เปิดถ้อยคำแถลงเห็นชอบโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

วันที่  15  กรกฎาคม 2567

กราบเรียน  นายกรัฐมนตรี(นาย เศรษฐา  ทวีสิน)

ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 หรือโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และต่อมามีเกษตรกร นักการเมือง รวมถึงสื่อมวลชน ออกมาคัดค้านและให้ข้อเสนอแนะ นั้น

สมาคมศูนย์ข้าวชุมชน(ประเทศไทย) เป็นองค์กรเกษตรกร ซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วยผู้แทนของศูนย์ข้าวชุมชนทั่วประเทศ ผู้แทนจากคณะกรรมการเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้แทนจากคณะกรรมการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรระดับประเทศ และผู้แทนคณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ระดับประเทศ ขอแสดงจุดยืนอยู่เคียงข้างพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ และขอกราบเรียนว่า การลดต้นทุนค่าปุ๋ยมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อเกษตรกร และเรียกร้องให้รัฐบาลภายใต้การนำของนาย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เร่งรัดการดำเนินโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 หรือโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง และทบทวนหรือปรับปรุงแนวทางการดำเนินโครงการฯ ดังนี้

  1. จัดหาปุ๋ยราคาถูกให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ปุ๋ยในโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งรวมค่าจัดส่งและค่าบริการถึงคลังสินค้าของสหกรณ์การเกษตร จะต้องมีราคาถูกกว่าราคาท้องตลาดไม่ต่ำกว่า 30% ทุกยี่ห้อทุกสูตร ทั้งปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์และชีวภัณฑ์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถลดต้นค่าปุ๋ยได้อย่างแท้จริง

  1. ทบทวนและเปลี่ยนเงื่อนไขของโครงการปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง
  • สนับสนุนวงเงินให้กับเกษตรกรชาวนา ให้สามารถซื้อปุ๋ยในโครงการฯ วงเงินไม่เกิน 500 บาท ต่อไร่ แต่จำกัดครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่  ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2567/68 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยอนุโลมให้ใช้ข้อมูลทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2566/2567 (สำหรับเกษตรกรรายเดิม แปลงเดิม) และเกษตรกรชาวนาไม่ต้องสมทบเงินค่าปุ๋ย
  • วิธีเข้าร่วมโครงการ เกษตรกรสามารถใช้สิทธิ์และเข้าร่วมโครงการผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) หรือสหกรณ์การเกษตร หรือผ่านแอพพลิเคชัน BAAC Mobile โดยไม่ต้องสมทบเงินแสดงเพียงบัตรประชาชนและตรวจสอบการยืนยันตัวตนเท่านั้น จากนั้นสามารถระบุสูตรปุ๋ย และยี่ห้อที่เข้าร่วมโครงการฯ ต่อสหกรณ์การเกษตร และรับปุ๋ยตามจุดที่สหกรณ์การเกษตรกำหนด
  • สำหรับครัวเรือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เกินกว่า 20 ไร่ สามารถใช้สิทธิ์ซื้อปุ๋ยในโครงการฯ ตามราคาที่โครงการฯ กำหนด และปุ๋ยจะต้องมีราคาถูกกว่าราคาท้องตลาดไม่ต่ำกว่า 30% ทุกยี่ห้อทุกสูตร ทั้งปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์และชีวภัณฑ์
  • เนื่องจากปุ๋ยเป็นสินค้าที่ถูกควบคุมโดยกระทรวงพาณิชย์ปุ๋ยในโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งรวมค่าจัดส่งและค่าบริการถึงคลังสินค้าของสหกรณ์การเกษตรจากต้นทุนที่แท้จริง กระทรวงพาณิชย์จะต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศราคาควบคุมอย่างถูกต้อง โดยไม่จำเป็นต้องเป็นราคาเดียวกันทั้งประเทศในแต่ละสูตรปุ๋ย
  • เพื่อให้เกิดความหลากหลายในการใช้ปุ๋ยตามความต้องการของเกษตรกร และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ปุ๋ยในโครงการฯ ไม่ควรเจาะจงให้เป็นปุ๋ยที่ขึ้นทะเบียนสำหรับนาข้าวเท่านั้น
  • ในบางพื้นที่ได้ล่วงเลยระยะเวลาการใช้ปุ๋ยและชีวภัณฑ์ ในการเพาะปลูกข้าวแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องประชาสัมพันธ์ห้วงเวลาในการใช้สิทธิ์ของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ให้ทราบอย่างทั่วถึง
  • กรณีผู้ประกอบการปุ๋ยไม่เข้าร่วมโครงการฯ หน่วยงานของรัฐจะต้องประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบอย่างทั่วถึง เพื่อเป็นกันส่งเสริมความเข้าใจอันดีแก่เกษตรกรต่อโครงการ
  1. นโยบายคู่ขนานของรัฐบาล

1)  รัฐบาลควรสนับสนุนสินเชื่อตลอดห่วงโซ่การผลิตข้าว (Value Chain Finance) เพื่อสนับสนุนการผลิตข้าวตั้งแต่ต้นน้ำ โดยสนับสนุนปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรผ่านสถาบันเกษตรกร และสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรในการรวบรวมข้าว รวมถึงการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการแปรรูปข้าวอย่างครบวงจร ในลักษณะการซื้อขายล่วงหน้า และให้เกษตรกรสามารถรับเงินค่าข้าวล่วงหน้าได้ก่อนการเก็บเกี่ยว อันจะส่งผลดีต่อระบบการผลิต เงินทุนหมุนเวียน และความมั่นคงด้านการตลาดตลอดห่วงโซ่การผลิต

2)  รัฐบาลควรให้ ธ.ก.ส. จัดสินเชื่อดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 2 โครงการ ในวงเงินที่เพียงพอ ได้แก่ 1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2567/2568  เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว โดยไม่ต้องเร่งขายข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากและราคาตกต่ำ  2) สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2567/68 เป้าหมายรวบรวมปริมาณข้าวเปลือก โดยสหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและศูนย์ข้าวชุมชนที่ประกอบธุรกิจรวบรวมข้าวจากเกษตรกรสมาชิก และเกษตรกรทั่วไป

3)  คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.)  ควรพิจารณาปรับปรุงและทบทวนโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเดิม (ไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่) ซึ่งเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์และตรงตามความต้องการของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว และหากเกษตรกรรายใด ได้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวแล้ว จะต้องหักเงินสนับสนุนค่าพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรในสัดส่วนค่าปุ๋ยออก แต่คงเงินสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรรายการอื่นๆ ไว้ และจ่ายให้แก่เกษตรกรตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ พร้อมจัดทำรายละเอียดและเงื่อนไขโครงการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

 

นายภาคิณ มุสิกสุวรรณ

นายกสมาคมศูนย์ข้าวชุมชน(ประเทศไทย)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *