วธ.จับมือภาคี จัดงาน “อาหารไทยถิ่น กินด้วยภูมิปัญญา” – เปิดตัว Logo “ปักธงอาหารถิ่น” – เพลงประจำโครงการ Thailand Best Local Food พร้อมเชิญชวนทุกจังหวัดใช้ขับเคลื่อน Soft Power เชิดชูอาหารถิ่น ยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทย

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับ บริษัท เซเว่น สตาร์ สตูดิโอ จำกัด ผู้ผลิตรายการ “ชุมทางฮอตโชว์” รายการที่นำเสนอเรื่องราวการดูแลสุขภาพร่างกายด้วยอาหารสมุนไพร อาหารเป็นยา จัดงาน “อาหารไทยถิ่น กินด้วยภูมิปัญญา” พร้อมเปิดตัวโลโก้ เพลงเพื่อใช้ขับเคลื่อนโครงการ Thailand Best Local Food “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” เดินหน้าเฟ้นหาเมนูหาทานยากประจำ 77 จังหวัด ยกระดับพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทย อาหารถิ่น กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

พิธีเปิดงานได้รับเกียรติจากนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน ร้อยตำรวจโท ดร. มนัส โนนุช ประธานมูลนิธิ  มิราเคิล ออฟไลฟ์ และประธานสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นางสาวพลอย ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข นายสมพล ตรีภพนารถ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ ศูนย์การค้าบริษัท เอ็มบีเค จำกัด (มหาชน)  นายบริพันธ์ ชัยภูมิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซเว่น สตาร์ สตูดิโอ จำกัด ผู้ผลิตรายการ “ชุมทางฮอตโชว์” พร้อม นายแพทย์ ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข  ร่วมงาน ณ Royal Park Plaza ชั้น 1 ศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค กทม.

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมเดินหน้าขับเคลื่อน Soft Power ด้านอาหารของประเทศ ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ปี พ.ศ. 2567 วธ.จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ร่วมมือกับหน่วยงานภาคีจัดงาน “อาหารไทยถิ่น กินด้วยภูมิปัญญา” พร้อมการเปิดตัวโลโก้และเพลงประจำโครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” เพื่อนำไปใช้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์โครงการฯ ให้ผู้ประกอบการร้านอาหารรวมถึงชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมภายใต้โครงการ นำไปใช้ประกอบการเผยแพร่ข่าวสาร เพื่อสร้างการรับรู้ ให้ประชาชนตระหนักและมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและยกระดับอาหารถิ่น นอกจากนี้ ในแต่ละจังหวัดกำลังเดินหน้าเฟ้นหา
“1 จังหวัด 1 เมนูเชิดชูอาหารถิ่น” ประจำปี 2567 เพื่อให้ได้เมนูอาหารถิ่นของทุกจังหวัด ที่หาทานยากและเสี่ยงต่อการสูญหาย ให้ได้รับการฟื้นฟู เข้าสู่กระบวนการพัฒนายกระดับให้เป็นเมนูยอดนิยม เพื่อนำมาซึ่งรายได้และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ท้องถิ่นและภาพรวมของประเทศ

โดยนางสาวสุดาวรรณ ได้มอบรางวัลให้แก่ผู้ออกแบบโลโก้โครงการ Thailand Best Local Food“รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” อันดับ 1 เงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ให้นางสาวสุชาดา คันธารส ในการออกแบบผลงานชื่อ “ปักธงอาหารถิ่น” จากนั้น ประธานได้มอบเกียรติบัตรให้กับผู้แต่งเพลงประจำโครงการฯ “เพลง…รสชาติที่หายไป” ได้แก่ นายชรัมภ์ ศรหิรัญ และผู้ขับร้องเพลงประจำโครงการประกอบด้วย นางสิริมา หิรัญรุจี น.ส.เบญจมาศ พานทอง นายสัจจพงษ์ เติมสวัสดิ์ น.ส.ถิรษิมา เมืองช้าง และ ว่าที่ ร.ต.วิมุตติ ไอยรากุลวัฒน์ ผู้แทน Influencer รวมถึง อ.สง่า ดามาพงษ์ และนายจรงค์ศักดิ์ รองเดช ผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการโครงการฯ ร่วมแสดงความยินดี

ภายในงานยังได้รับชมการแสดงจาก นักร้องสาวเจ้าของหน้ากากโนราห์ “ปิ่น พรชนก” ขับร้องบทเพลง “ส้มตำ” ร่วมกับน้องๆ เยาวชนตัวแทนมิราเคิลมิวสิค 4 ภาค อาทิ น.ส.ปริฉัตร อุทิศสาร (ฟาง) ตัวแทนภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช , น.ส.ชลธิชา จิตอิ้ง (เค้ก) ตัวแทนภาคกลาง จ.ราชบุรี , นายธนกร จ่าบาล (อาบูม) ตัวแทนภาคอีสาน จ.ขอนแก่น และ นายคฑาวุฒิ เมืองพร้อม (มิวสิค) ตัวแทนมิราเคิลภาคเหนือ จ.แพร่  โดยมีพระเอกหนุ่ม “ภูมิ” เกียรติภูมิ บันลือชัยฤทธิ์  และ “นิวหนวด”ธนิส แก้วนาค พิธีกรชื่อดัง ร่วมงาน

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดบูธร้านอาหารถิ่นไทย ที่ผ่านการคัดเลือกในปีที่แล้ว อาทิ  เมี่ยงโคราช , แกงรัญจวน , เมี่ยงกลีบบัว , ขนมข้าวตอก รวมถึงอาหารพื้นบ้าน เช่น แกงเพชรบุรี แกงกะทิใบชะคราม  ขนมจีนน้ำยาต่างๆ , อโวคาโดปั่น, น้ำถั่วน้อย อีกด้วยซึ่งงาน “อาหารไทยถิ่น กินด้วยภูมิปัญญา” จะเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาในรายการ “ชุมทางฮอตโชว์” ที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับอาหารถิ่นอันเป็นอัตลักษณ์ เปี่ยมคุณประโยชน์ทางโภชนาการ สรรพคุณสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ตอบโจทย์ตามเทรนด์สุขภาพในยุคปัจจุบัน ส่งเสริมการท่องเที่ยว และพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย อีกด้วย

ทั้งนี้ ขอเชิญชวนหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง ศึกษารายละเอียดข้อกำหนด คู่มือการนำโลโก้ประจำโครงการไปใช้งาน ได้ทางเว็บไซต์กรมส่งเสริมวัฒนธรรม www.culture.go.th หรือทาง Facebook อาหารไทยถิ่น Thailand Best Local Food

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *