SME D Bank คว้า 96.47 คะแนน ระดับ “ผ่านดี” ผลประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA ปี 2567 จาก ป.ป.ช. เพิ่มขึ้น 4.51 จากปีที่ผ่านมา ผลจากความเป็นเลิศ การปฏิบัติหน้าที่ การใช้งบประมาณ การใช้ทรัพย์สินราชการ และการแก้ไขปัญหาการทุจริต ได้ 100 คะแนนเต็ม พร้อมมุ่งมั่นสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง สมภาคภูมิแห่งการเป็นธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย
นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า SME D Bank ได้รับผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment) หรือ ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ที่ 96.47 คะแนน ซึ่งเป็นเกณฑ์ประเมินระดับ “ผ่านดี” ปรับเพิ่มขึ้น 4.51 จากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 อยู่ที่ 91.96 คะแนน โดยเป็นผลมาจากความเป็นเลิศ ด้านตัวชี้วัด การปฏิบัติหน้าที่ การใช้งบประมาณ การใช้ทรัพย์สินของราชการ และการแก้ไขปัญหาการทุจริต ที่ได้รับ 100 คะแนนเต็ม บ่งบอกถึงการดำเนินงานที่มีคุณธรรม มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มแก่กิจการในระยะยาว รวมถึงสร้างความเชื่อมั่น คุ้มครองผลประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่ธนาคารยึดถือปฏิบัติอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ ผลการประเมินดังกล่าว นับเป็นความภาคภูมิใจของชาว SME D Bank ตั้งแต่คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ที่ร่วมแรงร่วมใจกันประกาศเจตจำนงสุจริต ยึดหลักธรรมาภิบาลให้กับหน่วยงานที่ทำธุรกรรมกับธนาคารได้ทราบ และยึดถือปฏิบัติโดยทั่วกัน และที่สำคัญ มุ่งมั่นบทบาทการเป็น “ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย” ช่วยเหลือ และสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการ “พัฒนา เติมทุน ยั่งยืน” กล่าวคือ
“ด้านการพัฒนา” เชื่อมโยงหน่วยงานผนึกกำลังพันธมิตร ภาครัฐ เอกชน ช่วยยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีครบวงจรให้ปรับตัวก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง รวมถึง มีแพลตฟอร์ม DX by SME D Bank อำนวยความสะดวกครบถ้วนในจุดเดียว นำเทคโนโลยีมาตอบความต้องการผู้ประกอบการไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกที่ ทุกเวลา ตลอด 24 ชม.
“ด้านการเงิน” SME D Bank มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อครอบคลุมทุกกลุ่มเอสเอ็มอี และเปิดกว้างทุกกลุ่มธุรกิจ สร้างโอกาสนำไปใช้ลงทุน ขยาย ปรับปรุง เสริมสภาพคล่อง และหมุนเวียน รวมถึง อัตราดอกเบี้ยเป็นธรรม ช่วยให้ผู้ประกอบการวางแผนบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และ “ด้านความยั่งยืน” นำแนวทางเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) มาส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มศักยภาพธุรกิจ เช่น ช่วยลดต้นทุน สร้างมาตรฐาน เป็นต้น สอดรับแนวทาง ESG (Environment : ดูแลสิ่งแวดล้อม, Social : ความรับผิดชอบต่อสังคม และ Governance : การกำกับดูแลกิจการที่ดี) ช่วยให้ผู้ประกอบการเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน