รัฐบาลจัดให้! รมต.พิมพ์ภัทรา หนุนเอสเอ็มอีเดินหน้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว มอบ SME D Bank ปล่อยสินเชื่อ “SME Green Productivity” 15,000 ลบ. ดีเดย์ ส.ค.นี้

มติ ครม. เห็นชอบตามการขับเคลื่อนของ รมต.อุตสาหกรรม“พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” ไฟเขียวโครงการ “SME Green Productivity” วงเงิน 15,000 ลบ. หนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย เข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ 3% ใน 3 ปีแรก เพื่อยกระดับเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่อุตสาหกรรมสีเขียวอย่างราบรื่น สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน มอบหมาย SME D Bank เป็นเจ้าภาพหลัก ผนึกพันธมิตรภาครัฐ-เอกชน ดำเนินการปล่อยกู้ภายในเดือน ส.ค. นี้

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยกระดับสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 เห็นชอบและอนุมัติโครงการสินเชื่อ “SME Green Productivity” วงเงิน 15,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ นำไปเพิ่มผลิตภาพ ลดต้นทุน พัฒนายกระดับเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่อุตสาหกรรมสีเขียวได้อย่างราบรื่น ที่สำคัญ ช่วยให้การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย สามารถตอบโจทย์กติกาการค้าโลกยุคปัจจุบัน แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรม ลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ขับเคลื่อนกิจการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างอนาคตที่สดใสและยั่งยืน

นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ SME D Bank ในฐานะหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนในโครงการสินเชื่อ “SME Green Productivity” ซึ่งเป็นสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรน เปิดกว้างกู้ได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล วงเงินกู้สูงสุด 10 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแรก 3% ต่อปี ผ่อนชำระนานสูงสุด 10 ปี ปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 12 เดือน และไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำ โดยกำหนดจะเปิดยื่นคำขอกู้ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2567 นี้

ทั้งนี้ กำหนดกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ต้องการติดตั้งระบบหรืออุปกรณ์ต่อเนื่องเพื่อปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตหรือเครื่องจักร รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ หรือลดการใช้พลังงาน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีกระบวนการผลิตหรือเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ผ่านการพัฒนาหรือยกระดับด้านผลิตภาพ (Productivity) จากหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและเอกชนที่ธนาคารกำหนด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call Center 1357

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *