รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมลงพื้นที่ตรวจติดตามการซ่อม สร้างงานศิลปกรรม เครื่องประกอบและประดับตกแต่งอาภรณ์ภัณฑ์เรือพระราชพิธี การจัดสร้างผ้าหลังคาเรือพระราชพิธีและติดตามการดำเนินงานของสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เพื่อตรวจติดตามการซ่อม สร้างงานศิลปกรรม เครื่องประกอบและประดับตกแต่งอาภรณ์ภัณฑ์เรือพระราชพิธี การจัดสร้างผ้าหลังคาเรือพระราชพิธีในการจัดริ้วขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 28  กรกฎาคม 2567 และลงพื้นที่ตรวจติดตามความคืบหน้าการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ขนาด 4 เท่าของพระองค์ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ขอความร่วมมือสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากรในการจัดสร้างเพื่อประดิษฐานบริเวณ ด้านหน้าอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ “สัปปายะสภาสถาน” นอกจากนี้ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชมผลงานศิลปกรรมของสำนักช่างสิบหมู่ ณ อาคารศูนย์ศิลปะการช่างไทย โดยมี นางลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวพลอย ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นายวิเชียร สุขสร้อย เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกรมศิลปากร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักช่างสิบหมู่ เข้าร่วม ณ สำนักช่างสิบหมู่ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

ทั้งนี้ กรมศิลปากร โดยสำนักช่างสิบหมู่ มีภารกิจสำคัญในการอนุรักษ์ สืบสาน สร้างสรรค์ มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยได้รับมอบหมายให้ดำเนินการภารกิจสำคัญคือ การซ่อม สร้างงานศิลปกรรมและประดับตกแต่งอาภรณ์ภัณฑ์เรือพระราชพิธี และการจัดสร้างผ้าหลังคาเรือพระราชพิธีด้วยเทคนิคผ้าลายทองแผ่ลวด และเครื่องประกอบในการจัดริ้วขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งจากการตรวจเยี่ยมการดำเนินงานภาพรวมดำเนินการแล้วเสร็จ 80% แบ่งเป็น การซ่อมศิลปกรรมประกอบลำเรือพระราชพิธี ได้แก่ เรือพระที่นั่ง 4 ลำ 1. เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ 2. เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 3. เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และ 4. เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ 100% และการจัดสร้างงานศิลปกรรมประกอบลำเรือและผ้าอาภรณ์ภัณฑ์ของเรือพระราชพิธี ดำเนินการเขียนลายรดน้ำเรือรูปสัตว์แล้วเสร็จ 100% คงเหลือการจัดสร้างผ้าหลังคากัญญาเรือ เรือดั้งจำนวน 22 ลำ เรือแซงจำนวน 7 ลำ ได้แก่ เรืออีเหลือง เรือแตงโม เรือทองขวานฟ้า เรือทองบ้าบิ่น และเรือตำรวจ 3 ลำ รวม 36 ลำ แล้วเสร็จ 50% ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการปักผ้าลายทองแผ่ลวด คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ราวต้นเดือนตุลาคม นี้

นอกจากนี้ ได้ติดตามการดำเนินงานการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7ขนาด 4 เท่าของพระองค์ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขอความร่วมมือกรมศิลปากร โดยสำนักช่างสิบหมู่รับผิดชอบจัดสร้าง เพื่อประดิษฐานอาคารรัฐสภา ภาพรวมดำเนินการแล้วเสร็จ 40%

สำหรับ “สำนักช่างสิบหมู่” เป็นหน่วยงานที่รวมช่างประณีตศิลป์ เพื่อปฏิบัติงานถวายสถาบันพระมหากษัตริย์และงานราชการ ปัจจุบันเป็นหน่วยงานสังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยหน้าที่หลักของสำนักช่างสิบหมู่ คือการรักษาและสืบทอดศิลปวิทยาการและเป็นศูนย์ข้อมูลด้าน “ศิลปกรรม” ค้นคว้า พัฒนา ดำเนินการบูรณะ ซ่อมแซม เพื่อการอนุรักษ์งานศิลปกรรม แบ่งฝ่ายงานรับผิดชอบเป็นฝ่ายต่าง ๆ อาทิ ฝ่ายบริหารทั่วไป กลุ่มประณีตศิลป์ กลุ่มประติมากรรม กลุ่มจิตรกรรม กลุ่มศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา และศูนย์ศิลปะและการช่างไทย เป็นต้น

สำนักช่างสิบหมู่ ประกอบด้วยหมู่ช่างผู้เชี่ยวชาญงานช่างแขนงต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. ช่างเขียน ทำหน้าที่เขียนลายและภาพ ได้แก่ “กนก นารี กระบี่ และคชะ” และภาพมนุษย์ชาย – หญิง เทวดา – นางฟ้า ภาพวานร อมนุษย์ อสูร และภาพสัตว์ต่าง ๆ ทั้งสัตว์หิมพานต์และสัตว์ตามธรรมชาติ
2. ช่างแกะ งานแกะตรา แกะลายและแกะภาพ หรือเรียกรวมกันว่า “แกะสลัก” และงานแกะวัสดุที่เป็นโลหะ เงิน – ทอง ช่างผู้เชี่ยวชาญงานโลหะแต่ละประเภทจะทำงานร่วมกับช่างแกะด้วย
3. ช่างสลัก มีหน้าที่ประดับสถานที่สลักเสาให้สวยงาม แบ่งเป็น ช่างสลักกระดาษสำหรับใช้ประดับสิ่งก่อสร้างชั่วคราว เช่น พลับเพลา พระเมรุ ฯลฯ และช่างสลักของอ่อนที่เรียกว่า “เครื่องสด” เช่น การสลักเผือก มัน ฟักทอง ฯลฯ
4. ช่างกลึง งานกลึงเป็นงานสลักเสลาเกลาแต่งที่ต้องใช้ความประณีต ส่วนใหญ่ใช้กับงานไม้และงาช้าง
5. ช่างหล่อ เกี่ยวข้องกับการหล่อโลหะ เช่น การหล่อกลองมโหระทึก หล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่และการหล่อพระพุทธรูป
6. ช่างปั้น ทำหน้าที่ปั้นพระพุทธรูป
7. ช่างหุ่น “หุ่น” คือ “ตัว” หรือ “รูปร่าง” การประกอบสร้างรูปของคน สัตว์ หรือสิ่งของที่ต้องทำเป็นรูปร่าง ดังนั้น ช่างหล่อ ช่างปั้น และช่างหุ่น
8. ช่างรัก ประกอบด้วย ช่างผสมรัก ลงรักพื้น ช่างปิดทอง ช่างประดับกระจก และช่างมุก เพื่อการทำลวดลายประดับมุก “รัก” คือยางไม้ที่ได้จากต้นรักสามารถนำมาใช้งานทางศิลปกรรมได้ โดยเฉพาะงานปิดทองในการทำ “ลายรดน้ำ”
9. ช่างบุ “บุ” คือการตีแผ่ให้แบน ทั้งเป็นแผ่นเรียบ ๆ และเป็นรูปร่างต่าง ๆ ช่างบุต้องชำนาญด้านงานโลหะทุกชนิด เช่น ทองแดง เงิน นาก และทองคำ อุปกรณ์คือทั่งและค้นเหล็ก
10. ช่างปูน งานปูนมีทั้งงานซ่อมและสร้าง แบ่งเป็น หมู่ปูนก่อเป็นเพียงการเรียงอิฐ หมู่ปูนฉาบ คือการตกแต่งอิฐที่ก่อให้เรียบงาม และหมู่ปูนปั้นสร้างงานให้มีความงดงามทางศิลปะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *