“พิมพ์ภัทรา” หารือ NEDO – IHI เร่งเครื่อง BCG ลุยพัฒนานิคมฯ Circular ดูดลงทุนอุตฯ สีเขียวในไทย

“พิมพ์ภัทรา” ประชุมร่วมกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (New Energy and Industrial Technology Development Organization : NEDO) และ บริษัท ไอเอชไอ คอร์ปอเรชั่น (IHI Corporation)  ณ ประเทศญี่ปุ่น ลุยพัฒนานิคมฯ Circular ดูดลงทุนอุตสาหกรรมสีเขียวในไทย

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับนายไซโต้ ทาโมสึ ประธานองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (New Energy and Industrial Technology Development Organization : NEDO) ณ หอประชุม สถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงโตเกียว ว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม และมีการผลักดันนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การนำวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และมีคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2065

สำหรับความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระหว่าง 2 ประเทศ เน้นการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Circular แห่งแรกของไทยในพื้นที่ EEC ซึ่งการหารือครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากการพบกันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเน้นศึกษาแนวทางการจัดการซากรถยนต์และของเสียอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับนโยบาย BCG ของรัฐบาลไทยที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero

รมว.อุตสาหกรรม ได้แสดงความขอบคุณ นายคาวามูระ ผู้อำนวยการสำนักงาน NEDO กรุงเทพฯ เกี่ยวกับโครงการที่ NEDO กำลังดำเนินการในประเทศไทย 15 โครงการ โดยหลายโครงการดำเนินงานในนิคมอุตสาหกรรม เช่น โครงการศึกษาความเป็นไปได้การจัดการโครงสร้างพื้นฐานของพลังงานสะอาด ประเภทต่างๆ และการคมนาคมที่ไม่มีการปล่อยคาร์บอนในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค ซึ่ง กนอ. ได้ดำเนินการอย่างใกล้ชิดกับ NEDO ตั้งแต่ปี 2566 ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังแสดงความสนใจเป็นพิเศษ ในโครงการสาธิตเทคโนโลยีรถบรรทุกเซลล์เชื้อเพลิง และโครงการรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของกระทรวงในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและการจัดการของเสียอย่างยั่งยืน ที่ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) เพื่อกระชับความร่วมมือในอนาคต โดย

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม จะเป็นผู้ประสานงานหลัก และขอให้ทาง NEDO สนับสนุนและผลักดันความร่วมมือระหว่าง บริษัท IHI และ กนอ. รวมถึงสนับสนุนและผลักดันความร่วมมือ ระหว่าง NEDO กับกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายลดคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์สูงสุดของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกับเศรษฐกิจของไทยและญี่ปุ่น

“การขับเคลื่อน BCG ของกระทรวงฯ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเรา เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะ ยังได้ร่วมประชุมกับนายฮิโรชิ อิเดะ ประธานบริษัท ไอเอชไอ คอร์ปอเรชั่น (IHI Corporation) และคณะ พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับเทคโนโลยีพลังงานสะอาดของ IHI รวมถึงการใช้แอมโมเนียแทนก๊าซธรรมชาติ เทคโนโลยีการดักจับ กักเก็บ และใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจและมีศักยภาพในการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยนางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงฯ โดย กนอ.ได้ลงนามความร่วมมือกับ IHI Corporation ในการศึกษาและพัฒนา Green Air เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Circular ซึ่งความร่วมมือกับ IHI ในด้านพลังงานสะอาด เป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นของ กนอ. และกระทรวงฯ ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสนับสนุนให้นักลงทุนสามารถดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างเต็มที่

สำหรับบริษัท ไอเอชไอ คอร์ปอเรชั่น เป็นบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นที่มีประวัติยาวนานกว่า 160 ปี เริ่มต้นจากธุรกิจต่อเรือ ปัจจุบันได้ขยายธุรกิจครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น เครื่องจักร, ระบบโรงไฟฟ้า, เครื่องยนต์อากาศยาน และอื่นๆ โดยให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยในประเทศไทย บริษัท ไอเอชไอ เอเชีย แปซิฟิค (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทในเครือที่ดำเนินธุรกิจหลากหลายด้าน เช่น ระบบอุตสาหกรรม, เครื่องจักร, การจัดการทรัพยากร, พลังงานและสิ่งแวดล้อม, โครงสร้างพื้นฐาน, เครื่องยนต์อากาศยาน และอื่นๆ

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *