สุรพงษ์ฯ เผยวิทยุการบินฯ นำดาวเทียมยกระดับความปลอดภัยจราจรทางอากาศ

วิทยุการบินฯ เชื่อมข้อมูลระบบบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ (ATFM) เข้ากับระบบ A – CDM  นำ Digital Tower ระบบนำทางด้วยดาวเทียมขั้นสูง (GBAS) ระบบนำทางและควบคุมการเคลื่อนที่ของอากาศยานและยานพาหนะภาคพื้น (A-SMGCS)และระบบติดตามอากาศยานบริเวณภาคพื้น (MLAT)ยกระดับความปลอดภัย รองรับปริมาณเที่ยวบินเพิ่ม

นายสุรพงษ์  ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า “จากการที่รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค จึงได้เน้นย้ำให้ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการจราจรทางอากาศและเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน ทั้งนี้ จากที่ได้ประมาณการขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน (Capacity) ในปี 2568 รวม 1.2 ล้านเที่ยวบิน 1.4 ล้านเที่ยวบิน ในปี 2571 และ 2 ล้านเที่ยวบิน ในปี 2581 ทำให้ต้องเร่งเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านระบบ อุปกรณ์ เทคโนโลยี”

ดร. ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัดเปิดเผยว่า “วิทยุการบินฯ มีแผนจะดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลของระบบจัดการความคล่องตัวการจราจราทางกาศ (Air Traffic Flow Management: ATFM) เข้ากับระบบ Airport Collaborative Decision Making (A-CDM) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง ซึ่งจะช่วยให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศได้ เพิ่มขึ้นและลดความล่าช้าของเที่ยวบิน และจะนำ Digital Tower มาใช้งานสำหรับท่าอากาศยานขนาดใหญ่และมีปริมาณเที่ยวบินหนาแน่น เพื่อเพิ่มระดับความปลอดภัย (Safety) บริเวณทางขับ ทางวิ่งและหลุมจอด รวมถึงเพื่อรองรับเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น

โดยในช่วงแรกจะทำการศึกษาเพื่อนำเข้าใช้งาน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ ดอนเมือง ในขณะเดียวกัน วิทยุการบินฯ มีแผนพัฒนาระบบ Ground-Based Augmentation System (GBAS) ซึ่งเป็นระบบนำทางด้วยดาวเทียมขั้นสูงที่ช่วยระบุตำแหน่งอากาศยานได้อย่างแม่นยำและช่วยให้อากาศยานสามารถทำการบินขึ้นและลงได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สภาพอากาศแปรปรวน ลดความล่าช้าของเที่ยวบิน รวมทั้งได้ดำเนินการการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้งานระบบนำทางและควบคุมการเคลื่อนที่ของอากาศยานและยานพาหนะภาคพื้น หรือ A-SMGCS รวมถึงระบบติดตามอากาศยานบริเวณภาคพื้นสนามบินที่เรียกว่า MLAT ณ ท่าอากาศยานภูเก็ตและเชียงใหม่ เพื่อเป็นการเพิ่มระดับความปลอดภัย(Safety) บริเวณทางขับ ทางวิ่ง และหลุมจอด สำหรับปริมาณการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน”

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *