คต. คว้ารางวัล “สำเภา – นาวาทอง” ประจำปี 2567 ระดับหน่วยงานกระบวนงาน ด้านการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ

กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) ได้รับรางวัล “สำเภา – นาวาทอง” ประจำปี 2567 จากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรางวัลประเภทหน่วยงานระดับกระบวนงาน ในด้านการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ ในการขึ้นทะเบียนฯ และการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรอง การส่งออก – นำเข้าสินค้า ผ่านระบบ DFT SMART – Licensing Systems หรือ DFT SMART – I โดยสำนักบริการการค้าต่างประเทศ


นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567 นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้เข้ารับมอบโล่รางวัล “สำเภา – นาวาทอง” ประจำปี 2567 จากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยโดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลดังกล่าว ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยโดยกรมฯ รู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลในประเภทหน่วยงานระดับกระบวนงาน ด้านการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ จากผลการดำเนินงานทั้งในด้านประสิทธิภาพกระบวนงาน การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัลและการปรับปรุงการให้บริการ ซึ่งถือเป็นรางวัลที่สำคัญที่ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของกรมฯ ในการมุ่งมั่นเพื่อยกระดับและพัฒนากระบวนงานการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการส่งออก – นำเข้าสินค้า และการให้บริการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองการส่งออก – นำเข้าสินค้าที่มีมาตรการกำกับดูแลตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ โดยมีสำนักบริการการค้าต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักที่ให้บริการซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจหลักที่สำคัญของกรมฯ


ในแต่ละปี กรมฯ ออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองการส่งออก – นำเข้าสินค้า ปีละกว่า 1 แสนฉบับ ในปี พ.ศ. 2566 กรมฯ ได้ออกใบอนุญาตฯ และหนังสือรับรองฯ จำนวน 101,089 ฉบับ และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการส่งออก – นำเข้าสินค้า จำนวน 1,543 ราย ผ่านระบบ DFT SMART – Licensing Systems หรือ DFT SMART – I ซึ่งมีจุดเด่น คือ การมุ่งเน้นและยกระดับงานบริการไปสู่การให้บริการแบบไร้เอกสาร (Paperless) โดยผู้พัฒนาระบบฯ ได้พิจารณาทั้งระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ของการส่งออก – นำเข้า และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาปรับใช้ในกระบวนการทั้งหมด รวมทั้งปรับปรุงกระบวนงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก – นำเข้าสินค้า ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อปรับลดขั้นตอน ลดการเรียกเอกสารแนบประกอบการพิจารณา โดยเปลี่ยนเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และข้อมูลบัตรประชาชนกับกรมการปกครอง เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาติดต่อกรมฯ ให้ผู้ประกอบการได้กว่าปีละ 45 ล้านบาท


นอกจากนี้ รางวัลดังกล่าวนี้เป็นผลมาจากการทุ่มเทของบุคลากรของกรมฯ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ที่ร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาศักยภาพงานบริการของกรมฯ โดยมีแนวคิดในการดำเนินงานด้วยการ ยึดหลักความต้องการของผู้รับบริการเป็นสำคัญ (Customer Centric) และมุ่งเน้นการให้บริการที่ง่าย (User Friendly) และสะดวก จนส่งผลให้การยกระดับงานบริการดังกล่าว สามารถสะท้อนผลงานออกมาให้หน่วยงานภายนอกรวมทั้งภาคเอกชนได้เห็นเป็นเชิงประจักษ์และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนได้รับรางวัลอันทรงเกียรติในวันนี้ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจและความสำเร็จของบุคลากรกรมการค้าต่างประเทศทุกคน
สุดท้ายนี้ นายรณรงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯ ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าต่อการยกระดับและพัฒนางานบริการที่สำคัญดังกล่าว

โดยก้าวต่อไปอีกขั้นของกรมฯ คือ การยกระดับงานบริการขึ้นทะเบียนฯ และการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองการส่งออก – นำเข้าสินค้าด้วยนวัตกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดระบบ DFT SMART – I ให้ไปสู่ระบบดิจิทัลอย่างครบวงจร รวมทั้งมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยและเป็นปัจจุบัน เช่น เทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เป็นต้น เข้ามาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มศักยภาพ และเพิ่มผลสัมฤทธิ์ในกระบวนงานดังกล่าว เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับการอำนวยความสะดวกจากการขอรับบริการที่ดีมากขึ้นกว่าเดิม และเอื้อต่อการประกอบธุรกิจส่งออก – นำเข้าสินค้าให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้อย่างง่าย และสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มแต้มต่อทางการค้าและทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเพิ่มสูงขึ้นตามด้วย และคาดว่ากรมฯ จะพร้อมเปิดให้บริการงานบริการที่ยกระดับใหม่นี้ ประมาณปลายปี 2568

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *