“พาณิชย์-DITP” ชวน SME สมัครขอรับการสนับสนุน ผ่านโครงการ SMEs Pro-active

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) โชว์กิจกรรมช่วยเสริมแกร่งผู้ประกอบการ SME เพียบ สามารถเข้าร่วมได้ทั้งการพัฒนาศักยภาพ การพัฒนาสินค้าและบริการ การพัฒนาช่องทางการตลาด รวมทั้งมีโครงการ SMEs Pro-active ที่จะช่วยสนับสนุนการออกไปทำตลาดต่างประเทศ เผยเปิดรับสมัครรอบแรกแล้ว วันที่ 20 ส.ค.-20 ก.ย.67 สำหรับกิจกรรมที่จะดำเนินการ 1 พ.ย.67-30 ก.ย.68

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมได้จัดกิจกรรม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SME) ให้มีโอกาสทางการค้าอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ การพัฒนาสินค้าและบริการ การพัฒนาช่องทางตลาด และการให้บริการด้านข้อมูลและคำปรึกษาด้านการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งมีโครงการ SMEs Pro-active ซึ่งเป็นโครงการที่กรมร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรภาคเอกชน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของ SME ไทยในตลาดโลก และขยายช่องทางในตลาดต่างประเทศด้วยตนเองได้มากขึ้น

สำหรับโครงการ SMEs Pro-active ได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556 ปัจจุบันดำเนินโครงการในระยะที่ 3 (ปีงบประมาณ 2562–2567) และกำลังเข้าสู่ระยะที่ 4 (ปีงบประมาณ 2568–2570) โดยจะสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและบริการในต่างประเทศ การเข้าร่วมกิจกรรมสร้างโอกาสทางการค้าและเครือข่ายทางธุรกิจในต่างประเทศ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและบริการเสมือนจริงในต่างประเทศ และการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน โดยจะเริ่มเปิดรับสมัครรอบแรก ระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม–20 กันยายน 2567 สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567–30 กันยายน 2568 และจะประกาศผลเดือนตุลาคม 2567 ซึ่งผู้ประกอบการ SME สามารถติดตามข่าวสารได้ทางเว็บไซต์ smesproactive.ditp.go.th

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน พบว่า SME มีโอกาสในการขยายตลาด ไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักอย่าง สหรัฐฯ ยุโรป จีน และอาเซียน รวมทั้งตลาดรอง เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา ลาตินอเมริกา และเอเชียใต้ ที่ยังคงเติบโต และเป็นโอกาสสำคัญของ SME ไทย รวมทั้งมีสินค้าศักยภาพ ทั้งสินค้าเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่อยู่ในหมวดอาหาร อาทิ เครื่องปรุงอาหาร ผลไม้กระป๋องและแปรรูป นมและผลิตภัณฑ์นม และอาหารสัตว์เลี้ยง รวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ที่ SME ของไทย มีโอกาสในการขยายตลาดส่งออกไปต่างประเทศ

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *