นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์สงครามในเมียนมา ส่งผลให้การค้าชายแดนไทย-เมียนมาหยุดชะงัก ทำให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ช่องทางการค้าทางเลือกใหม่ในการขนส่งสินค้าชั่วคราว โดยเปลี่ยนจากการขนส่งทางรถบรรทุกทางด่านแม่สอด หันมาใช้การขนส่งเส้นทางท่าเรือระนองโดยเรือบาร์จ (Barge) นั้น ทั้งนี้ จึงได้มอบหมายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ไปดำเนินการจัดเตรียมความพร้อมของท่าเทียบเรือระนอง และสิ่งอำนวยความสะดวกในการให้บริการขนส่งสินค้า ทั้งเครื่องมือทุ่นแรง พื้นที่ลานวางตู้สินค้า แรงงานยกขน เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าจากเมียนมามายังท่าเรือระนอง
สำหรับการขนส่งสินค้าจากเมียนมามายังท่าเรือระนองนั้น ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการเปิดเส้นทางการค้าชายแดนทางทะเลฝั่งใต้อีกครั้ง โดยการขนส่งผ่านท่าเรือระนองนี้ จะเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องและสนันสนุนโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลพยายามที่จะผลักดันเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) อย่างยั่งยืน และเพื่อเชื่อมต่อกับการขนส่งและคมนาคมของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่จะสร้างมูลค่ามหาศาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย และมีประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนทั้งในพื้นที่จังหวัดระนอง และชุมพร รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมด้วย
นางมนพร กล่าวต่อว่า โครงการแลนด์บริดจ์เป็นแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ที่จะเชื่อมกับ EEC เพื่อพัฒนาการขนส่งอย่างไร้รอยต่อทั้งทางถนน ราง และน้ำ ส่วนในภาคประชาชนจะช่วยยกระดับผลผลิตทางการเกษตร การพัฒนาพืชสัตว์เศรษฐกิจ การพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรในชุมชนพื้นที่ภาคใต้ คาดช่วยเพิ่ม GDP ภาคใต้ได้จาก 2% เป็น 10% ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวการดึงเอกชนเข้ามาลงทุน ทั้งการตั้งโรงงานเป็นฐานการผลิตเกิดเป็นนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ จะทำให้เกิดการจ้างงานประชาชนของ 2 จังหวัด คือ ระนอง และชุมพร ซึ่งชุมชนและประชาชนจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ และทำให้เศรษฐกิจของภาคใต้มีศักยภาพและเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมั่นใจว่าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลและศูนย์กลางการกระจายสินค้าแห่งหนึ่งของโลกในอนาคต
ด้านนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า ท่าเรือระนองได้รับเรือตู้สินค้าระลอกแรกจาก เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 และวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 คือ MCL-4 และ BEYPORE SULTAN เส้นทางย่างกุ้ง-เกาะสอง-ระนอง โดยเรือลำแรก MCL – 4 สินค้าขาเข้าจากท่าเรือย่างกุ้ง บรรทุกตู้สินค้าเข้ามาจำนวน 39 ตู้ และเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 มีสินค้าขาออกบรรทุกตู้สินค้าจากไทย 56 ตู้ ส่วนเรือ BEYPORE SULTAN สินค้าขาเข้าจากท่าเรือย่างกุ้งบรรทุกตู้สินค้าเข้ามาจำนวน 56 ตู้ และมีสินค้าขาออก จำนวน35 ตู้ ซึ่งสินค้านำเข้าทั้ง 2 เที่ยวเรือ เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ด้านส่งออกเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้าและวัสดุก่อสร้าง และหลังจากนี้คาดว่า จะมีเรือสินค้าเข้าเทียบท่าอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่จะขนส่งสินค้าประเภทตู้สินค้า ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค เรือสนับสนุนแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ (Offshore Supply) รวมถึฃผลิตภัณฑ์โลหะที่จะนำกลับมารีไซเคิล
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันท่าเรือระนองมีท่าเทียบเรือทั้งหมด 2 ท่า ได้แก่ ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ ซึ่งมีขนาดความกว้าง 26 เมตร ยาว 134 เมตร รองรับเรือสินค้าได้ไม่เกิน 500 ตันกรอส จอดเรือเทียบท่าพร้อมกันได้ 2 ลำ และท่าเทียบเรือตู้สินค้าขนาดกว้าง 30 เมตร ยาว 150 เมตร รองรับเรือสินค้าได้ไม่เกิน 12,000 เดดเวทตัน จอดเรือเทียบท่าได้ครั้งละ 1 ลำ อีกทั้งยังมีพื้นที่ฝากเก็บสินค้า ประกอบด้วย โรงพักสินค้า ขนาดพื้นที่ 1,500 ตารางเมตร ลานวางสินค้าทั่วไปขนาดพื้นที่ 7,200 ตารางเมตร และลานวางตู้สินค้าขนาดพื้นที่ 11,000 ตารางเมตร ทั้งนี้ ท่าเรือระนองพร้อมพัฒนาศักยภาพ เพื่อรองรับตู้สินค้าในอนาคตเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต่อไป