทางการส่งเสริมการผลิตกาแฟใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยจำแนกตามสายพันธุ์อาราบิกา สายพันธุ์โรบัสตา ปริมาณผลผลิตกาแฟที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดตามพื้นที่ข้างต้น โดยจะส่งเสริมใน 3 ลักษณะ ได้แก่ 1. พื้นที่ปลูกใหม่ 2. การทดแทนพืชเดิม และ 3. การปลูกแซม/ผสมผสาน
อธิบดีกล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการส่งเสริมการปลูกกาแฟให้สอดคล้องกับอุปสงค์อุปทานในพื้นที่มีเป้าหมายเพื่อการทดแทนการนำเข้า และเพื่อรองรับความต้องการการบริโภคกาแฟที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ส่งผลให้ภูมิศาสตร์การเกษตรของโลกเปลี่ยนแปลง หรือมีการจัดสมดุลใหม่ที่สอดคล้องกับปัญหา Climate Change อันเป็นโอกาสและความท้าทายของไทยที่จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในสินค้ากาแฟคุณภาพสูง ที่มีพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อการเพาะปลูกบนที่สูง High Land มากกว่า 30% ของพื้นที่เกษตรกรรมประเทศ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อยกระดับผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ให้สูงกว่า 80 กิโลกรัมต่อไร่ และมีมูลค่าของสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ใน 4 ปี (ปี พ.ศ. 2567 – 2570) ซึ่งจำเป็นต้องระดมความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสร้างความเข้าใจร่วมกันของทุกภาคส่วน ประกอบด้วย การประเมินความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น พฤติกรรมและอำนาจซื้อของผู้ดื่มกาแฟ การประเมินศักยภาพของพื้นที่ปลูกที่ต้องพิจารณาความเหมาะสมในทุกปัจจัย ทั้งด้านระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล อุณหภูมิ ความเข้มของแสง ธาตุอาหารในดิน ปริมาณฝนและน้ำท่า สายพันธุ์กาแฟที่เหมาะสมและมีอนาคตด้านตลาด มีความจำเพาะและสร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามผลกระทบของภาวะโลกร้อน การสร้างและพัฒนาระบบการตรวจสอบรับรองสายพันธุ์ แหล่งเพาะต้นกล้าพันธุ์ดี กระบวนการผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐาน การควบคุมคุณภาพและการตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่อุปทานสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค การพัฒนาทักษะของเกษตรกรให้มีผลิตภาพการผลิตสูง นอกจากนี้ ยังต้องมีการประเมินขนาดการผลิตที่เหมาะสมกับเกษตรกรแต่ละราย เพื่อสร้างการประหยัดต่อขนาด Economic of Scale เพื่อรักษาระดับความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศในอนาคต รวมถึงการพัฒนาให้มีกลไกการบริหารจัดการสมดุลอุปสงค์ อุปทานของประเทศให้สอดคล้องกับตลาดโลก
การประชุมครั้งนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในการส่งเสริมการผลิตกาแฟได้ครบทุกมิติ และยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟ ส่งผลให้เรามีเป้าหมายในการพัฒนาที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต่อไป